การลอบสังหาร “โมห์เซน ฟาครีซาเดห์” สะเทือนความมั่นคงตะวันออกกลาง

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โมห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวอิหร่าน ถูกลอบสังหารระหว่างเดินทางด้วยรถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีดำในเมืองแอบซาร์ด ห่างจากกรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศอิหร่านไปทางตะวันออกราว 80 กิโลเมตรเท่านั้น

ข่าวการเสียชีวิตของฟาครีซาเดห์ บุคคลที่หน่วยงานความมั่นคงของชาติตะวันตกมองว่าเป็น “บิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์อิหร่าน” เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

ขณะที่ทางการอิหร่านชี้ไปที่ “อิสราเอล” ศัตรูอันดับ 1 ของอิหร่านว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่านอีกครั้งหนึ่ง

นั่นถูกนำไปเชื่อมโยงกับการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พันธมิตรสำคัญของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาประกาศว่าจะเปิดฉากโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2021 นี้

ขณะที่ทรัมป์เองเคยประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และหันมาใช้มาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านอย่างหนักหน่วง

 

แน่นอนว่าการสังหารนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 4 คนด้วยกันระหว่างปี 2010 ถึง 2012 ขณะที่อีก 1 คนได้รับบาดเจ็บและรอดชีวิตจากการลอบสังหารไปได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลอิหร่านพุ่งเป้าการสังหารไปที่สถาบันข่าวกรองและปฏิบัติการพิเศษ หรือ “มอสซาด” หน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลอิสราเอลว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารทั้งหมด เช่นเดียวกันกับครั้งนี้ ขณะที่ทางการอิสราเอลไม่เคยออกมาปฏิเสธหรือยอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารดังกล่าว

มีเพียงอดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลที่เคยระบุเอาไว้ว่า “เราจะทำทุกทางและจะไม่ทนต่ออิหร่านที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ เรายินดีที่จะทำสิ่งนั้นผ่านการคว่ำบาตร แต่ในท้ายที่สุดแล้วอิสราเอลควรที่จะสามารถป้องกันตนเองได้”

 

ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ วัย 59 ปี ที่เป็นที่รู้จักในวงการนิวเคลียร์อิหร่าน แม้จะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็เป็นบุคคลสำคัญในระดับที่สามารถเข้าพบอะยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านได้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ด้าน พล.ร.ต.อาลี แชมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านออกมาเปิดเผยว่า ฟาครีซาเดห์ถูกลอบสังหารด้วยปฏิบัติการที่ซับซ้อนมาก โดยใช้อาวุธที่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์และไม่มีใครเลยที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และระบุว่า กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายอย่างขบวนการประชาชนมุญาฮิดีนอิหร่าน ร่วมมือกับรัฐบาลอิสราเอลและกองกำลังมอสซาดก่อเหตุลอบสังหารขึ้น

ขณะที่สำนักข่าวฟาร์ส สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลอิหร่านระบุว่าการลอบสังหารดังกล่าวใช้ “ปืนกลอัตโนมัติที่บังคับด้วยรีโมตคอนโทรล” ติดตั้งบนรถปิกอัพในการก่อเหตุ

ด้านประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน กล่าวหาว่า อิสราเอลเป็นผู้รับจ้างสหรัฐอเมริกา ให้ก่อเหตุลอบสังหารฟาครีซาเดห์อีกทอดหนึ่ง

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมอิหร่านระบุว่า ฟาครีซาเดห์ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล หลังจากเกิดเหตุคนร้ายกราดยิงรถที่ฟาครีซาเดห์นั่งอยู่และมีการยิงต่อสู้กันกับบอดี้การ์ดในที่เกิดเหตุ

แม้อิหร่านจะปฏิเสธสถานะของฟาครีซาเดห์กับความเกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน โดยระบุว่า เป็นเพียงหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่พยายามคิดค้นอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-19 ของอิหร่านเอง

อย่างไรก็ตาม อามีร์ อาตามี รัฐมนตรีกลาโหมอิหร่าน ระบุว่าฟาครีซาเดห์เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีช่วยและเป็นผู้จัดการองค์กรด้านการป้องกัน วิจัยและพัฒนา ของกระทรวงกลาโหมที่ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันนิวเคลียร์ และนั่นยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อฟาครีซาเดห์มีบอดี้การ์ดหลายคนคอยให้ความคุ้มครอง

 

สําหรับแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้นักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์มองว่า เป้าหมายในปฏิบัติการดังกล่าวอาจไม่ใช่การพุ่งเป้าขัดขวางโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลอิหร่าน แต่จะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า

แรงจูงใจในครั้งนี้ถูกมองว่ามีขึ้นเพื่อขัดขวางหนทางที่จะฟื้นสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา ที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างโจ ไบเดน เคยประกาศเอาไว้ว่าจะนำสหรัฐกลับสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านอีกครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อิสราเอลภายใต้การปกครองของเนทันยาฮู พันธมิตรสำคัญของทรัมป์ หรือแม้แต่ซาอุดีอาระเบีย อีกขั้วอำนาจในตะวันออกกลางเองก็เกรงว่า หากสหรัฐกลับสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทรัมป์ถอนตัวออกมาในปี 2018 จะทำให้อิหร่านกลับมาฟื้นคืนเศรษฐกิจได้ และกลับมาสร้างอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางได้อีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ที่ไบเดนเลือกให้ร่วมคณะรัฐมนตรีอย่างแอนโทนี่ บลินเคน ก็เป็นผู้ที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านอย่างหนักแน่นมาก่อนหน้านี้ด้วย

ขณะที่ในอิหร่านเองก็เกิดคำถามขึ้นว่า เพราะเหตุใดบุคคลสำคัญที่มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนาจึงถูกกลุ่มกองกำลังเข้าแทรกซึมก่อการในประเทศ ทั้งๆ ที่ทางการอิหร่านคุยโวมาโดยตลอดว่ามีหน่วยงานทางการทหารและข่าวกรองที่ยอดเยี่ยม

จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าการลอบสังหารครั้งนี้จะถูกรัฐบาลอิหร่านนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการบุกจับกุมตัวศัตรูทางการเมืองเพิ่มเติมอีกหรือไม่ด้วยเช่นกัน