คุยกับทูต : ยอน ธอร์กอร์ด สายสัมพันธ์ 400 ปี ไทย-เดนมาร์ก – “ฮุกกะ” และไทยในแดนนอร์ดิก

จากถนนสาทรอันวุ่นวายของกรุงเทพมหานคร มาสู่โอเอซิสอันเงียบสงบร่มรื่นเขียวขจีกลางเมืองในซอยสาทร 1 ที่พักพิงของนกนานาชนิดและต้นไม้เก่าแก่สูงตระหง่าน

ที่นี่คือที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ซึ่งเป็นทั้งทำเนียบหรือบ้าน และสำนักงานของเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชา

ด้วยบรรยากาศแวดล้อมที่ผ่อนคลายดูมีความเป็นกันเองของสถานที่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เดนมาร์กติดอันดับหนึ่งในห้าประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเสมอ จากรายงานความสุขโลกประจำปี 2020 (United Nations World Happiness Report 2020) ที่ได้เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้

เดนมาร์กเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสุขในสแกนดิเนเวียและมีคะแนนสูงในทุกหมวดหมู่ วิถีชีวิตของชาวเดนมาร์กและ” Hygge” ได้กลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก

ชาวเดนมาร์กมีความภาคภูมิใจในการมีช่องว่างความมั่งคั่งที่น้อยที่สุดในโลกรวมถึงการสนับสนุนทางสังคม

“การมีความสมดุลในชีวิตการงาน (Work-life balance) การทำงานที่มีประสิทธิผลมาก ในขณะเดียวกันก็มีเวลาอยู่กับครอบครัว”

“ประการต่อมาคือ Hygge เพื่อให้เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้ชาวเดนมาร์กมีความสุข จึงต้องเข้าใจ hygge ที่ออกเสียงว่า “hyoo-geh” อันเป็นความเชื่อของชาวเดนมาร์กในการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและ “ผาสุก” ที่รายล้อมไปด้วยครอบครัวและเพื่อนฝูง ร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนฝูง อ่านหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์”

“งานรัฐสวัสดิการของเดนมาร์ก (Danish Welfare State Works) เดนมาร์กมีความเท่าเทียมกันในระดับสูง และมีความรับผิดชอบร่วมกันในด้านสวัสดิการสังคม เช่น ชาวเดนมาร์กสามารถเข้าถึงบริการด้านการศึกษาและสุขภาพที่มีคุณภาพสูง”

นั่นคือเหตุผลบางประการทำให้เดนมาร์กติดอันดับหนึ่งในห้าประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเสมอ ที่เอกอัครราชทูตยอน ธอร์กอร์ด (His Excellency Mr. Jon Thorgaard) ชี้แจง และเล่าถึงความเป็นมา

 

“ผมเพิ่งมารับหน้าที่เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนครอบครัวยังคงอยู่ที่เดนมาร์ก เนื่องจากลูกชายเพิ่งเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) และลูกสาวก็ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย”

“นับเป็นครั้งแรกที่มาเมืองไทย แต่ด้วยหน้าที่การงานทำให้ได้เดินทางมาในภูมิภาคนี้หลายครั้ง”

“ผมมีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับราชวงศ์เดนมาร์กเมื่อเสด็จไปยังต่างประเทศ โดยเราพยายามส่งเสริมคุณค่าของเดนมาร์กรวมทั้งผลิตภัณฑ์ของเดนมาร์กเกี่ยวกับพลังงานทดแทน (renewable energy) อาหารที่ยั่งยืน (sustainable food) และเรื่องของสุขภาพ”

ท่านทูตยอน ธอร์กอร์ด มาทำงานพร้อมกับประสบการณ์มากมายในด้านการค้าและการพาณิชย์

ห้าปีที่ผ่านมา ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากรมสภาการค้า กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก และก่อนหน้านั้นประจำอยู่ที่นิวยอร์กในตำแหน่งรองกงสุลใหญ่เดนมาร์ก และผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนในเดนมาร์กและอเมริกาเหนือ

โดยท่านทูตจะรับหน้าที่เป็นประธานสภาการค้าเดนมาร์กประจำภูมิภาคอาเซียนด้วย

 

“ผมเติบโตในเมืองเอเบลทอฟต์ (Ebeltoft) ที่แปลว่าสวนแอปเปิล ซึ่งคุณพ่อของผมเคยเป็นนายกเทศมนตรีที่เมืองนี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 50 กิโลเมตรของเมืองออร์ฮูส (Aarhus) และในเมือง Ebeltoft นี้ก็มีความพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทยตรงที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งชื่อ Eastern Jutland Museum ซึ่งมีการจัดแสดง Siamese Collection เป็นสิ่งของต่างๆ จากประเทศไทย และนอกจากนี้ ที่เมือง Aarhus ก็ยังมีสถาปัตยกรรมจากประเทศไทยเพียงชิ้นเดียวในบริเวณพิพิธภัณฑ์ Moesgaard”

“บ้านไทย” เป็นบ้านไม้ทรงไทยอันเก่าแก่จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่ง ดร.เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา ภริยาของนาย Frantz Howitz อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและประธานมูลนิธิฝนหยาดเดียว เป็นผู้มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์เมื่อปี ค.ศ.1975 และมีการบูรณะซ่อมแซมบ้านทรงไทยดังกล่าวจากความร่วมมือและการสนับสนุนทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเดนมาร์ก ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน กระทรวงการต่างประเทศ กรมศิลปากร มูลนิธิฝนหยาดเดียว และพิพิธภัณฑ์ Moesgaard

ทั้งนี้ “บ้านไทย” เป็นสถาปัตยกรรมต่างชาติเพียงชิ้นเดียวในบริเวณพิพิธภัณฑ์ และเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานร่วม 400 ปีระหว่างไทยกับเดนมาร์ก

ภายในตัวบ้านมีพระพุทธรูปและของตกแต่งในบรรยากาศบ้านไทยและตัวบ้านแสดงถึงสถาปัตยกรรมของไทยที่หาดูได้ยาก

อนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Margrethe II of Denmark) ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชม “บ้านไทย” ด้วย

 

ราชอาณาจักรเดนมาร์กเป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิก และเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่ยังไม่เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร เดนมาร์กเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ มีแผ่นดินหลักตั้งอยู่บนคาบสมุทรจัตแลนด์ อยู่ทางทิศเหนือของประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางบกเพียงประเทศเดียว อยู่ทางทิศใต้ของประเทศนอร์เวย์ และอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสวีเดน

เดนมาร์กถูกโอบล้อมโดยรอบด้วยน้ำทะเล มีพรมแดนจรดทะเลเหนือและทะเลบอลติก มีธรรมชาติและสถาปัตยกรรมสวยงามสุดอลังการ รวมทั้งเกาะใหญ่น้อยมากมายกว่า 400 เกาะ

ประเทศไทยและเดนมาร์ก เริ่มติดต่อครั้งแรกในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี ค.ศ.1621 โดยเรือสินค้าเดนมาร์กได้นำปืนไฟมาขายที่ฝั่งเมืองตะนาวศรี

ต่อมาชาวเดนมาร์กได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร หลักฐานการติดต่อระหว่างไทยกับเดนมาร์กปรากฏอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1770 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่จาก Danish Royal Asiatic Company

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเดนมาร์กอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1858 เมื่อได้มีการลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) โดยสมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริกที่ 7 แห่งเดนมาร์ก (Frederick VII of Denmark) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้นทั้งสองประเทศได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

โดยในปี ค.ศ.1860 เดนมาร์กได้ตั้งสถานกงสุลที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผลมาจากสนธิสัญญาดังกล่าว

กงสุลเดนมาร์กคนแรกในประเทศไทยคือ นาย Frederick Carl Christian Koebke ซึ่งเคยเป็นกัปตันเรือใหญ่สยามและผู้ตรวจการการจัดการด้านศุลกากรมาก่อน

ส่วนประเทศไทยไม่ได้ใช้สิทธิในการส่งผู้แทนทางการทูตไปประจำอยู่ที่เดนมาร์ก

จนกระทั่งปี ค.ศ.1882 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนแรก

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1897 ทรงเป็นพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 (Christian IX of Denmark) และในปี ค.ศ.1899 เจ้าชายวัลเดมาร์ (Prince Valdemar) พระราชโอรสพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ได้เสด็จฯ เยือนไทย

ชาวเดนมาร์กที่มีความสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ พลเรือโทพระยาชลยุทธโยธิน หรืออองเดร ริเชอลิเออ (Andre” Richelieu) ที่ได้บัญชาการสู้รบกับกองเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำ ในเหตุการณ์ ร.ศ.112 (ค.ศ.1893)

เป็นผู้ออกแบบป้อมพระจุลจอมเกล้า เป็นผู้ริเริ่มรถรางสายแรกในไทยคือสายเจริญกรุง อีกทั้งก่อตั้งบริษัทรถไฟสายแรกระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำอีกด้วย

การอุทิศตัวเพื่อความสัมพันธ์ของไทยกับเดนมาร์ก นาย Richelieu จึงได้รับเกียรติอย่างสูงจากทั้งสองประเทศโดยรับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ Knight of Dannebrog ของเดนมาร์กและประถมาภรณ์ช้างเผือกของไทย

กรุงเทพฯ ยังเป็นที่ตั้งเริ่มแรกของบริษัทอีสต์เอเชียติกของเดนมาร์กตั้งแต่ปี ค.ศ.1884 ก่อนที่จะมีการเปิดสำนักงานใหญ่ในโคเปนเฮเกนและกลายเป็นหนึ่งบริษัทเดินเรือและค้าขายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

 

เดนมาร์กมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Parliamentary Democracy and Constitutional Monarchy)

รัฐสภาเดนมาร์กเป็นระบบรัฐสภาเดียว (Folketing) ปัจจุบันสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Margrethe II of Denmark) เป็นพระประมุขสตรีพระองค์แรก ส่วนเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี (Henrik, Prince Consort of Denmark) เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2018

สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กกับเจ้าชายเฮนริกมีพระราชโอรสร่วมกัน 2 พระองค์คือ เจ้าชายเฟรดเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก (Frederik, Crown Prince of Denmark) และเจ้าชายโจอาคิม (Prince Joachim of Denmark)

ในระหว่างวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การเสด็จฯ เยือนประเทศไทยครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชนและประเทศทั้งสองที่มีมาเป็นเวลาช้านานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

เดนมาร์กถือเป็นเพื่อนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยในยุโรปเหนือ โดยเมื่อปี ค.ศ.2018 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันฉลองวาระครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเดนมาร์ก

ท่านทูตยอน ธอร์กอร์ด กล่าวว่า

“และอีกไม่นาน เดนมาร์กและไทยจะร่วมกันเฉลิมฉลองความสำเร็จในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนับตั้งแต่วันที่ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ ปี ค.ศ.1621 ซึ่งจะเวียนมาบรรจบครบ 400 ปี ในปี ค.ศ.2021 ที่ใกล้จะถึงนี้ โดยจะมีการจัดงานอีเวนต์ตลอดปี ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในระดับราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน”

“และที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน”

ประวัติ

เอกอัครราชทูตยอน ธอร์กอร์ด

ประสบการณ์ในการทำงาน

2020- : เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชา

2015-2020 : หัวหน้าแผนกสภาการค้า กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก

2011-2015 : รองกงสุลใหญ่เดนมาร์กในนครนิวยอร์ก (New York) และผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนในเดนมาร์กและอเมริกาเหนือ

2006-2011 : รองหัวหน้าแผนกการลงทุนในเดนมาร์ก กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก

2003-2006 : หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์ สถานทูตเดนมาร์กประจำกรุงปราก (Prague) สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic)

2000-2003 : หัวหน้าแผนกสภาการค้า กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก

1997-2000 : หัวหน้าแผนกหน่วยงานเดนมาร์กเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม

1994 : ฝึกงาน ณ สถานทูตเดนมาร์กประจำกรุงริกา (Riga) ประเทศลัตเวีย (Latvia)

การศึกษา

2002 : Global Executive MBA- Copenhagen Business School and CALT-INSEAD

1996 : Cand. Scient. Pol. (Political Science), University of Aarhus, Denmark

1987 : Grenaa High School, Denmark

1985 : Blue valley High School, Kansas, USA

เครื่องอิสริยาภรณ์ : Knight of the Order of the Dannebrog (Denmark)

เกิด : วันที่ 30 เมษายน 1967 เมืองเอเบลทอฟต์ (Ebeltoft) ในเดนมาร์ก

สถานภาพ : สมรสกับนางคามิลลา (Camilla Haddad Thorgaard) บุตร Rasmus (เกิดปี 1998) และธิดา Alberte (เกิดปี 2001)