ปิยบุตร แสงกนกกุล : [ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส] ว่าด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

วันที่ 24 มกราคม 1789 หลุยส์ที่ 16 ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาฐานันดรและกำหนดกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง

จากนั้นการเลือกตั้งสภาฐานันดรมีขึ้นในเดือนมีนาคม (จังหวัดอื่นๆ) และเดือนพฤษภาคม (ปารีส) และเปิดประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 5 พฤษภาคม 1789

โดยมีสมาชิกทั้งหมด 1,139 คน แบ่งเป็นสมาชิกฐานันดรขุนนาง 270 คน ฐานันดรพระ 291 คน และฐานันดรที่สาม 578 คน ซึ่งทั้งสามฐานันดรนี้ต้องแยกกันประชุมและลงมติแยกกัน

หากพิจารณาสถานะของสมาชิกในแต่ละฐานันดรแล้วพบว่ามีความแตกต่างกันไป

ในสภาฐานันดรพระ มีสมาชิกที่เป็นพระระดับล่างถึง 2 ใน 3 และมีเพียง 46 คนเท่านั้นที่เป็นพระในระดับมุขนายก (?v?ques ; bishop)

ส่วนในสภาฐานันดรขุนนาง มีสมาชิก 90 คนที่เป็นขุนนางรุ่นใหม่ เช่น Lafayette

ส่วนที่เหลือก็เป็นขุนนางจากต่างจังหวัดที่ยังคงมีความคิดแบบอภิชนอยู่

และในสภาฐานันดรที่สาม ไม่ได้มีแต่พวกสามัญชนเท่านั้น แต่ยังมีพวกพระและขุนนางบางส่วนที่ถูกคัดออกและไม่สามารถเป็นผู้แทนของฐานันดรพระและขุนนางได้

ซึ่งสมาชิกกลุ่มนี้กลับกลายเป็นกำลังสำคัญของฐานันดรที่สาม เช่น Mirabeau และ Siey?s

แม้สภาฐานันดรมีพื้นฐานจากการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่เมื่อพิจารณาอาชีพของสมาชิกสภาฐานันดรที่สามแล้ว กลับพบว่าไม่ได้สะท้อนถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก

สมาชิกสภาฐานันดรที่สามจำนวนมากไม่ใช่คนในชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่ใช่คนที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมหรืองานช่างฝีมือ

สมาชิกสภาฐานันดรที่สามไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นผู้แทนของสาขาอาชีพต่างๆ หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ตรงกันข้าม สมาชิกสภาฐานันดรที่สามส่วนใหญ่แล้วเป็นนักกฎหมาย ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย โดยแบ่งแยกเป็นทนายความ 151 คน เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 218 คน

ซึ่งในจำนวนนี้มี 14 คนที่เป็นผู้รับรองความถูกต้องของการจัดทำนิติกรรมสัญญา หรือ “โนแตร์” (Notaire)

ข้อเท็จจริงเช่นนี้ทำให้ข้อสรุปที่ว่าชนชั้นทุนนิยม-อุตสาหกรรม-ผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจดี เป็นผู้เปิดฉากการปฏิวัติฝรั่งเศส อาจไม่ถูกต้องเท่าไรนัก

บรรดานักกฎหมายที่ได้เป็นสมาชิกสภาฐานันดรที่สามต่างก็เป็นบุคคลที่ได้รับตำแหน่งในสมัยระบบเก่า เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งระดับสูงได้ พวกเขาจึงไม่มีประสบการณ์ในวิชาชีพกฎหมายเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้และวาทศิลป์ทำให้พวกเขาสามารถชนะการเลือกตั้งได้เข้ามาเป็นผู้แทนในสภาฐานันดรที่สาม

นักกฎหมายเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการเปิดฉากปฏิวัติฝรั่งเศส จน Fran?ois Furet สรุปว่า 1789 คือ การปฏิวัติของนักกฎหมายและทนายความ

ในการประชุมสภาฐานันดรวันแรก สมาชิกสภาฐานันดรที่สามปีกนักกฎหมายเสนอวาระให้พิจารณายกเลิกการแยกประชุมในแต่ละฐานันดรและยกเลิกการลงมติในแต่ละฐานันดรแยกกัน

พวกเขาเสนอให้ทั้งสามฐานันดรประชุมร่วมกันและลงมตินับคะแนนเป็นรายบุคคล

ฐานันดรพระและขุนนางปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้สภาฐานันดรที่สามต้องประชุมต่อไปกันเองที่ห้องประชุมใหญ่ Menus-Plaisirs

พวกเขาจัดการเปลี่ยนชื่อเรียกตนเองเสียใหม่ว่า สภา Communes โดยหยิบยืมมาจาก House of Commons ของอังกฤษ

และประกาศเชิญชวนสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางและพระที่เห็นด้วยให้มาร่วมประชุมด้วยกันเพื่อตรวจสอบว่าสภาแห่งนี้มีอำนาจอะไรบ้าง

ฐานันดรขุนนางและพระยังคงปฏิเสธข้อเสนอของฐานันดรที่สาม แต่การปฏิเสธนี้ก็ไม่อาจขัดขวางเจตจำนงของฐานันดรที่สามได้

พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าต่อไปและยื่นคำขาดกำหนดเส้นตายในวันที่ 10 มิถุนายน หากพระและขุนนางยังไม่เข้าร่วม ฐานันดรที่สามก็จะประชุมต่อไปกันเอง

ในท้ายที่สุด มีสมาชิกสภาฐานันดรพระและสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางบางส่วนมาร่วม

ในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 Siey?s เสนอให้สภาฐานันดรเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นสภาแห่งชาติ (Assembl?e nationale) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 491 เสียงต่อ 90 เสียง

การเปลี่ยนจากสภาฐานันดรเป็นสภาแห่งชาติไม่ใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น

แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดใหม่เรื่อง “อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ” (souverainet? national) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการกำเนิดกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ในฝรั่งเศส

นับแต่นี้ อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของกษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นของชาติ ซึ่งมีสภาแห่งชาติที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

มีแต่เพียงสภาแห่งชาติเท่านั้นที่มีอำนาจในการตีความและแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปของชาติ

ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงกลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศส

วันที่ 17 มิถุนายน 1789 จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์และก่อตั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส

สองวันถัดมา สมาชิกสภาฐานันดรพระอีกหลายคนได้เข้าร่วมประชุมสภาแห่งชาติ ส่วนสมาชิกฐานันดรขุนนางได้เรียกร้องให้กษัตริย์ลงมาวินิจฉัยชี้ขาดว่ามติของฐานันดรที่สามนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Necker เสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 ตระหนักดีถึงคลื่นลมแห่งการปฏิวัติจึงพยายามหาหนทางประนีประนอมในรูปแบบของกษัตริย์อังกฤษโดยเขาเสนอให้หลุยส์ที่ 16 ยอมรับการแบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกันระหว่างสภาฐานันดรและกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม หลุยส์ที่ 16 ไม่เห็นด้วย ในวันที่ 23 มิถุนายน พระองค์ทรงประกาศว่าการลงมติของผู้แทนฐานันดรที่สามในวันที่ 17 มิถุนายน เป็นโมฆะ

และมีคำสั่งให้ทั้งสามฐานันดรกลับมาประชุมโดยให้ประชุมแยกกันแต่ละฐานันดร

หลุยส์ที่ 16 อาจมองว่าตนได้ประนีประนอมมากเพียงพอแล้ว แต่พวกฐานันดรที่ 3 ไม่รู้จักพอเสียที

พระองค์ทรงใช้กุศโลบาย “สู้พลางถอยพลาง” ตั้งแต่ยินยอมให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาฐานันดรที่ 3 ให้อีกหนึ่งเท่าตัว แต่ก็ไม่ยอมให้มีการลงมติทั้งสามฐานันดรร่วมกันและนับคะแนนเป็นรายบุคคล

ยินยอมแต่งตั้ง Necker ซึ่งมีแนวคิดแบบปฏิรูปกลับมาเป็นเสนาบดี แต่ก็ไม่ยอมทำตามข้อเสนอของ Necker เท่าไรนัก

น่าสนใจว่า หากหลุยส์ที่ 16 ยอมประนีประนอมกับฐานันดรที่ 3 อีกครั้ง เช่น การยอมรับหลักความเสมอภาคทางภาษี เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด การยอมให้สภาฐานันดรได้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับกษัตริย์ เป็นต้น การปฏิวัติฝรั่งเศสอาจไม่ลุกลามจนเกินความควบคุมของหลุยส์ที่ 16 ก็เป็นได้

คําประกาศของหลุยส์ที่ 16 ไม่มีพลังเพียงพอ พวกฐานันดรที่สามดื้อแพ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าประชุมในนามของสภาแห่งชาติต่อไป

การประกาศสู้ของ Mirabeau ที่ว่า “เราจะออกไปจากที่ประชุมของเราแห่งนี้ได้ก็ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้น”

สะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกฐานันดรที่สามที่รวมตัวกันและเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติแล้วนั้น จะไม่มีวันล้มเลิกความตั้งใจและไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งภารกิจของพวกเขาได้ นอกเสียจากใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน

ความตั้งใจเอาชีวิตเข้าแลกของพวกฐานันดรที่สามนี้ ทำให้การปฏิวัติยังรุดหน้าไปต่อได้