มุกดา สุวรรณชาติ : 10 ธ.ค. 2475 ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้ มีอำนาจมหาศาล

มุกดา สุวรรณชาติ

ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นเพื่อหวังจะถ่วงดุลกับการใช้กำลังและอำนาจที่เหนือกว่า

แต่ความยุติธรรมที่คนสร้าง มักไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่มุ่งหวัง

แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ของสังคมในช่วงระยะเวลานั้นๆ

 

ความเป็นของมาศาลรัฐธรรมนูญไทย

10 ธันวาคม 2475 เรามีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ซึ่งตอนนั้นไม่มีบทบัญญัติอย่างชัดเจนว่าในกรณีกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญแล้วจะให้องค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด

เพียงแต่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 ว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ได้มีการตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488 ขึ้น สภากับศาลจึงขัดแย้งกัน และเพื่อยุติข้อขัดแย้งแบบนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 จึงกำหนดให้มีองค์กรพิเศษทำหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

องค์กรพิเศษนี้เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” จากนั้นรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับก็กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 พ.ศ.2492 พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 พ.ศ.2511 พ.ศ.2517 พ.ศ.2521 พ.ศ.2534 และ พ.ศ.2549 (ฉบับชั่วคราว)

แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2540 จัดตั้งองค์กรโดยใช้ชื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นครั้งแรก และยกเลิกเมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และให้มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

 

องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่ง 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5 คน เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 3 คน ซึ่งต้องได้รับเลือกจากวุฒิสภา (ศาล 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ 8)

เดือนสิงหาคม 2549 ก่อนการรัฐประหาร นายธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอเรื่อง ตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป

ปรากฏว่า หลังจากรัฐประหารกันยายน 2549 ข้อเสนอของเขาก็เป็นจริง เพราะพวกตุลาการทั้งหลายได้รับโอกาสให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เต็มที่ ต่อมาธีรยุทธก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการ “เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น”

เมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง คือประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ส่วนตุลาการรัฐธรรมนูญอีก 7 คนเป็นบุคคลที่มาจากองค์กรศาลทั้งหมดเข้าทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลทั้งหมด)

รัฐธรรมนูญแห่งราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คนผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 2 คนผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น 2 คน เลือกโดยวุฒิสภา (ศาล 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ 4)

รัฐธรรมนูญ 2560 ในของส่วนสายศาลเหมือนเดิม เปลี่ยนผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ เหลือสาขาละ 1 คน แต่ไปเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี 2 คน

จะเห็นว่า ทั้ง 9 คนไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

ส่วนคนเสนอชื่อว่าใครควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ “คณะกรรมการสรรหา” ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากศาลและองค์กรอิสระ นั่นคือ 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลปกครองสูงสุด 3.ตัวแทนจาก กกต. 4.ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน 5.ตัวแทน ป.ป.ช. 6.ตัวแทน คตง. 7.ตัวแทน กสม.

ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงแค่ 2 คน คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน

แต่องค์กรอิสระทั้ง 5 ถูกเลือกมาจาก ส.ว.แต่งตั้งโดยนายกฯ

สุดท้าย คนที่จะพิจารณาอนุมัติว่าเอาหรือไม่ คือ วุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งหมด

และถ้าเป็นยุคที่เผด็จการครองอำนาจ ก็แต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจในยุคนั้น จะตั้งใหม่หรือต่ออายุ หรือเซ็ตซีโร่ก็แล้วแต่ท่าน

 

บทบาททางการเมือง
ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

1.ล้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ โดยมีมติ 8 ต่อ 6 และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

2. ยุบพรรคไทยรักไทย 29 พฤษภาคม 2550 ตัดสิทธิทางการเมือง กก.บริหาร 111 คน 5 ปี

3. วินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 9 กันยายน 2551 กรณีรับค่าตอบแทนจากการจัดรายการชิมไปบ่นไป

4. วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย ที่ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล 2 ธันวาคม 2551 ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

5. ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ 29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์

6. ยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา

13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ

20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ไม่ชอบ (จะแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง)

8 มกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 ไม่ชอบด้วยกระบวนการ

ในช่วงเวลานั้นนายจาตุรนต์ได้โต้แย้งว่า…ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจแต่อย่างใดเลย บอกว่าการแก้มาตรา 291 ขัดเจตนาของมาตรา 291 ซึ่งเป็นการใช้ตรรกะที่พิสดารที่สุด แนะนำว่าสมควรลงประชามติเสียก่อนทั้งๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ พร้อมทั้งบอกให้ไปแก้เป็นรายมาตรา

พอเขาจะแก้รายมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็รับคำร้องคัดค้านอีกทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ เพราะการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจ หน้าที่ของรัฐสภา และไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บอกว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่นี่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังใช้อำนาจที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกขั้นตอนตามอำเภอใจ

 

7.ยับยั้งนโยบายฝ่ายบริหาร

12 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นนโยบายที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงต่อรัฐสภามีการตรวจสอบแล้วขั้นหนึ่งในสภา เพื่อการปฏิรูปแบบก้าวกระโดด หลังจากที่แถลงนโยบายมีแผนการเดินทางศึกษาวิจัยทำโครงการ การลงทุนขนาดนี้ คงจะต้องอาศัยเงินกู้เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวและได้นำเสนอแล้วในสภาทั้งสองสภา อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ตั้งคณะกรรมการทุกฝ่ายมาร่วมกัน ในเรื่องการตรวจสอบร่าง กม. ทำกันอย่างสมบูรณ์แบบ และใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน ก็ควรจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เลยว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

แต่ต้องมาหยุดชะงักลง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อที่น่าสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรจะดูที่ข้อความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปตัดสินตามความรู้สึก ทำไปแล้วเป็นหนี้เป็นสิน และเสียวินัยทางการเงินการคลัง

“การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยควํ่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เท่ากับตกไปเลย และสร้างความเสียหายทางด้านระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คือ 1.เป็นการล้มอำนาจของฝ่ายบริหารที่แถลงต่อรัฐสภา 2.ล้มอำนาจนิติบัญญัติ 3.เป็นการสกัดกั้นสถาบันในการพิจารณาร่างดังกล่าว ทำให้เกิดผลเสียหายที่สำคัญชาติต้องหยุดชะงัก ต่อจากนี้ไป จะเป็นบรรทัดฐานหากรัฐบาลจะดำเนินโครงการอะไรก็แล้วแต่ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้เลย หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยินยอม”

8. วินิจฉัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 เป็นโมฆะเมื่อ 21 มีนาคม 2557 เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในวันเดียว

9. วินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี 7 พฤษภาคม 2557 ตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ ผู้ร้องคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิก

10. ยุบพรรคไทยรักษาชาติ วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

โดยศาลวินิจฉัยในประเด็นแรกมีมติเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามฐานความผิดตามมาตรา 92 (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สั่งตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

การยุบพรรค ส่งผลผู้สมัครสังกัดพรรคไทยรักษาชาติทั้งหมด 270 คน ไม่ได้เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

 

ผ่านไป 75 ปี
จากวันที่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

ปราโมทย์ นาครทรรพ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาโพสต์ข้อความหลังมีการอ่านคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากคดีพักบ้านหลวง ว่า…

“ในฐานะอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ ผมขอยืนยันความเห็นด้วยหลักวิชาและหลักรัฐธรรมนูญว่า ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่เราจะมีศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการศาลไม่มีหลักประกันว่าจะได้บุคคลที่รอบรู้และเข้าใจหลักรัฐธรรมนูญ แต่เป็นคนของผู้แต่งตั้งมากกว่า โปรดอ่านคำยืนยันจากปากนายกฯ ประยุทธ์บอกว่าตั้งตุลาการมากับมือทุกคน “จะทรยศ” ผมได้อย่างไร ยุบศาลรัฐธรรมนูญเถิดครับ เปลืองงบประมาณเปล่าๆ ยังไม่พอ ยังทำลายหลักรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของชาติอีกด้วย”

แต่ทีมวิเคราะห์มองว่าต้องมีคนตัดสินความขัดแย้งอย่างยุติธรรม ปัจจุบันทุกองค์กรถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ต้องการสืบทอดอำนาจ เป็นหมากบนกระดานที่ถูกใช้งานจนสึกหรอ จะมีเหตุผลตามกฎหมายหรือไม่ ก็พยายามถูไถไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนขอเปลี่ยนกฎและตัวกรรมการ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ จะแก้เรื่องนี้อย่างไร ทำอย่างไรประชาชนจะได้เลือกผู้ใช้อำนาจอธิปไตยไปเป็นตัวแทนฝ่ายอำนาจตุลาการชี้ถูกชี้ผิด หรือว่าควรมีสภายุติธรรม เพื่อใช้ยุติความขัดแย้ง