คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ปฏิรูปศาสนา-การเมือง (ตอน 4) บทเรียนการสร้างรัฐฆราวาสแบบอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

การแยกศาสนาออกจากรัฐดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้ว หากนึกถึงแบบฝรั่งเศสก็อาจทำให้บางคนรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง เพราะนอกจากมันจะมาพร้อมประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ ก็ยังดูมีความเคร่งเครียด เช่น การห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในที่สาธารณะ ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียงอีกมาก

บางคนจึงอาจคิดว่ายังไม่เหมาะกับสังคมบ้านเรา

ผมคิดว่าหากเราต้องการตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการแยกศาสนาออกจากรัฐ หรือรัฐที่เป็นฆราวาสวิสัย (secular state) ที่มีความใกล้เคียงกับเราในด้านวัฒนธรรมและศาสนาแล้ว

จึงได้นึกถึง “อินเดีย” ครับ

 

อินเดียเป็นที่มาของศาสนาสำคัญในบ้านเราถึงสองศาสนาคือพุทธและพราหมณ์ ในปัจจุบันศาสนายังมีบทบาทอยู่มากในสังคมอินเดียไม่ต่างกับไทย

แม้ว่าทุกวันนี้รัฐบาลอินเดียจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ค่อยจะเป็น secular สักเท่าใด แถมมีนโยบายที่ออกไปทางฮินดูชาตินิยมโผล่มาในหลายครั้ง

กระนั้น รัฐธรรมนูญอินเดียก็ยังระบุความเป็น secular state เอาไว้โดยไม่มีใครกล้าไปเปลี่ยนแปลง และการโต้แย้งนโยบายรัฐบาลที่ออกไปทางฮินดูนิยมก็ยังคงมีอยู่ตามระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น ผมคิดว่ากรณีตัวอย่างการแยกศาสนาออกจากรัฐในอินเดีย อย่างน้อยที่เคยเป็นมาหรือที่ยังเป็นความพยายามอยู่ก็ตามแต่ น่าจะยังมีประโยชน์ต่อบ้านเราบ้าง

 

เราอาจเคยได้ยินว่าอินเดียมีความขัดแย้งทางศาสนาสูง ที่จริงความขัดแย้งทางศาสนามักเกิดจากผู้ปกครองรัฐที่มีความต้องการยกชูศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ หรือไม่ก็เกิดจากการสนับสนุนของกลุ่มก้อนทางการเมือง แต่นักบวชในศาสนา ศาสนิกหรือชาวบ้านเองมีความขัดแย้งกันน้อยมาก และพยายามจะประสานความขัดแย้งกันมาโดยตลอด

น่าสนใจว่า ความอดทนอดกลั้น (tolerance) ทางศาสนาในอินเดียนั้นเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมอินเดียเอง

นักวิชาการพบว่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกก็มีจารึกที่แสดงให้เห็นความอดกลั้นทางศาสนาอยู่ด้วย ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่เช่นถ้ำอชันตาและเอลโลร่าก็มีทั้งพุทธ ฮินดูและไชนอยู่ในบริเวณเดียวกัน ในยุคที่มุสลิมเข้ามาอยู่ในอินเดีย ขบวนการภักติหรือขบวนการที่เน้นความภักดีในพระเจ้าก็พยายามประสานรอยร้าวของฮินดูกับมุสลิม

ผมคิดว่าบ้านเราก็มีวัฒนธรรมแบบนี้นะครับ ในจารึกศาลพระกาฬก็พูดถึงนักบวชศาสนาต่างๆ ให้ถวายกุศลแก่พระเจ้าสุริยวรมัน ก็อยู่ร่วมกันได้ดี อย่างน้อยผีพราหมณ์พุทธเราก็นับถือกันมานัวๆ ปนๆ นี่แหละ

 

สมัยจักรพรรดิอักบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล พระองค์มีนโยบายผ่อนปรนทางศาสนาเป็นอย่างมาก แม้ว่าในบางยุคผู้นำมุสลิมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งเพราะใช้นโยบายแบบมุสลิมเข้มข้นกับศาสนิกอื่น เมื่ออังกฤษปกครองอินเดีย ข้าหลวงอังกฤษ Lord William Bentick ก็ส่งเสริมการปฏิรูปศาสนาและไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการทางศาสนาของอินเดีย

ก่อนได้รับเอกราช มหาตมะ คานธี ผู้ซึ่งเป็นฮินดูก็ได้สนับสนุนความหลากหลายทางศาสนาเพื่อรวมตัวกันในการต่อต้านอังกฤษ บัณฑิตเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียผู้ไม่นับถือศาสนา (จึงเห็นต่างกับคานธีอยู่มาก แต่ก็เกรงใจคานธี) เห็นชัดเลยว่าการเป็นรัฐฆราวาสคือหนทางไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ของอินเดีย

รัฐธรรมนูญอินเดียได้บรรจุคำว่า secular ลงไปในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญอินเดียไม่เคยโดนฉีกเลย เพราะอินเดียไม่เคยมีรัฐประหาร

แนวคิดเรื่อง secularism ในรัฐธรรมนูญอินเดียมีความต่างจากตะวันตกอยู่พอสมควร นักวิชาการ เช่น ราชีว ภารควะ (Rajeev Bhargava) เห็นว่ารัฐฆราวาสวิสัยแบบอินเดียรับเอาแนวคิด “ระยะห่างในเชิงหลักการ” (principled distance) ซึ่งรวมเอาการไม่จัดตั้งองค์กรทางศาสนาโดยรัฐมาจากตะวันตก กระนั้นก็ไม่ได้เคร่งครัดนักกับเรื่อง “การแยกศาสนากับรัฐ” ออกจากกันอย่างจริงจัง

นั่นนำมาสู่คำอธิบายที่น่าสนใจอีกอย่างจากเสวัล ยิลดิริม (Seval Yildirim) ซึ่งกล่าวว่า แนวคิดฆราวาสนิยมแบบอินเดียคือ “วาทกรรมเพื่อจะก่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่ที่ศาสนาและรัฐสามารถอยู่ร่วมกันได้ (Indian secularism as a discourse to reconstruct the political space so that religion and the state can co-exist)

 

อินเดียนั้นตระหนักถึงพลังของศาสนา ในแง่ที่เป็นทั้งคำอธิบายที่มีต่อโลกและชีวิตและยังเป็นอำนาจนำที่มีอิทธิพลสูงมากต่อผู้คน ลองนึกภาพประชากรหนึ่งพันสามร้อยล้านคนของอินเดีย ในนั้นมีผู้นับถือศาสนาฮินดูถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แม้ผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ามากๆ ก็ยังมีประชากรถึงร้อยแปดสิบล้านคน (มากกว่าสองเท่าของประชากรไทย)

ด้วยเหตุนี้การพยายามลดหรือขจัดอำนาจของศาสนาเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในการเริ่มต้นรัฐฆราวาสของฝรั่งเศส จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำหรือทำได้ยาก ที่จริงการพยายามแยกศาสนาออกจากรัฐในฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งก็เพราะนักปฏิวัติเห็นว่าศาสนจักรคืออำนาจหนุนหลังสถาบัน แต่ในอินเดียมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป เพราะอังกฤษในฐานะผู้วางรากฐานทางการเมืองอินเดียก็กำจัดจักรพรรดิองค์สุดท้ายไปนานแล้ว ศาสนาจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองคนละแบบ อีกทั้งอังกฤษเองก็เคยมีบทเรียนแล้วว่า การเข้าไปยุ่มย่ามเรื่องศาสนาในอินเดียไม่เป็นผลดี

ส่วนรัฐบาลของอินเดียเอง การตระหนักว่าศาสนามีอำนาจต่อผู้คนจำนวนมาก การยุ่มย่ามมากไปก็อาจเป็นอันตรายเช่นกัน การแสวงหาการอยู่ร่วมกันโดยมีระยะพอสมควรจึงกลายเป็นลักษณะสำคัญของฆราวาสนิยมในอินเดียไปในที่สุด

ในทางปฏิบัติรัฐอาจส่งเสริมอุดหนุนศาสนาก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกัน ซึ่งแสดงถึง “ระยะ” ที่ควรเป็น เช่น รัฐไม่สามารถจะส่งเสริมศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องส่งเสริมทุกศาสนาเท่าๆ กัน

 

เราลองนึกเล่นๆ ดูก็ได้ครับว่า ฮินดูมีประชากรแปดสิบเปอร์เซ็นต์จากพันสามร้อยล้านคน แม้จะเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมหาศาล ก็ยังไม่มีการระบุให้ฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ กระนั้นในทางปฏิบัติรัฐบาลบางชุดอาจแอบๆ เอื้อประโยชน์หรือสนับสนุนฮินดูออกนอกหน้าบ้างเพื่อผลทางการเมือง

ทว่าเมื่อแนวนโยบายส่งเสริมฮินดูแบบนี้เกิดขึ้น ก็จะโดนฝ่ายค้านและนักฆราวาสนิยมด่าว่าเป็นการ “ย้อมส้ม” (saffronisation) สีของหญ้าฝรั่น (saffron) ที่เหลืองส้มนั้นคือสีจีวรของนักบวชฮินดู

คำว่าย้อมส้มจึงเป็นคำทางการเมืองที่หมายถึงความพยายามของฝ่ายขวาฮินดูในการสร้างนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อฮินดูเอง ไม่ว่าจะชัดแจ้งหรือแอบแฝง

เช่น การกำหนดให้วันคริสต์มาสเป็นวันทำความสะอาดอินเดีย

นักวิจารณ์กล่าวว่า นี่คือการย้อมส้ม เพราะเป็นนโยบายที่ดูดีอย่างเผินๆ แต่ที่จริงแล้วคือการลดทอนความสำคัญของวันสำคัญทางศาสนาอื่นๆ ที่มิใช่ฮินดู

ดังนั้น ฆราวาสนิยมของอินเดียจะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อระบบรัฐสภาเข้มแข็ง ฝ่ายค้านทำงานหนักและจริงจัง ประชาชนให้ความสำคัญกับการเมือง กล่าวคือ มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเป็นรากฐาน

 

แม้องค์กรทางศาสนาในอินเดียจะเป็นองค์กรเอกชน แต่รัฐอาจดูแลอยู่หลวมๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นนั้นๆ อีก

ด้วยความที่รัฐไม่อาจตั้งองค์กรทางศาสนาได้เหมือนอย่างบ้านเรา องค์กรทางศาสนาจึงเข้าไปดูแลกันเอง เช่น ศาสนาฮินดูของอินเดียมีการตั้ง “อาจารยสภา” โดยบรรดานักบวชในนิกายต่างๆ มารวมตัวกัน เพื่อมีความเห็นต่อข้อปฏิบัติหรือคำสอน แต่องค์กรนี้ก็ไม่มีอำนาจในการจับสึกหรือล้มล้างสำนักนิกายที่ไม่เห็นด้วยกับตน เป็นเพียงแต่เสนอความเห็นเท่านั้น

อ่อ อีกอย่างที่อยากจะบอกคือ แม้อินเดียจะเป็นรัฐฆราวาสมานาน ศาสนาก็ไม่ได้เสื่อมลงอย่างที่ใครๆ กลัวกัน แม้ไม่มีรัฐหรือกษัตริย์อุปถัมภ์ศาสนาก็อยู่ได้ ผมคิดว่าความกลัวว่าหากเรากลายเป็นรัฐฆราวาสเต็มตัวแล้วศาสนาจะพังพินาศนั้น เป็นความกลัวที่เกินจริงไปมากๆ ในทางตรงกันข้าม ศาสนากลับเจริญเฟื่องฟูหลากหลายกว่าที่เคยเป็นด้วยซ้ำ

ดังนั้น ขอเสนอแนวทางฆราวาสนิยมแบบอินเดียเผื่อเป็นแนวทางที่ค่อนข้าง “compromise” ไว้ อย่างน้อยอินเดียก็เป็น “ครู” ของเรามาโดยตลอด

ไหนๆ เขาก็เป็นครูของเราในทางศาสนาและวัฒนธรรมแล้ว

ลองเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากเขาบ้างก็คงดี