10 ปี “อาหรับสปริง” การลุกฮือใหญ่เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ อันอีกห่างไกล

เมื่อเดือนธันวาคม 2010 โมฮัมเหม็ด โบอูอาซิซี พ่อค้าขายของริมถนนในประเทศตูนิเซีย จุดไฟเผาตัวเองที่หน้าสำนักงานหน่วยงานปกครองของรัฐในเมือง “ซิดิบูซาอิด” กลายเป็นชนวนในการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในภูมิภาคที่ถูกเรียกว่า “อาหรับสปริง”

ปรากฏการณ์ลุกฮือในตูนิเซียลุกลามไปเหมือนไฟป่าในมากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประชาชนในบาห์เรน จอร์แดน คูเวต ลิเบีย เยเมน อียิปต์ และซีเรีย ลุกฮือขึ้นต่อต้านเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศ

ทว่าความฝันและความหวังที่จะก่อให้เกิดประชาธิปไตย เสรีภาพ และมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง

รวมไปถึงเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยในบางประเทศนับตั้งแต่นั้นมา

 

การชุมนุมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับรัฐบาลที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานถูกตอบโต้ด้วยการใช้กำลังกวาดล้างสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ผู้ชุมนุมเสียชีวิตด้วยน้ำมือของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

ผู้ประท้วงในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน สามารถโค่นล้มผู้นำเผด็จการลงได้ อียิปต์แม้ได้รัฐบาลใหม่แต่ก็กลับเป็นรัฐบาลทหารที่กดขี่มากกว่าเดิม ลิเบีย เยเมน ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามแก่งแย่งอำนาจ ขณะที่ซีเรียก็ตกอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ผู้คนล้มตายนับแสนคนนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา

ในคูเวต รวมถึงจอร์แดน แม้มีการประท้วงเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากนัก มีเพียงตูนิเซียจุดเริ่มต้นของ “อาหรับสปริง” เพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีความก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยได้มากกว่าประเทศอื่นๆ

ประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองของตูนิเซียทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ค่อนข้างโปร่งใสนับตั้งแต่ปี 2011 อย่างไรก็ตาม ตูนิเซียยังคงไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงอ่อนแอให้ดีขึ้นได้

 

มรดกตกทอดของอาหรับสปริงถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเป็นตัวเลข โดยสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) องค์กรอิสระในสหรัฐอเมริกาโดยเน้นไปที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ 6 ประเทศศูนย์กลางของ “อาหรับสปริง” อย่างบาห์เรน อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย ตูนิเซีย และเยเมน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังผ่านไปแล้ว 10 ปี

ในแง่ของ “ประชาธิปไตย” ซีเอฟอาร์ระบุว่า ใน 6 ประเทศเหล่านี้ไม่มีกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเลย ยกเว้นในประเทศตูนิเซีย โดยยกเอาดัชนีคะแนนจากฟรีดอมเฮาส์ ชี้วัดกระบวนการประชาธิปไตย พหุนิยมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเชื่อ พบว่าตูนิเซียมีระดับคะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ห่างจากอีก 5 ประเทศที่เหลือ โดยมีเยเมน ลิเบีย และซีเรียอยู่ใน 3 อันดับสุดท้าย

ในแง่ของ “มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่” ซีเอฟอาร์อ้างอิงกับดัชนีรายได้ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นพีดี) พบว่ามาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย และในประเทศอย่างลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ที่ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองยาวนานก็ทำให้มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ลงอีก

ด้านเสรีภาพสื่อ ซีเอฟอาร์อ้างข้อมูลจากคณะกรรมาธิการพิทักษ์สื่อสารมวลชน ที่เปิดเผยจำนวนนักข่าวที่ถูกจับกุม พบว่าหลัง 2010 เป็นต้นมาเสรีภาพสื่อในทุกประเทศย่ำแย่ลงอย่างหนัก รัฐบาลในหลายประเทศใช้วิธีการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อ นักข่าวทั้งในและต่างประเทศถูกจับกุมคุมขัง บ้างก็ถูกฆ่า โดยอียิปต์เป็นประเทศที่นำมาเป็นอันดับ 1 มีการคุมขังนักข่าวจำนวนมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี เข้าสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

ซีเอฟอาร์ยังชี้ให้เห็นผลพวงของอาหรับสปริง โดยเฉพาะในประเทศลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ที่เกิดสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะในซีเรียประเทศเดียวส่งผลให้ต้องมีผู้อพยพลี้ภัยไปต่างประเทศแล้วมากกว่า 5 ล้านคน ขณะที่มีผู้ที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยในประเทศจำนวนมากถึง 6 ล้านคน

 

ด้านเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ต เป็นข้อมูลจากฟรีดอมเฮาส์ พบว่าอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่มีเสรีภาพที่ตกต่ำลง โดยเฉพาะในอียิปต์ที่ออกกฎหมายให้รัฐบาลสามารถปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ และสามารถจับกุมคุมขังประชาชนที่โพสต์ข้อความต่อต้านรัฐบาลได้

มีเพียงตูนิเซียเท่านั้นที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2014

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงหลังอาหรับสปริงเลยก็คือการทุจริตของรัฐบาล โดยเฉพาะในบางประเทศที่ย่ำแย่ลง ในตูนิเซียเองแม้จะมีการตอบสนองข้อเรียกร้องด้วยการตั้งองค์กรต่อต้านการทุจริต ออกกฎหมายใหม่เพื่อปกป้องผู้เปิดโปงการทุจริตด้วยแล้วก็ตาม แต่ดัชนีการทุจริตที่เปิดเผยโดย “ธนาคารโลก” ยังคงพบว่าการทุจริตยังคงมีอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างลิเบีย เยเมน และซีเรีย ที่คะแนนตกต่ำลงอย่างหนัก

 

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะดีขึ้นก็คือจำนวนผู้หญิงที่ได้ครองเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เพิ่มจำนวนขึ้น

แต่โดยรวมแล้วประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อยกระดับสถานะของผู้หญิงในสังคม

เห็นได้ชัดจากประเทศอย่างอียิปต์ รวมไปถึงตูนิเซียเอง ผู้หญิงต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรมมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ก็คือมรดกตกทอดโดยสังเขปจากปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ส่วนใหญ่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สภาพสังคมและการเมืองที่ห่างไกลจากเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เคยมีเป้าหมายเข้าไปทุกที