ศุภชัย เจียรวนนท์ : โควิด-19 กับเศรษฐกิจไทย และเดิมพันสำคัญของซีพี

“โควิดเป็นปัจจัยที่ทำให้ทุกอย่างในโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งสังคม แน่นอนว่าเป็นดิสรัปต์ที่ใหญ่มาก ไม่ได้สะเทือนเฉพาะการทำงานหรือการเรียน แต่สะเทือนทุกอุตสาหกรรม” คือคำให้สัมภาษณ์ของศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี

วันนี้ซีพีคือกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยที่สยายปีกการลงทุนไปทั่วโลก ไม่ได้จำกัดตัวเองเพียงเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรอีกต่อไป

แม้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จีดีพีจะติดลบ 6% ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 ที่ติดลบถึง 12% แต่การรีบาวด์ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไตรมาส 4 จะดีตามไปด้วย นั่นเพราะไตรมาส 4 เมื่อปีที่แล้วเป็นช่วงไฮซีซั่น เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก ทำให้ฐานปีที่แล้วสูงตาม

 

ศุภชัยซึ่งถูกมอบหมายจากเจ้าสัว “ธนินท์” ให้กุมบังเหียนธุรกิจต่างๆ ร่วมกับพี่น้องคนอื่นๆ มองเศรษฐกิจไทยว่า…แนวโน้มความรุนแรงของโควิดต่อเนื่องไปถึงปี 2564 แน่นอน และต้องรอถึงปี 2565 จึงจะกลับมาเท่า หรือสูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด

จากนี้ไทยต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้กลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น หัวใจสำคัญคือ การสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่แทนรายได้การท่องเที่ยวที่มีโอกาสติดลบยาว 2 ปี และส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย

ศุภชัยยกตัวอย่างรัฐควรสนับสนุนให้วีซ่าผู้อยู่อาศัยระยะยาว ซึ่งต้องวางเงื่อนไขที่รัดกุม เช่น ต้องเข้ามาลงทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ คล้ายๆ กับออกกรีนการ์ดของอเมริกาให้ต่างชาติ

ผลดีของเครื่องจักรตัวนี้ไม่เพียงขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

 

ทายาทซีพีชี้ว่า วิกฤตเนื่องจากโควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการ “ปฏิรูป” หรือรีฟอร์มตัวเองครั้งใหญ่ในทุกระดับ ตั้งแต่ภายในบริษัท ระบบเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม 4.0 และการลงทุน

หากไทยไม่ “รีฟอร์ม” จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งไม่ได้

“ที่ต้องปฏิรูปเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นตัวดึงช่องว่างอื่นๆ ลดลง เช่นเดียวกับปฏิรูปการศึกษา ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.0 เท่านั้น เพราะข้อจำกัดการเข้าถึงทั้งคอมพิวเตอร์ และด้วยตัวระบบการศึกษาเอง”

วันนี้คนไทยจำนวนมากมีโทรศัพท์มือถือ แต่ใช้เพื่อความบันเทิงและโซเชียลมีเดีย ต้องทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักการคิดวิเคราะห์ ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

มุมมองของ “ศุภชัย” พุ่งเป้าไปที่ “การบริหารจัดการน้ำ” โดยวางมาสเตอร์แพลนลงทุน วางระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ 6% ของพื้นที่ทางการเกษตรที่มี 120 ล้านไร่ ซึ่งรัฐต้องปรับแนวคิดว่าถ้าลงทุนชลประทานแล้วต้องคืนทุน เพราะชลประทานไม่ต่างอะไรจากการสร้างถนน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน จากที่ผ่านมาเราต้องแก้ปัญหาซ้ำซาก ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมมาทุกปี

ข้อเสนอรวมถึงการพัฒนาระบบสหกรณ์ 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยดึงโมเดลจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ ทั้งอียู ญี่ปุ่น เกาหลี มาประยุกต์ใช้ ดึงเอกชนใหญ่ๆ มาเป็นพี่เลี้ยง ออกแบบแลนด์สเคปเพื่อพัฒนาสินค้า และให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรในแบบ Sevice Farming คล้ายกับการประกันรายได้ แต่มีความ “ยั่งยืน” กว่า

 

ในมุมซีพีได้ปรับตัวสู่ “ออนไลน์” ทั้งหมด ทั้งการตลาด การขาย ให้บริการเดลิเวอรี่ รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่ “ทำงานที่บ้าน” ทำให้ต่อไป “ออฟฟิศ” อาจกลายสภาพเป็นเพียงสถานที่อบรม หรือเป็นส่วนสนับสนุนการทำงาน

“กลุ่มอาหารและเกษตรไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนกลุ่มค้าปลีกกระทบบ้างในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนโทรคมนาคมถือว่าเสมอตัว เพราะถึงแม้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น บริการโรมมิ่ง ซิมต่างประเทศลดลง แต่บริการสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น”

“วิกฤตนี้เอกชนกังวล แต่ก็มีทางออก เพราะเอกชนมีความคล่องตัวในการปรับตัว เรื่องนี้อาจเป็นโอกาส สำหรับคนที่ไม่ปรับตัวหรือปรับไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเหนื่อย”

โควิดไม่เพียงดิสรัปต์ แต่ช่วยให้ทั่วโลก “กล้า” ตัดสินใจอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมหาศาล

แต่ความสำเร็จของการอัดฉีดเม็ดเงินขึ้นอยู่กับ “การใช้เงิน” ให้ถูกทาง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาแข็งแกร่ง

รวมถึงการประคับประคองเอสเอ็มอี ต้องไม่ล้มหายตายจากไปเพราะวิกฤตนี้ ซึ่งอาจส่งผลถึงฐานรากของพีระมิดระบบเศรษฐกิจจะมีปัญหาตามมา

 

ศุภชัยยืนยันว่า ถึงแม้โควิด-19 จะส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก แต่ซีพียังเดินหน้าโครงสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งตามกรอบระยะเวลา รัฐต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 ปี

การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบรถไฟฟ้า (TOD) จะก่อให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐควรต้องขยายต่อไปสู่อู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด เชื่อมต่อกัมพูชา

“จะบอกว่าเป็นเมืองใหม่คงไม่ได้ ที่เราทำเป็นการสร้างสถานี ซึ่งอาจช่วยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจรอบๆ ทำให้เมืองเกิดการขยายตัวในอนาคต ต่างจากการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาต้องใช้พื้นที่เป็นหมื่นไร่ มีปัจจัยเยอะ ซึ่งไม่ง่าย”

แน่นอนว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีส่วนสำคัญให้ “อีอีซี” ได้รับความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง

รวมทั้งเป็นเดิมพันลงทุนครั้งสำคัญของซีพีอย่างปฏิเสธไม่ได้