สุทธิชัย หยุ่น | เมื่อคิสซิงเจอร์เตือนสหรัฐ-จีน : สงครามใหม่จะหนักกว่าสงครามโลก

สุทธิชัย หยุ่น

เฮนรี่ คิสซิงเจอร์เป็นผู้อาวุโสทางการเมืองของสหรัฐ

ไม่ว่าแกจะออกมาพูดอะไรก็จะกลายเป็นข่าวได้เสมอ

ล่าสุดแกออกมาเตือนว่า หากสหรัฐกับจีนไม่พยายามจะหาทางออกจากความขัดแย้ง สิ่งที่จะตามมาคือสงคราม

และหากเกิดสงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่ใน พ.ศ.นี้ “ผลที่ตามมาจะหนักหนาสาหัส…ที่ร้ายแรงกว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง”

อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวหลายรัฐบาลคนนี้มีความคุ้นชินกับผู้นำจีนเพราะมีความสัมพันธ์กับปักกิ่งในหลายระดับมากว่า 40 ปี

คิสซิงเจอร์เป็นคนแอบติดต่อกับนายกฯ โจวเอินไหลของจีนขณะที่ทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะเผชิญหน้า

แต่เมื่อประธานเหมาเจ๋อตุงของจีนเห็นว่าสหภาพโซเวียตเริ่มจะตั้งตนเป็นศัตรูกับจีน จึงเปิดประตูคุยกับสหรัฐโดยมีคิสซิงเจอร์เป็นผู้ประสานคนสำคัญ

ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การไปเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อปี 1972

หนังสือเล่มที่ 13 ของคิสซิงเจอร์ชื่อสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “On China” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์วิวัฒนาการทางการเมือง, สังคมและความมั่นคงของจีนอย่างละเอียดและรอบด้าน

คิสซิงเจอร์เปรียบวิถีปฏิบัติของผู้นำจีนตั้งแต่ยุคโบราณว่าต่างกับตะวันตกตรงที่ไม่ใช้วิธีการปะฉะดะซึ่งหน้า แต่ใช้ความอดทน, ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว

เปรียบเหมือนคนจีนเล่น “หมากล้อม”

ต่างกับการเดินหมากของฝรั่งที่มุ่งจะโจมตีและยึดครองฝ่ายตรงกันข้ามด้วยกลยุทธ์การรุกเพื่อยึดพื้นที่อย่างฉับพลันทันเหตุ

แต่ยุทธศาสตร์แบบจีนคือการค่อยๆ ล้อมฝ่ายตรงกันข้ามและขยับเข้าไปทีละน้อยจนกว่าฝ่ายตรงกันข้ามจะพลาดท่าเสียทีจึงจะเผด็จศึก

คิสซิงเจอร์เยือนปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว และขึ้นวิธีวิพากษ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐว่าเป็นภาวะของความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามได้ “หากทั้งสองฝ่ายไม่พยายามหาทางแก้ปัญหาจุดยืนที่แตกต่างกัน”

คิสซิงเจอร์บอกว่า “หากปล่อยให้ความขัดแย้งขยายตัวไปอย่างไม่จำกัด ผลที่ตามมาจะแย่กว่าในยุโรป สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเพราะวิกฤตเล็กๆ และวันนี้อาวุธมีพลังทำลายมากกว่าสมัยนั้นมากมายนัก…”

เขาเชื่อว่ายังไม่สายเกินไปที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะหาทางออกร่วมกัน

“เพราะตอนนี้เสมือนเราอยู่ตรงสันเขาของสงครามเย็น”

คิสซิงเจอร์ปีนี้อายุ 96 แต่ยังเขียนหนังสือและเดินทางไปมาหาสู่กับผู้นำจีนและชาติอื่นๆ เป็นประจำ (ก่อนโควิดระบาด)

แกบอกว่า “ทุกคนรู้ว่าการเจรจาทางการค้าระหว่างสองประเทศนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ สำหรับการพูดจากันทางด้านการเมืองที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้…”

ในหนังสือ “On China” คิสซิงเจอร์วิเคราะห์ประวัติศาสตร์จีนและเล่าถึงกลไกการทำงานด้านการทูตของจีนในช่วงสำคัญๆ ทางการเมืองระหว่างประเทศ

เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่เริ่มด้วยความสนิทแนบแน่นและจบด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว

เขาเล่าถึงเบื้องหลังสงครามเกาหลีที่จีนกับอเมริกาสู้กันอยู่คนละข้าง

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผมก็คือที่คิสซิงเจอร์เล่าถึงเบื้องหลังของการไปเปิดศักราชใหม่แห่งการทูตโลกเมื่อประธานาธิบดีนิกสันไปเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์

การจับมือระหว่างนิกสันกับเหมาเจ๋อตุงคราวนั้นมีผลสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วโลก รวมถึงไทยเราที่ต้องปรับท่าทีต่อสหรัฐและจีนครั้งใหญ่

คำเตือนของคิสซิงเจอร์เกี่ยวกับ “สงคราม” ระหว่างจีนกับสหรัฐที่จะส่งผลเสียหายมหาศาลนั้นมาจากความกลัวว่าผู้นำจีนกับสหรัฐจะประเมินอีกฝ่ายหนึ่งต่ำเกินไป

อย่างที่ Kishore Mahbubani ซึ่งกล่าวถึงไว้ในสัปดาห์ก่อน ตั้งประเด็นไว้ในหนังสือ “Has China Won” ของเขาว่า จีนมองว่าสหรัฐใช้ “สองมาตรฐาน” ในความสัมพันธ์ด้านการค้าและการเมืองกับจีน

แกอ้างคำเปรียบเปรยของอาจารย์ Jeff Sachs แห่งมหาวิทยาลัย Columbia University ว่า

“เมื่อบริษัทอเมริกาทำผิดกฎหมาย รัฐบาลอเมริกันลงโทษบริษัท ไม่ใช่ผู้บริหาร แต่เมื่อบริษัทจีนทำผิดกฎ รัฐบาลสหรัฐกลับลงโทษผู้บริหาร…”

แกตั้งข้อสังเกตว่าอัยการของสหรัฐคงไม่ได้ต้องการจะส่งสัญญาณว่าสหรัฐมีสองมาตรฐาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายจีนมองไปเช่นนั้น

เหตุก็เป็นเพราะอัยการและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐทำไปโดยไม่ได้พิจารณาถึงผลข้างเคียงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตามมาจากการตัดสินใจเช่นนั้น

อีกด้านหนึ่ง บางครั้งทางฝั่งจีนก็อาจจะมองผลตอบแทนระยะสั้น แต่ไม่มองผลกระทบระยะยาวในการดำเนินนโยบายบางเรื่อง

Kishore ยกตัวอย่างใกล้บ้านเราว่าเมื่อปี 2012 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา

จีนใช้แรงกดดันทางตรงหรือทางอ้อมให้ประธานที่ประชุมวีโต้แถลงการร่วมของสิบประเทศว่าด้วยประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

นั่นอาจจะเป็นชัยชนะระยะสั้นสำหรับจีน

แต่ก็เปิดทางให้สหรัฐสามารถนำไปกล่าวอ้างเป็นโฆษณาชวนเชื่อว่ากรณีนี้สะท้อนชัดเจนถึงจีนที่ถูกมองว่าเป็น “นักเลงขี้รังแกเพื่อนบ้าน”

อีกกรณีหนึ่งคือฮิลลารี่ คลินตัน ตอนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลบารัค โอบามา ก็เคย “ซุ่มยิง” (ภาษาทหารที่ใช้ในการทูต) รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหยางเจี๊ยฉือของจีนขณะนั้นด้วยการออกแถลงการณ์ภาษาดุดันต่อว่าต่อขานจีนเกี่ยวกับกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้

เหตุเกิดระหว่างการประชุมอาเซียนที่กรุงฮานอยในเดือนกรกฎาคม 2010

พอมีข่าวเรื่องนี้ ฮิลลารี่ได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อสหรัฐที่บอกว่าเธอมีความเด็ดขาดชัดเจนในการแสดงจุดยืนของสหรัฐที่ไม่ยอมให้จีนทำอะไรที่ขัดแย้งกับแนวทางของอเมริกา

แต่สำหรับจีนแล้วนั่นคือการตบหน้ากันอย่างรุนแรง

จีนถือว่าอเมริกาทำอย่างนี้ไม่ไว้หน้ากัน จงใจจะทำให้เสียเครดิตและไม่ให้เกียรติทางการทูตอย่างที่จีนคาดหวัง

พอเกิดเรื่องอย่างนี้บ่อยครั้งเข้าก็ทำให้โอกาสที่สองยักษ์จะหาทางลดความขัดแย้ง แสวงหาทางออกร่วมกันยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก

สัจธรรมของการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์มักจะมีความโยงใยกับเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆ ก็เปลี่ยนไปเสมอทั้งในอเมริกาและจีน

ความร่วมมือระดับประวัติศาสตร์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งที่ตราตรึงในประวัติศาสตร์โลกคือในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อผู้นำระดับยักษ์ 4 คนมาจับมือสร้างบทมหัศจรรย์แห่งการเมืองระหว่างประเทศ

นั่นคือประธานเหมาเจ๋อตุงของจีน

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน

นายกรัฐมนตรีจีนโจวเอินไหล

และที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์

ต้องยอมรับว่า หากไม่ใช่เพราะทั้ง 4 คนนี้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล, กล้าหาญ และชัดเจน ก็อาจจะไม่มีการเปิดสัมพันธ์ครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างยักษ์ใหญ่สองประเทศของโลกที่เป็นอริกันอย่างรุนแรงหนักหน่วงมาตลอดก็เป็นได้

ว่ากันว่าความคุ้นเคยส่วนตัวระหว่างประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (ผู้พ่อ) ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำปักกิ่งกับเติ้งเสี่ยวผิงของจีนก็อาจจะไม่สามารถลดทอนระดับความตึงเครียดระหว่างสองประเทศในช่วง 1989 ได้

เพราะปีนั้นคือปีแห่ง “เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน” ที่สหรัฐกล่าวประณามการปราบปรามนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและแข็งกร้าว

สร้างความร้าวฉานกับรัฐบาลปักกิ่งอย่างยิ่ง

ที่ความสัมพันธ์ไม่เสื่อมทรุดหนักไปกว่าที่ควรจะเป็นก็เพราะบุชกับเติ้งยังรักษา “ความเป็นเพื่อน” ส่วนตัวไว้ในยามวิกฤตระหว่างรัฐบาลทั้งสองได้

ไม่ว่าจะเป็นการเมืองตะวันตกหรือเอเชีย…ความสัมพันธ์ส่วนตัวย่อมอยู่เหนือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ได้เสมอ