คุยกับทูต อับดุลลาห์ อัลชาร์ฮาน จากไข่มุกสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยุทธศาสตร์ “คูเวตใหม่”

เมื่อเอ่ยถึงประเทศคูเวต หลายคนก็อาจจะนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อครั้งเกิดการรุกรานคูเวต หรือที่รู้จักกันในนาม สงครามอิรัก-คูเวต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามอ่าวเปอร์เซีย อันเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพรรคบาธของประเทศอิรักกับเจ้าผู้ครองรัฐ (The Amir หรือ Emir) แห่งคูเวต

คูเวตเป็นประเทศในกลุ่มอาหรับขนาดเล็ก อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ริมชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย มีพรมแดนทางใต้ติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย และพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศอิรัก

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของคูเวตเริ่มต้นจากการสร้างเมืองคูเวตในศตวรรษที่ 18 โดยชนเผ่า Uteiba ซึ่งเร่ร่อนมาจากทางเหนือของกาตาร์

ในระหว่างศตวรรษที่ 19 คูเวตพยายามที่จะขอความช่วยเหลือจากอังกฤษเพื่อให้พ้นจากการยึดครองของพวกเติร์กและกลุ่มต่างๆ ที่เรืองอำนาจในคาบสมุทรอาระเบีย

ในปี ค.ศ.1899 Sheikh Mubarak Al Sabah ได้ลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษว่า ตนและผู้สืบทอดอำนาจจะไม่ยอมให้ดินแดนและต้อนรับผู้แทนของต่างประเทศใดๆ โดยไม่ได้ความยินยอมจากอังกฤษเสียก่อน

ส่วนอังกฤษก็ได้ตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือประจำปีแก่ Sheikh Mubarak และทายาท และให้ความคุ้มครองคูเวต โดยอังกฤษได้ดูแลกิจการด้านการต่างประเทศและความมั่นคงให้กับคูเวต

ต่อมามีการค้นพบแหล่งน้ำมันอย่างมหาศาลในคูเวตเมื่อ ค.ศ.1937 โดยบริษัทน้ำมัน US-British Kuwait Oil Company

ในช่วงต้นปี ค.ศ.1961 อังกฤษได้ถอนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำหรับตัดสินคดีของชาวต่างชาติในคูเวตออกไป

และรัฐบาลคูเวตได้เริ่มการใช้กฎหมายของตนเองซึ่งยกร่างโดยนักกฎหมายชาวอียิปต์

และได้รับอิสรภาพสมบูรณ์จากอังกฤษเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1961

รัฐบาลอิรักอ้างสิทธิว่า คูเวตเป็นส่วนหนึ่งของตนตามหลักเชื้อชาติภูมิศาสตร์ และสังคม แต่สันนิบาตอาหรับ (Arab League) รับรองเอกราชของคูเวต

ภายหลังสงครามอิรัก-อิหร่านซึ่งกินเวลาถึง 8 ปี ส่งผลให้อิรักบอบช้ำมากจากภาระบูรณะประเทศ อิรักต้องเป็นหนี้ต่างประเทศประมาณ 80,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ข้อเรียกร้องที่รุนแรงของอิรัก ซึ่งต้องการให้คูเวตคืนดินแดนที่รุกล้ำเข้ามา คือ เขต Rumailah Oilfield ซึ่งมีน้ำมันอุดมสมบูรณ์และขอเช่าเกาะบูมิยัน กับเกาะวาร์บาห์ ในอ่าวเปอร์เซีย เพื่อให้อิรักขายน้ำมันผ่านอ่าวเปอร์เซียโดยตรง ไม่ต้องส่งผ่านซาอุดีอาระเบียและตุรกีเช่นเดิม

จึงเกิดการบุกรุกคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1990 เป็นการดำเนินการ 2 วันโดยอิรัก กับรัฐใกล้เคียงของคูเวตซึ่งส่งผลให้ชาวอิรักยึดครองคูเวตเป็นเวลา 7 เดือน คูเวตถูกผนวกไว้เป็นจังหวัดที่ 19 ของอิรัก

การบุกรุกและการปฏิเสธของอิรักที่จะถอนตัวจากคูเวตในภายหลังตามกำหนดของสหประชาชาติ นำไปสู่การแทรกแซงทางทหารโดยกองกำลังสหประชาชาติที่ได้รับอนุญาตนำโดยสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงบานปลายกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย โดยมีหลายชาติเข้าร่วมกำลังผสม ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักในฐานะสงครามอ่าวครั้งแรกและส่งผลให้กองทัพอิรักถูกขับไล่ออกจากคูเวต

ทางด้านคูเวต นอกจากจะถูกอิรักกอบโกยทรัพย์สินไปแล้ว บ่อน้ำมันในคูเวตยังถูกอิรักจุดไฟเผาทิ้งไปหลายร้อยบ่อก่อนที่จะล่าถอยออกไป ทำให้ต้องใช้เวลาเกือบปีจึงจะดับไฟได้หมด

และอิรักยังปล่อยน้ำมันลงสู่อ่าวเปอร์เซียจำนวนมหาศาลอีกด้วย เท่ากับเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยา

คูเวตมีชื่อเป็นทางการ คือ ราชรัฐคูเวต มีคูเวตซิตี้ เป็นนครหลวง ปกครองด้วยเจ้าผู้ครองรัฐ ในปัจจุบันคือ เชค ซอบะห์ อัลอะห์มัด อัล จาเบอร์ อัล ซอบะห์ (H.H. Sheikh Sabah Al-Ahmad Al- Jaber Al-Sabah) มีพื้นที่ 17,818 ตร.ก.ม.

นับว่าเล็กกว่าจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งมีพื้นที่ 19,483 ตร.ก.ม. แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันมหาศาล

หลายคนที่ได้ไปเยือนประเทศคูเวตกล่าวว่า คูเวตเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจของความเป็นตะวันตกกับศาสนาอิสลามที่เคร่งครัด

ทุกวันนี้ คูเวตซิตี้เป็นเมืองหลวงที่เจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยโรงแรมหรูหรา อาคารสำนักงานสูงระฟ้า และห้างร้านดีไซเนอร์ชั้นนำของโลก

มัสยิดที่มีความงดงามด้วยรายละเอียด

และล่าสุดคือ “มัสยิดอัส-ซาดีกออฺ ฟาฎิมะตุ้ล ซะฮฺรอ” (As-Sadeeqa Fatimatul Zahra Mosque) เลียนแบบ “ทัชมาฮาล” สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในอินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่มีความโดดเด่นที่สุดของคูเวตใกล้สนามบินนานาชาติคูเวต ใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 133,200,000 บาท

เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.2011

ในยุคโบราณ ไข่มุกเลอค่าดังเพชร เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุดของอ่าวเปอร์เซีย อาชีพการงมไข่มุก จึงถือเป็นความภาคภูมิทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง

คูเวตก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีนักดำน้ำงมไข่มุกเพื่อค้าขายในยุคเก่าก่อน

ถึงตอนนี้ คูเวตกำลังก้าวไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการเงิน

โดยเฉพาะศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งหนึ่งของโลก ในยุคปัจจุบัน

ครั้งอดีต คูเวตดำเนิน “นโยบายการทูตเชิงป้องกัน” โดยมุ่งเน้นการรักษาความปลอดภัยของประเทศที่อาจถูกรุกรานจากอิรัก

มีนโยบายนิยมตะวันตกและพึ่งพิงสหรัฐในด้านความมั่นคงมาโดยตลอด

ปัจจุบันภายหลังสิ้นสุดภัยคุกคามจากอิรัก คูเวตได้ดำเนินนโยบาย “การทูตเชิงเศรษฐกิจ” เน้นการใช้ประโยชน์ทางการทูตเพื่อผลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชาวคูเวตได้รับผลอย่างเป็นรูปธรรม

โดยงบประมาณทั้งหลายนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและคูเวต เริ่มเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1963 และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1983

สำหรับประเทศคูเวต ในอดีตได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศมาเลเซียเป็นเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง

ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตคูเวตได้เริ่มเปิดทำการในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1997 และมีเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบัน มร.อับดุลลาห์ อัล-ชาร์ฮาน (H.E. Mr. Abdullah Jomaa Abdullah AlSharhan) คือเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำราชอาณาจักรไทย เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.2013

เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1959 สำเร็จการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์แล้วเริ่มงานที่กระทรวงต่างประเทศรัฐคูเวตตั้งแต่ปี ค.ศ.1989

ได้ไปประจำสถานทูตรัฐคูเวตในประเทศต่างๆ อาทิ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์, กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้, กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้, กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

มร.อับดุลลาห์ อัล-ชาร์ฮาน รับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตครั้งแรกประจำสาธารณรัฐซิมบับเว (Republic of Zimbabwe) ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ทวีปแอฟริกา โดยมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐมอริเชียส (Republic of Mauritius) และสาธารณรัฐโมซัมบิก (Republic of Mozambique) ก่อนที่จะมาเป็นเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย

สมรสแล้วกับ Mrs. Suad M A AlHaddad มีบุตร ธิดา 5 คน และทุกคนพักอาศัยอยู่ในรัฐคูเวต