ท่าที ต่อนิพพาน ความเข้าใจ “ชาวบ้าน” นิพพาน คือ “เย็น”

ถาม-เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบาย “นิพพาน” อันเป็นธรรมที่ลุ่มลึกแสนยากให้เป็นของง่าย เป็นการเหยียดหยามความตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เช่น อธิบายว่ามีนิพพานเมื่อมีสติควบคุมอารมณ์ไม่ให้ยินดียินร้ายได้ก็เป็นนิพพานแล้ว เป็นต้น นี่มันเป็นอย่างไรกันครับ

ท่านพุทธทาสภิกขุ ตอบว่า

ที่ว่าอธิบาย “นิพพาน” ด้วยความรู้ของตน เหยียดหยามความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราก็ตอบว่า ที่อธิบายอย่างที่อธิบายมาแล้วนั่นแหล่ะคืออธิบายตามพระพุทธเจ้า

ถ้าอธิบายผิดไปจากนี้ นอกไปจากนี้แล้วไม่ใช่ “นิพพาน” ของพระพุทธเจ้า

“นิพพาน” ลุ่มลึกแสนยากนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าลุ่มลึกแสนยาก แต่ก็ไม่พ้นวิสัย ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์

เมื่อจิตว่างจากกิเลสเป็น “นิพพาน” ชนิดหนึ่งชั่วคราวโดยธรรมชาติ

นี่ก็มีหลักที่ตายตัวอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไปคิดดูเอาเองด้วยสามัญสำนึกก็ได้ว่า ถ้าจิตไม่มีกิเลสแล้วมันจะเป็นอะไรล่ะ

เมื่อไม่มีกิเลสมันก็สะอาด สว่าง สงบ

มันก็เย็นตามความหมายของคำว่า “นิพพาน”

คําว่า “นิพพาน” นี้ตัวหนังสือแท้ๆ แปลว่า “เย็น” ขอยืมเอาไปจากคำว่าเย็นของชาวบ้านไปใช้ในเรื่องของพระธรรม หรือเรื่องของพระศาสนา

เรื่องของพระศาสนาเพิ่งพบทีหลัง

เมื่อฤๅษี มุนี โยคี เข้าใจ “พระนิพพาน” ตามความหมายของท่านแล้วก็ยืมคำนี้ไปใช้ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่อง “นิพพาน” ท่านก็ยืมคำคำนี้ไปใช้

ฉะนั้น คำว่า “นิพพาน” มีอยู่ด้วยกันในลัทธิทุกๆ ลัทธิ แต่ความหมายมันต่างกัน

แต่ความหมายอันแท้จริงนี้มันหมายถึงเย็น ปราศจากร้อน อะไรร้อน ก็คือกิเลส เมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่ร้อน เมื่อไม่ร้อนก็คือเย็น

สำหรับภาษาชาวบ้านนั้นวัตถุเย็นเขาก็เรียกว่า วัตถุ “นิพพาน”

สัตว์เดรัจฉานเย็นไม่มีพิษร้ายเขาก็เรียกว่า สัตว์เดรัจฉาน “นิพพาน” จิตใจเย็นก็เรียกว่า จิตใจมัน “นิพพาน”

คำว่า “เย็น” มันหลายขนาด

บางพวกถือว่ามีกามารมณ์แล้วใจมันก็เย็น อิ่มไปด้วยกามารมณ์ ใจมันก็เย็น พวกนี้ก็เอากามารมณ์เป็น “นิพพาน”

พวกที่สูงขึ้นไปกว่านั้นก็ว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่”

จิตเป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัติ นี้เย็น สมาบัตินี้ก็เป็น “นิพพาน” พระพุทธเจ้าก็ว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่” ต้องหมดกิเลส ต้องสิ้นกิเลสแล้วก็เย็นแล้วก็เป็น “นิพพาน” นี่มันจริงกว่าอย่างนี้ นี่เราก็ยกตัวอย่างเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจคำว่า “นิพพาน” ให้เข้าใจเรื่องที่ลึกได้ก็ด้วยการยกตัวอย่าง

อย่างนี้ไม่มีอะไรที่เป็นการเหยียดหยามต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น ถ้าใครต้องการ “นิพพาน” ชิมลอง “นิพพาน” ชั่วคราว “นิพพาน” ในปริมาณหนึ่งแล้วก็จงพยายามอย่าให้เกิดความร้อนขึ้นในจิตใจ

คือ อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นในจิตใจนั่นเอง ก็จะได้ชิมรสของ “พระนิพพาน” ไปเรื่อยๆ

ถ้าอยู่ด้วยการชิมรสของ “พระนิพพาน” อยู่เรื่อยๆ แล้วกิเลสจะผอมลงๆ เพราะว่ากิเลสมันไม่ได้อาหารมันก็ผอมลง ถึงโอกาสหนึ่งมันก็สิ้นไป

ฉะนั้น จงอยู่ด้วยการกระทำอย่าให้โอกาสแก่กิเลส อย่าให้กิเลสเกิดขึ้น โดยอยู่กับ “พระนิพพาน” ไว้เรื่อยๆ ไปกิเลสจะไม่มีโอกาส พูดโดยสมมติว่าบ้านเมืองของกิเลสนั้นมันจะทรุดโทรมลงพังทลายไป

จิตใจนี้ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของ “พระนิพพาน” ตลอดเวลา

แต่ก่อนนี้เรามี “พระนิพพาน” เฉพาะครู่เฉพาะยามที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นรบกวน เดี๋ยวนี้เราทำลายหมดไปแล้ว จิตเปลี่ยนไปอยู่ในลักษณะที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ก็อยู่กับ “พระนิพพาน” ตลอดเวลา

การทำให้เข้าใจ “พระนิพพาน” โดยละเอียดตามที่พระพุทธเจ้าประสงค์อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการเหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

แต่ให้รู้จัก “พระนิพพาน” ในความหมายทั่วไป

“นิพพาน” ที่เข้าถึงได้ “นิพพาน” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราอยู่

เป็นอันว่าเราไม่ได้เหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่เมื่อเรามีเจตนาอย่างนี้ก็มีคนหาว่าเหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

มันก็เป็นเรื่องที่น่าล้อ แล้วก็เอามาล้อเสียในวันนี้ด้วย

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ความพยายามของท่านพุทธทาสภิกขุคือ ความพยายามที่จะทำให้ “นิพพาน” มีความเข้าใจได้โดยง่าย

เป็นการดึง “นิพพาน” ลงมาจาก “หิ้ง”

ตรงนี้เองที่นำไปสู่ความเข้าใจว่า เท่ากับเป็นการเหยียดหยามการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า