คำ ผกา | หลังเผด็จการล่ม เราจะอยู่กันอย่างไร

คำ ผกา

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานร่วมเสวนากับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนสำคัญของโลกคือ ฟรานซิส ฟุกุยาม่า

กลุ่มนิสิตได้ขอความเห็นจากเขาต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และ “เพดาน” ข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่ไปไกลกว่าที่เคยขึ้นมาก่อนหน้านี้ ไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

ในเพจสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สรุปเนื้อหาจากการเสวนากับฟรานซิส ฟุกุยาม่า ไว้อย่างละเอียด สามารถไปติดตามอ่านกันได้

ซึ่งฉันจะสรุปบางประเด็นมาสั้นๆ เพื่อชวนถกเถียงต่อ

เพราะคำถามที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องว่าเราจะเอาชนะเผด็จการได้อย่างไร

แต่คือประเด็นที่ว่า หลังจากชนะ โค่นล้มเผด็จการลงได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคืออะไรก็สำคัญด้วยเช่นกัน

ประการแรก ฟุกุยาม่าเห็นว่า การจะเอาชนะเผด็จการได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันจากกลุ่มคนที่ค่อนข้างหลากหลายในสังคม

แม้จะไม่มีความเห็นด้วยในทุกข้อของข้อเรียกร้อง แต่ขอให้เต็มใจมาต่อสู้ร่วมกันในบางจุด เช่น ประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

เอาแค่นี้ก่อน

ใครเห็นด้วยกับเรื่องนี้ มารวมกัน มาร่วมมือกัน ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เห็นไม่ตรงกัน เช่น อาจเป็นเรื่องศาสนา เรื่องอุดมการณ์เชิงวัฒนธรรม เรื่องจะเป็นประชาธิปไตยเอียงซ้าย ประชาธิปไตยเอียงขวา อันนั้นค่อยว่ากันไปทีละเรื่อง

จุดที่ฟุกุยาม่ากังวลคือ ข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษา ชนชั้นกลางในเมือง จะเชื่อมกับผู้คนจำนวนมากที่อยู่ในชนบทได้อย่างไร

ประการที่สอง เมื่อเอาชนะเผด็จการได้แล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยกลับล้มเหลวในการบริหารจัดการประเทศ

อันนี้ต้องร้อง เฮ้ย ออกมาดังๆ เพราะมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก

ตัวอย่างที่มีให้เห็นคือ อียิปต์ และรัสเซีย

กรณีของอาหรับสปริง ประเทศที่เปลี่ยนผ่านได้ค่อนข้างดี หลังจากโค่นล้มเผด็จการไปได้แล้ว มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นคือ ตูนิเซีย

เพราะเมื่อโค่นเผด็จการได้ก็มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011

สำหรับประเทศไทยอีกเรื่องที่ฟุกุยาม่าเสนอ – แต่ฉันไม่ค่อยเห็นด้วย – คือ เขาเสนอว่า ให้ฝ่ายประชาธิปไตยดูว่า กลุ่มไหนในหมู่สนับสนุนเผด็จการที่เราพอจะดึงมาเป็นพวกและสร้างความเห็นพ้องในบางประเด็นได้ ก็ให้เราดึงคนเหล่านั้นมาเป็นพวก เป็นแนวร่วม เพื่อชนะในยกแรกให้ได้ก่อน นั่นคือ เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยก่อน

(ยุทธศาสตร์นี้ ฝ่ายล้มประชาธิปไตยเคยใช้มาแล้ว ผ่านวิธีคิดที่ว่า ยังไงก็ได้ ขอให้เอาทักษิณออกไปจากการเมืองให้ได้ก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากัน – นาทีนั้น อาจต้องบอกว่า ยังไงก็ได้ ทะเลาะกันเรื่องอะไรๆ ก็เอาไว้ก่อน นาทีนี้ ล้มเผด็จการให้ได้ก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาทะเลาะกันใหม่)

ประเด็นเอาพวกสนับสนุนเผด็จการมาเป็นแนวร่วมนี่ค่อนข้างซับซ้อนทีเดียว เพราะมันจะหมายถึงการแตกแยกกันเองระหว่างชนชั้นนำไทย ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีทางเกิดขึ้น จะให้เกิดความแตกแยกระหว่างกองทัพกับเสาหลักอื่นๆ ของประเทศที่ค้ำจุนกันไปมาก็ยิ่งเป็นไปไมได้

จะคาดหวังว่า มีกลุ่มชนชั้นสายปฏิรูปที่ต้องการให้เกิดการปรับตัว ณ ขณะนี้ เพื่อหวังผลชัยชนะระยะยาว เพื่อจะได้อยู่ต่อไปอีกนานๆ ก็ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่

กลุ่มที่ดูมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ กลุ่ม “ปัญญาชน” สลิ่มที่เคยร่วมสนธิ ลิ้มทองกุล ไล่ทักษิณ ชินวัตร และชัดเจนว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มนี้ไม่เคยนิยม “ขวา” มาก่อน และออกจะเป็นกลุ่มที่วิพากษ์ฝ่ายขวาอย่างเผ็ดร้อนมาก่อนใครทั้งนั้น แต่ต้องมาโหนอุดมการณ์ “ขวาๆ” เพื่อไล่ทักษิณเท่านั้น

และเมื่อการเมืองคลี่คลายมาจนถึงจุดเผด็จการครองเมืองเบ็ดเสร็จขนาดนี้ คนกลุ่มนี้จะหันมาร่วมไล่เผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยกับม็อบตอนนี้หรือไม่?

และเท่าที่คนที่ออกมาแล้ว ก็น่าจะมี ส.ศิวรักษ์ โคทม อารียา ฯลฯ

(และหากฉันเข้าใจไม่ผิด คนที่เสนอแนวทางนี้มาเรื่อยๆ คือ ยิ่งชีพ หรือเป๋า ไอลอว์ – อย่างกรณีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ สวนกับทุกเสียงของ ส.ว. ก็อาจนับเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของสิ่งที่ฟุกุยาม่าบอกว่า หัวใจแห่งชัยชนะของขบวนการของมวลชนคือ ทำยังไงก็ได้ ให้คนมาร่วมกับเราให้ได้มากที่สุด แม้เรากับเขาจะไม่ใช่พวกเดียวกัน)

ควายแดงอย่างฉันก็ทำใจลำบากมากกับข้อดี แต่ก็บันทึกเอาไว้ในฐานะมันเป็นยุทธศาสตร์

ประเด็นที่ฉันคิดว่าน่าคุยต่อมากกว่าเรื่องเอาสลิ่มมาเป็นพวกก็คือ “ถ้าชนะแล้วเราจะไปยังไงต่อ”

โห แล้วเราจะชนะเหรอ?

อันนั้นก็ไม่รู้จริงๆ แต่คิดไว้ก็ไม่เสียหลาย ดีกว่าชนะขึ้นมาแล้วยืนงงๆ ไปต่อไม่ถูก เพราะใช้เวลา ความสามารถ ความชำนาญ ไปกับการคิดแท็กติกในการต่อสู้จนลืมทักษะการฟื้นฟูประเทศ

ทีนี้ถ้ามันลงเอยแบบอาหรับสปริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก

นั่นก็คือ หลังจากชนะเผด็จการได้ ฝ่ายประชาธิปไตยยังบ้งๆ อยู่ ขึ้นเป็นรัฐบาลก็บริหารประเทศแบบห่วยๆ หรือมีแนวคิดอุดมการณ์ขวาจัดแบบแปลกๆ เอาหลังพิงกับศาสนาบ้างอะไรบ้าง ได้ฝ่ายประชาธิปไตยหัวอนุรักษนิยม ไม่เอาเกย์ ไม่เอาการทำแท้งมาเป็นผู้นำบ้าง ไม่มีความรู้ความสามารถในการทำงานบ้าง (แต่ตอนเป็นม็อบ พูดเก่ง ปลุกเร้าเก่งไง)

ถึงตอนนั้น โมเมนตัมจะทำให้คนกลับไปโหยหาผู้นำเผด็จการอีกรอบ

หรือประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่

สิ่งที่ฉันเห็นตอนนี้คือ ชัยชนะระยะสั้นจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่การต่อสู้ในระยะยาว สถาบันที่สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือสถาบันพรรคการเมือง

บอกเลยว่า ในวันนี้ พรรคการเมืองไหนตั้งหลักได้ก่อน พรรคการเมืองนั้นจะชนะในสนามการเมืองไทยระยะยาว

วันนี้เราอาจจะมองว่าพรรคการเมืองไม่มีบทบาทอะไร สภาก็ถูกยึดไปแล้วโดยสารพัดคณะทำงานพิเศษภายใต้ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น ศบค. ศบศ. ครม. แทบจะไม่มีบทบาทน้ำยาอะไรและและรัฐมนตรีทุกคนกลายเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม

คิดดูว่า ขนาดเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขนาดได้เป็นรัฐมนตรี ยังไม่มีโอกาสแสดงฝีมือ แสดงวิสัยทัศน์ ไม่มีโอกาสจะได้ทำงาน ไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้ออกสื่อ

เพราะสื่อทุกๆ สื่อ มีแต่ประยุทธ์ ประวิตร ประยุทธ์ ประวิตร วนๆ ไป หน้าอนุทินที่ควรจะมีบทบาทเพราะมีโควิดก็ได้ออกสื่อในฐานะเด็กถือกระโถนให้ประยุทธ์ มากกว่าเป็นบทบาทรัฐมนตรี

เป็นพรรคร่วมรัฐบาลยังง่อยขนาดนี้ เป็นพรรคฝ่ายค้านจะขนาดไหนในแง่ของการสร้างผลงาน

เราจึงได้ยินเสียงบ่นจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้านโครงสร้างกติกาการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันบั่นทอนความเข้มแข็งของพรรค

และเหมือนถูกบังคับให้ค่อยๆ เฉาตายไปเองจากภาวะที่ “ทำงานไม่ได้”

แต่ฉันกลับเห็นในทางตรงกันข้าม ภูมิทัศน์ทางการเมืทองตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในการเมืองระบบรัฐสภาอย่างที่เขาหลอกลวงกัน

การเมืองไทยตอนนี้ปกครองด้วยระบอบประยุทธ์ สภาเป็นปาหี่

และระบอบประยุทธ์กับประชาชนกำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนัก

พูดให้ชัด ในสายตาของระบอบประยุทธ์ ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยคือศัตรูและภัยความมั่นคง

ในสมรภูมิแบบนี้พรรคการเมืองควรทำอะไร?

ฉันคิดว่าพรรคการเมืองควรใช้สภาเป็นเพียงสถานที่แก้ผ้าเผด็จการให้ชาวโลกดู

นั่นคือใช้เวทีสภาเป็นเครื่องประจานระบอบประยุทธ์เท่านั้น ด่าสาดเสียเทเสีย เปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบนี้ไปเรื่อยๆ เท่าที่กติกาของการประชุมสภาจะอำนวย

จากนั้นงานระยะยาวที่พรรคการเมืองต้องทำคือ ทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี – อันนี้พูดจริง ไม่ได้พูดเล่น

ถ้าระบอบประยุทธ์ยังอยู่ เลือกตั้งอีกกี่ครั้งพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ยากจะชนะ (จากกติกา และองค์กรอิสระที่อยู่ฝ่ายเขา) หรือชนะก็ยากจะได้เป็นรัฐบาล

แต่สิ่งหนึ่งที่พรรคการเมืองที่ทรัพยากรและทุนทรัพย์มากพอพึงทำ คือ เปลี่ยนสัดส่วนการทำงานและการลงทุนในพรรค จากการทำแคมเปญหาเสียงอย่างเดียวมาเป็นหาเสียงด้วยข้อมูลและองค์ความรู้

พรรคการเมืองใดก็ตามที่มีเงินมากพอ น่าจะต้องเริ่มต้นมีแผนก “วิจัยและสร้างนโยบายสาธารณะ” เป็นของตนเอง

และในระหว่างที่สมรภูมิรบระหว่างม็อบและเผด็จการดำเนินไป หน่วยวิจัย วิเคราะห์ และพัฒนา ออกแบบนโยบายสาธารณะ ควรทำงานของตนเองต่อเนื่อไปเรื่อยๆ

เพราะสังคมของมนุษยชาติตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว หากหน่วยความรู้ของพรรคการเมืองก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก – ปึ้ง – วันหนึ่งที่มีประชาธิปไตย วันนั้นพรรคการเมืองที่ไม่ได้เตรียมทำแผนเกี่ยวกับความรู้ ภูมิปัญญา ก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ตัวใหม่ทันที

เรื่องใหญ่อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ระบบขนส่งสาธารณะ การศึกษา รัฐสวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐาน ผังเมือง สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ฯลฯ เหล่านี้ต้องมีภาพของโลกใน 20 ปีข้างหน้ารออยู่

แล้วเริ่มลงมือสะสมองค์ความรู้ เตรียมทำแผน เตรียมทำนโยบาย เตรียมขั้นตอนการทำงาน ทำพิมพ์เขียวไว้ล่วงหน้า

คิดไว้เลยว่า ใน 10 ปีข้างหน้า จะเอาอะไรไปพูดกับคนที่รอคุณอยู่ตรงนั้น คนที่อาจจะยังไม่ลืมตาดูโลกในปีนี้ด้วยซ้ำ!

งานไล่เผด็จการเป็นพันธกิจของประชาชนและคนรุ่นใหม่ในวันนี้

แต่งานของพรรคการเมืองในประเทศไทยวันนี้คือ งานที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่รอเราอยู่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ลงทุนเถอะ ลงทุนกับการคิด ใคร่ครวญถึงการสร้างชาติ สร้างบ้าน สร้างเมือง หลังจากที่เผด็จการตายห่าไปแล้ว

คิดไว้ว่า ถึงวันนั้นเราจะเสนอแผนการสร้างชาติแก่ voters ของเราอย่างไร

20 ปีมันเร็วมากเลยนะ พรรคการเมืองพรรคไหนคิดได้ มีเงินพอ ฉันบอกเลยว่าให้รีบลงมือทำ!