คำ ผกา | โง่ให้เด็กมันถอนหงอก

คำ ผกา

ข้อถกเถียงเรื่องชุดนักเรียนกลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักเรียนเลวประกาศว่าวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ให้นักเรียนร่วมใจกันใส่ชุดไปรเวตไปโรงเรียน

ทั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกระเบียบเรื่องชุดนักเรียน

ทำไมจึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน

ที่มาของเครื่องแบบนักเรียนบนโลกใบนี้ เริ่มจากการที่ในสมัยก่อนมีแต่ลูกหลานผู้ลากมากดีได้เข้าโรงเรียน และการแต่งกายในโรงเรียนเหล่านั้นก็เป็นการแต่งกายอันหรูหราตามฐานะ เช่น การใส่สูท สวมทักซิโด้ ผูกเน็กไทเต็มยศ มีถุงเท้า รองเท้า

ทีนี้เมื่อมีองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เห็นว่าเด็กกำพร้า ยากจน ก็น่าจะได้รับโอกาสทางการศึกษาบ้าง จึงมีการตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กกำพร้า เด็กยากจนขึ้นมา

ปัญหาคือจะให้สวมเสื้อผ้าอะไรดี เพราะเด็กเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะมีเสื้อผ้าที่พอจะ “ดูได้” สำหรับการไปอยู่ในสาธารณสถานอย่างโรงเรียนหรือห้องเรียน

พูดง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรจะให้มีเครื่องแต่งกายที่พอจะไม่อุจาดตา จึงมีการใช้ผ้าดิบราคาไม่แพง มาตัดเย็บสิ่งที่เรียกว่า “ยูนิฟอร์ม” ขึ้นมาให้นักเรียนที่จะไปโรงเรียนสวมใส่ให้ดูเรียบร้อยเหมือนๆ กัน

ถ้าเรามองไปยังโลกทั้งใบจึงเห็นร่องรอยของชนชั้นกับยูนิฟอร์มของโรงเรียนตามสมควร นั่นคือโดยทั่วไป โรงเรียนที่เคร่งครัดเรื่องยูนิฟอร์มมักจะเป็นโรงเรียนเอกชน ราคาแพง หรือโรงเรียนที่คัดสรรแต่เด็กเพ็ดดีกรีเข้าเรียน เช่น เรียนมาตั้งแต่ครั้งปู่-ย่า ตา-ยาย

ยูนิฟอร์มของโรงเรียนเอกชนจึงเป็นการประกาศศักดาของชนชั้นสูง ความ exclusive ว่าไม่ใช่ใครทุกคนนะ ที่จะได้ใส่ยูนิฟอร์มแบบนี้

ส่วนสังคมประเทศชาติเมื่อพัฒนาเป็นประชาธิปไตยก็เป็นอันรู้กันว่า การศึกษานั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหาให้ประชาชน จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า mass education หรือการศึกษาสำหรับมวลชน บ้างก็เรียกว่าการศึกษาภาคบังคับ ทุกคนต้องเรียน และเมื่อรัฐบังคับให้เรียน ประชาชนก็ต้องเรียนฟรี จึงเป็นกำเนิดของโรงเรียนรัฐบาล

ทีนี้เมื่อลูกผู้ลากมากดี เรียนเอกชนสำหรับเด็กเพ็ดดีกรี โรงเรียนรัฐบาลก็เป็นโรงเรียนสำหรับประชาราษฎร์ทั้งหลาย นอกจากเรียนฟรีแล้ว สิ่งที่ที่รัฐบาลกำหนดคือ ในเมื่อมันเป็นโรงเรียนรัฐบาล สำหรับสามัญราษฎร เครื่องแบบอะไรอย่ามีมันเลย เพราะเครื่องแบบอะไรเหล่านั้น ปล่อยให้เป็นเรื่องของลูกผู้ลากมากดี เพ็ดดีกรีเขาเวิ่นเว้อ เป็นสัญลักษณ์ทางชนชั้น ทางความร่ำรวยอะไรก็แล้วแต่เขา

แต่โรงเรียนรัฐบาลของชาวเรา ใครอยากใส่อะไรมาเรียนก็ใส่ ขอแค่ไม่ผิดกาลเทศะจนเกินกว่าเหตุ หรือกฎประเภท ห้ามใส่เสื้อเกาะอก หรือกระโปรงที่สั้นเกินไป

หรือในประเทศที่จริงจังกับการเป็นรัฐฆราวาส กฎที่สำคัญที่สุดในการแต่งตัวไปโรงเรียนในกรณีที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลคือ ห้ามใส่ สวม ใดๆ ก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาไปโรงเรียน

เรื่องเครื่องแบบนักเรียนกับโรงเรียนเอกชนหรูๆ ถ้าพูดให้นึกภาพออกก็เช่น กรณีโรงเรียนเอกชนที่ญี่ปุ่นกำหนดชุดนักเรียนเด็กประถมเป็นอาร์มานี่ทั้งชุด เป็นต้น

สําหรับประเทศไทย เรามี mass education ก็หลัง 2475 การศึกษาภาคบังคับที่เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เมื่อมี พ.ร.บ.ปี 2464 แต่เมื่อรัฐบาลได้สร้างโรงเรียนประถมไปทั่วประเทศ จนคนไทยทุกอำเภอ ได้เข้าโรงเรียน ได้เรียนจบอย่างน้อยชั้น ป.4 ก็หลัง 2480

เหตุผลที่ในสมัยนั้นต้องมีเครื่องแบบนักเรียนก็เพราะว่า เพียงสิบกว่าปีที่คนไทยเปลี่ยนจากไพร่มาเป็นพลเมืองหลังปฏิวัติสยาม 2475 พลเมืองไทยโดยมากยังไม่ถูกนำเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นสากล

นั่นหมายถึง ผู้ชายใส่กางเกง ผู้หญิงสวมกระโปรง มีการสวมถุงเท้า รองเท้า – จินตนาการถึงยุคที่คนไทยยังเดินตีนเปล่า รองเท้าคือของหรูและฟุ่มเฟือย

เมื่อมีการศึกษาภาคบังคับ รัฐบาลสมัยนั้นจึงต้องกำหนดเครื่องแต่งกายสากลในนามของ “เครื่องแบบนักเรียน” ในทางหนึ่งคือ เป็นการนำพา “ร่างกาย” ของพลเมืองไทยให้เข้าสู่ระนาบของความเป็นสากลด้วย

แต่ครั้งประชาธิปไตยล่มสลาย คณะราษฎรสายประชาธิปไตยถูกขุดรากถอนโคนออก กลุ่มอำนาจนิยม เผด็จการในคราบประชาธิปไตยเข้ามา take over ประเทศ เครื่องแบบนักเรียน ทรงผม กฎ ระเบียบ ถูกแปลงมาเป็นเครื่องมือแห่งการกำกับร่างกายพลเมืองให้เชื่องและสมยอมต่ออำนาจ “ผู้ใหญ่” และอำนาจรัฐอย่างปราศจากการตั้งคำถาม

ยังไม่ต้องพูดเรื่องการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนก็ได้ ขอแค่คำถามง่ายว่า เราควรปรับปรุงเครื่องแบบนักเรียนให้เข้ากับยุคเข้ากับสมัยเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบันหรือไม่?

ทำไมเรายังต้องแต่งเครื่องแบบที่ออกแบบกันมาตั้งแต่ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว?

ถ้าซีเรียสเรื่อง “เครื่องแบบ” มาก ฉันเสนอว่า เราควรมีเครื่องแบบนักเรียนที่ใส่สบาย ซักรีดง่าย หรือไม่รีดได้ยิ่งดี ใส่แล้วเคลื่อนไหวร่างกายได้แคล่วคล่อง

เช่น เครื่องแบบนักเรียนสามารถเป็นเสื้อยืด กางเกงผ้าฝ้ายขายาว เนื้อผ้านุ่มนิ่ม กับรองเท้าผ้าใบที่สวมใส่สบาย

เราขอมีเครื่องแบบอย่างนี้ได้ไหม?

ส่วนชุดพละ ก็เปลี่ยนจากกางเกงผ้าฝ้าย มาเป็นกางเกงวอร์ม อาจเพิ่มทางเลือกเป็นกระโปรงผ้า เอวยางยืดสวมสบาย ไว้เป็นทางเลือก ใครใคร่ใส่ก็ใส่ ใครไม่อยากใส่ก็ใส่กางเกง

และทั้งกางเกงและกระโปรงนี้ ใส่ได้ทุกเพศ ทั้งกางเกงและกระโปรงคือยูนิเซ็กซ์ ไม่จำเป็นว่ากางเกงคือผู้ชาย กระโปรงคือผู้หญิง

ทีนี้ถ้าเลือกตามความสะดวกสบาย อย่างกางเกงก็สบายกว่ากระโปรง เด็กหญิงจำนวนมากน่าจะอยากใส่กางเกงมาโรงเรียนมากกว่า

แล้วไม่ต้องมีห้าวันห้าชุดห้าเครื่องแบบ

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอำนาจนิยม หรือการปลูกฝังลัทธิเผด็จการอะไรในโรงเรียน แค่คิดเรื่องภาระของผู้ปกครองในการดูแลชุดนักเรียนอันมากมาย จุกจิก หยุมหยิม การซักการรีด การมีชุดนักเรียนที่เรียบง่าย ดูแลง่าย ใส่สบาย มีความคลาสสิคมินิมอลในตัว ก็น่าจะทำให้ชีวิตเราทุกคนง่ายขึ้น

จริงหรือไม่?

ฉันถามจริงๆ คนที่บ้าบอ กรีดกราดเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ถ้าฉันเสนอให้เปลี่ยนเป็นเครื่องแบบแบบที่ฉันว่ามา จะเห็นดีด้วยหรือไม่?

อธิบายได้หรือไม่ว่าเครื่องแบบนักเรียนของไทยเหมือนชุดข้าราชการอาณานิคม หรือกะลาสีเรือยุคสงครามโลกที่นักเรียนไทยใส่อยู่ทุกวันนี้ มันสวยงามตรงไหน?

และอย่ามาอ้างเรื่องความเป็นไทยให้ได้ยิน เพราะหัวจรดเท้าในชุดนักเรียน ไม่มีอะไรที่เป็น “ไทย” มาตั้งแต่ต้น เสื้อเชิ้ต กางเกง กระโปรง คอซอง ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นฝรั่ง ล้วนแต่เป็นของใหม่ และหากเป็นของใหม่ๆ แล้วทำไมมันจะเปลี่ยนแปลงไม่ให้

ไม่ต้องมาอ้างเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ อะไรต่อมิอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์กว่านี้ โบราณสถานเอย อะไรเอย ยังปล่อยให้โดนทุบทิ้งไปตั้งเยอะตั้งแยะ สำมะหาอะไรกับชุดนักเรียน มรดกจอมพล ป. ที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

อย่ามาอ้างเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะถ้าซีเรียสความเหลื่อมล้ำจริงก็ต้องอยากเห็นประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการหรือดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจริงจัง

ถ้าซีเรียสเรื่องความเหลื่อมล้ำจริงต้องทำการปฏิรูปการศึกษาให้โรงเรียนของรัฐทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

เด็กจน เด็กรวย เด็กกรุงเทพฯ เด็กต่างจังหวัด เข้าถึงคุณภาพการศึกษาในคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน

อย่ามาทำเป็นโง่ – หรือโง่จริง – บอกว่า ชุดนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำ แต่จับเด็กมาแต่งตัวเหมือนกันมันลดความเหลื่อมล้ำยังไง

วันนี้จับ รมต.กระทรวงศึกษาแต่งตัวเหมือนคนไร้บ้าน มันจะทำให้ รมต.กับคนไร้บ้าน มีความเสมอภาค เท่าเทียมกันไหม? คำตอบคือไม่

อย่ามาอ้างว่า อย่างน้อยเด็กในโรงเรียนเดียวกันก็ไม่ต้องมาเปรียบเทียบกันว่าใครจนกว่า ใครรวยกว่า ใครใส่เสื้อผ้าแพงกว่า

เพราะความเป็นจริงก็คือ ในระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้น มันได้แบ่งออกไปโดยปริยายอยู่แล้วว่า เด็กมาร์แตร์ กับเด็กบ้านโคกอีรม มันคนละชั้น มันคนละเกรด คนละโลก

ประเทศไทยมีโรงเรียนสำหรับลูกคนรวย ลูกคนจน ลูกข้าราชการ ลูกอาจารย์มหาวิทยาลัย ลูกปัญญาชน ฯลฯ

แค่บอกว่า เด็กคนนี้เรียนโรงเรียนอะไรก็สามารถบอกสถานะทางสังคมเศรษฐกิจของเด็กคนนั้นได้เลย

ประเทศไทยไม่มีโรงเรียนที่เด็กจนมากๆๆๆๆ กับเด็กรวยมาก ได้มาเรียนรวมกันอยู่แล้ว ไม่ต้องประสาทอ้างว่า เดี๋ยวเด็กคนหนึ่งใส่เสื้อตัวละแสนมา แล้วเด็กอีกคนใส่ตัวละร้อยแล้วจะเกิดการเปรียบเทียบ

และโดยธรรมชาติของวัยรุ่น เด็กรวยมากๆๆๆๆ มีแนวโน้มอยากใส่เสื้อมือสองตัวละยี่สิบบาท เพื่อประชด ประท้วงพ่อ-แม่ ครอบครัวตัวเองที่เสือกรวยอย่างน่ารังเกียจด้วยซ้ำ

ประเด็นเครื่องแบบนักเรียนที่ฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการมีเหตุมีผลอะไรเลย

แต่เกิดจากความกลัว

กลัวจักรวาลจะเขยื้อน

กลัวว่าต่อไปนี้เด็กมันจะรู้ว่าที่หัวหงอกๆ มีอำนาจอยู่นี้แท้จริงแล้วไม่มีสมองหรือความรู้อะไรหรอก อาศัยอยู่มานานและโง่ให้เป็น แต่ไม่มีความรู้ความสามารถอะไรเลย

พูดง่ายๆ คือ กลัวว่าวันที่ความเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้วตัวเองจะถูกถอนหงอกและมีสภาพไม่ต่างจากผ้าขี้ริ้วกองหนึ่งที่ไร้ค่า ไร้ความหมาย ไม่มีใครมาเคารพนบนอบอีกต่อไป

จักรวาลมันจะพังลงมาต่อหน้าต่อตา เมื่อรับไม่ได้ ก็ต้องยันไว้ให้สุดความสามารถ ไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้น

แต่ยิ่งยันก็ยิ่งแย่ ยิ่งยันก็ยิ่งชัดว่าไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากอวิชชาพาปากพูดไปเรื่อยๆ เหมือนคนลืมวิธีการใช้สมองในการกลั่นกรองความรู้ ข้อมูลและเหตุผลไปโดยสิ้นเชิง

แล้วแบบนี้จะไม่ให้เด็กมันลุกมาถอนหงอกไหวหรือ?