ธงทอง จันทรางศุ | กฎหมายป้องกัน “ทัวร์ลง”

ธงทอง จันทรางศุ

ถึงวันนี้เรารับรู้กันทั่วไปแล้วนะครับว่าโลกของเรามีสัณฐานทรงกลม ไม่ใช่แบนแต๊ดแต๋เป็นแผ่นกระดาษ

ถ้าใครยังหลงผิดคิดเชื่อว่าโลกหน้าตาเหมือนกระดาษหนึ่งแผ่น พูดด้วยภาษาวัยรุ่นสมัยนี้ก็ต้องบอกว่า โดนทัวร์ลงแน่นอน

แต่กว่าคนทั้งโลกจะยอมรับอย่างนี้ได้ นักวิทยาศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่เสนอข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าว่าโลกกลมก็ต้องเสี่ยงภัยมามากต่อมาก ติดคุกติดตะรางไปก็เยอะ และถูกด่าทอต่อว่าแบบเสียผู้เสียคนไปก็ไม่น้อย

การเสนอความจริงและความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยหลายต่อหลายเรื่องเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อขนบธรรมเนียมประเพณีหรือความเชื่อที่ยึดถือกันมาช้านาน

ยิ่งถ้าขยับไปอีกถึงชั้นหนึ่ง คือเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่สามารถมีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง

เรื่องเช่นว่านั้นก็ยิ่งมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นอีก

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการทำแท้ง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายอาญาของเรามาช้านานแล้ว ในกฎหมายอาญานั้นเองมีข้อยกเว้นให้สามารถทำแท้งได้ในบางกรณีซึ่งจำกัดจำเขี่ยเต็มที

ประเด็นนี้นำมาสู่การโต้เถียงถกแถลงกันในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

หัวใจของเรื่องคือ สมควรขยายข้อยกเว้นออกไปให้กว้างขวางกว่าเดิมหรือไม่

บางทีประเด็นนี้ก็ถูกขยายออกไปจนกลายเป็นคำถามว่า ควรมีการทำแท้งเสรีหรือไม่

ซึ่งคำถามเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นคำถามลวง และนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ง่าย

ทำให้ประเด็นแท้ที่ว่าควรขยายข้อยกเว้นออกไปมากน้อยเพียงใดต้องพร่ามัว หรือถูกคัดค้านอย่างเอาเป็นเอาตายโดยเปล่าประมาณและเกาไม่ถูกที่คัน

เข้าตำราไปไหนมาสามวาสองศอกนั่นเลยทีเดียว

สองสามวันที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปร่วมประชุมคณะกรรมการชุดหนึ่ง ที่ต้องยกร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อวางแนวทางในการพิจารณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือของใครก็ตาม ที่อาจมีประเด็นกระทบถึงความคิด ความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออะไรทำนองนี้

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งโมโห คิดว่าผมหรือคณะกรรมการจะไปเขียนกฎหมายห้ามใครทำวิจัยเรื่องโน้นเรื่องนี้นะครับ

โดยสัตย์จริงแล้ว หลักที่สำคัญซึ่งเรามองก้าวข้ามไปไม่ได้ คือเสรีภาพในทางวิชาการซึ่งได้รับการประกันหรือรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และนอกจากนั้น ยังเป็นหลักสากลที่นานาประเทศเขาเคารพนับถือด้วย

การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะทำได้ก็เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและเข้าเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย

ลำพังการเขียนกฎหมายลำดับรอง ไม่ว่าจะเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงหรือประกาศของคณะกรรมการอะไรก็แล้วแต่ จะเขียนไปจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไม่ได้หรอกครับ ถ้าจะไปไกลถึงขนาดนั้นก็ต้องไปว่ากันในรัฐสภาและต้องออกมาในฐานะที่เป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องมีกระบวนการยาวยืดและมีบุคคลเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันมาก

ดังนั้น สิ่งที่เราคิดกันได้ในหมู่คณะกรรมการของเราคือ การวางระบบหรือกลไกให้มีจิ้งจกตุ๊กแกคอยร้องทัก หากจะมีหน่วยงานหรือนักวิจัยร่วมตลอดจนประชาชนคนทั่วไป อยากจะหารือสอบถามมา ว่างานวิจัยเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะมีปัญหากระทบถึงประเด็นละเอียดอ่อนที่ได้ออกชื่อมาแล้วข้างต้น หรือไม่อย่างไร และควรมีคำแนะนำสำหรับกรณีดังกล่าวอย่างไรบ้าง

อ่านที่ผมเขียนมาสองสามย่อหน้าข้างต้นแล้วปวดหัวไหมครับ

เรามานึกถึงตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นหรือเคยพบเคยผ่านมาแล้วในอดีตกันดีกว่า

หลายปีมาแล้วเคยมีงานวิจัยหรืองานวิชาการชิ้นหนึ่ง พยายามพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของท้าวสุรนารีหรือย่าโมของชาวโคราช สุดท้ายแล้วดูเหมือนจะมีการพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่ม อารมณ์เมื่ออ่านหนังสือแล้วได้ความรู้สึกประมาณว่า เรื่องวีรกรรมของท้าวสุรนารีมีข้อสงสัยหลายประการ ว่าเป็นความจริงแท้ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เพียงไร

แค่นี้แหละครับ ทัวร์ได้ลงผู้วิจัยหรือคนเขียนหนังสือเล่มนี้จนสะบักสะบอมเลยทีเดียว

นี่คือตัวอย่างของงานวิจัยหรืองานวิชาการที่มีผลกระทบต่อความคิดความเชื่อของคนหมู่ใหญ่ และผลที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทในสังคมได้อย่างมหัศจรรย์

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่งานวิจัยหรืองานวิชาการ แต่ผมอยากชวนให้ท่านทั้งหลายนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า “15 ค่ำ เดือน 11” ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคริมแม่น้ำโขง ว่ามีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพียงใดหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของพญานาคทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นจริงๆ

เท่าที่จำได้ ชาวบ้านที่เชื่อถือในเรื่องบั้งไฟพญานาคอย่างสุดจิตสุดใจต่างพากันต่อต้านการทำงานของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนั้นอย่างเต็มที่ เรื่องที่เขาเชื่อมานับร้อยปี จะปล่อยให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาใส่ร้ายป้ายสีทำลายความเชื่อนั้นลงโดยสิ้นเชิงได้อย่างไร

เห็นไหมครับว่าเรื่องอย่างนี้เคยผ่านหูผ่านตาของเรามาแล้วทั้งนั้น และในวันข้างหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก แบบที่เรานึกไม่ออกเลยทีเดียวว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง

ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการทำแท้ง เพื่อขยายเงื่อนไขให้มีการตัดสินใจทำแท้งได้กว้างขวางกว่าเงื่อนไขที่เคยมีมาแต่ก่อน ประเด็นเรื่องนี้มีการทำการศึกษาวิจัยต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน การศึกษานั้นมีความรอบคอบในแง่มุมทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมถึงประเด็นทางด้านสังคมและผลกระทบอย่างอื่นซึ่งมิได้ดูด้วยแว่นสายตาของนักกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียว

วันหนึ่งเมื่อต้องมีการตัดสินใจทางนโยบายของคณะรัฐมนตรีว่าจะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ในเรื่องนี้อย่างไร งานวิจัยเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์ ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนหรือแสดงทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

และเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็ได้รับหลักการของร่างกฎหมายที่จะปรับปรุงเงื่อนไขของการทำแท้งให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันและความจริงของชีวิตไปแล้ว รอเวลาและขั้นตอนที่กฎหมายจะเข้าสู่รัฐสภาต่อไป

ลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นคนเคร่งครัดต่อศีลธรรมแบบเข้มข้น ใครพูดว่า “ทำแท้ง” ขึ้นมาให้ได้ยินเมื่อไหร่ก็พาลจะเป็นลมทุกครั้งไป เมื่อถึงวันเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้น แล้วเราไม่มีงานทางวิชาการหรืองานวิจัยที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่ในคลังปัญญาของเราเลย ในนาทีที่ต้องตัดสินใจว่ากฎหมายเรื่องนี้ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง เราจะใช้วิธีเสี่ยงเซียมซีเอาหรือครับ

ทุกวันนี้ก็ดูประหนึ่งว่าคณะรัฐมนตรีต้องเสี่ยงเซียมซีหลายเรื่องมากพอแล้ว ฮา!

เอาเข้าจริงแล้ว ตัวคนจะทำวิจัยนั้นเองแหละที่ต้องคิดคำนวณเรื่องนี้ให้รอบคอบ ชั่งน้ำหนักระหว่างความจริงหรือความรู้ที่จะได้รับจากการค้นคว้าวิจัย เปรียบเทียบกับผลกระทบที่จะกระเทือนไปถึงความคิดความเชื่อดั้งเดิม ว่ามีความคุ้มค่าหรือความเหมาะสมเพียงไร

เราผู้เป็นชาวบ้านก็ต้องใจเย็นๆ ครับ ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรๆ ก็จะโมโหขึ้นหน้า ท้าตีท้าต่อยลูกเดียว

ขืนเราทำแบบนั้น โลกของเรากลับไปเป็นโลกแบน ผมไม่รู้ด้วยนะเออ