ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องเพศชาย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
© 2004 -- Ron Reznickhttp://www.digital-images.net[#Beginning of Shooting Data Section]Nikon D2HFocal Length: 28mmOptimize Image: Color Mode: Mode II (Adobe RGB)Noise Reduction: OFF2004/10/30 03:30:18.7Exposure Mode: Aperture PriorityWhite Balance: Color Temp. (5900 K) Tone Comp: Less ContrastRAW (12-bit) Metering Mode: Multi-PatternAF Mode: AF-CHue Adjustment: 0°Image Size: Large (2464 x 1632)1/45 sec - F/2Flash Sync Mode: Not AttachedSaturation: Exposure Comp.: -0.7 EVSharpening: NormalLens: 28mm F/1.4 DSensitivity: ISO 200Image Comment: [#End of Shooting Data Section]

โดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่า คติการบูชา “เครื่องเพศชาย” เป็นเรื่องของพวก “พราหมณ์-ฮินดู” เป็นการเฉพาะ เราเลยมักจะมีโอกาสได้เห็นการเหมารวมไปแบบมึนๆ กันว่า “ปลัดขิก” กับ “ศิวลึงค์” คือของสิ่งเดียวกัน

ในแง่ของต้นกำเนิดก็คงจะไม่ผิดนัก

แต่ในแง่ของประวัติพัฒนาการและหน้าที่การใช้งานในสังคมนี่ต่างกันเป็นหนังคนละม้วนเลยนะครับ

 

ก่อนที่เราจะยอมรับนับถือเอาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ที่เข้ามาในอุษาคเนย์พร้อมๆ กับพระพุทธศาสนา) ในช่วงราว พ.ศ.1000 เป็นต้นมา เราก็มีการนับถือบูชา เครื่องเพศชาย ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือของขลัง มาก่อนอยู่แล้ว ไม่ต่างอะไรกับอีกหลายๆ สังคมวัฒนธรรมทั่วทั้งโลก

ในลัทธิความเชื่อ หรือศาสนาแบบดั้งเดิมของวัฒนธรรมทั้งหลาย มักให้ความสำคัญกับเครื่องเพศ ทั้งชายและหญิง ในฐานะสัญลักษณ์ของการก่อกำเนิด และความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในสังคมเกษตรกรรม

ฉากของท้องฟ้าที่มีฝนตกพรำลงบนท้องทุ่งเขียวขจี ไม่ว่าพืชผลที่อยู่ในท้องทุ่งนั้นจะเป็น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เล่ย์ หรือพืชพันธุ์ธัญญาหารชนิดไหนๆ ย่อมทำให้เจ้าของท้องทุ่งยิ้มกริ่มมากกว่าจะร้องไห้ เพราะนั่นทำให้สามารถคาดหวังได้ถึงผลผลิตที่จะผลิดอกออกผลตามมา

ในสังคมที่รู้จักการเกษตรกรรมแล้ว จึงมักจะสร้างบุคลาธิษฐานของ “ท้องฟ้า” ในรูปของ “ผู้ชาย” ที่หลั่ง “ฝน” คือ “เชื้อแห่งชีวิต” ลงมายังพื้น “แผ่นดิน” ที่มักแสดงแทนด้วยรูป “ผู้หญิง” เชื้อแห่งชีวิตเมื่อตกต้องสู่พื้นดินย่อมก่อกำเนิดให้มี “ชีวิต” คือ “ผลผลิต” เหมือนการสังวาสกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆ

เครื่องเพศทั้งชายและหญิงจึงเป็นสัญลักษณ์ของการก่อกำเนิด และความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เรื่องอุจาดหยาบคายตามอย่างความคิดในสมัยหลัง

 

แต่ในบรรดาศาสนาสากลยุคใหม่ (เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นต้น) มีเพียงศาสนาพราหมณ์เท่านั้น ที่ประสบผลสำเร็จในการนำเอารูปเครื่องเพศในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ตามอย่างลัทธิศาสนาดั้งเดิม เข้ามาผนวกเข้ากับระบบสัญลักษณ์ในศาสนายุคใหม่ของตนเอง

ซ้ำยังไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ชั้นรอง แต่กลับพัฒนาเข้ามาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศาสนา ด้วยการผนวกเข้าเป็นตัวแทนขององค์พระอิศวร (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พระศิวะ) ที่เรียกว่า “ศิวลึงค์”

การผนวกเครื่องเพศชายเข้าเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรมีทั้งการพรรณนาคุณลักษณะของพระองค์ให้มี “เครื่องเพศที่ตั้งตรงอยู่เสมอ” ที่มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “อูรธวลึงค์”

(อย่าเพิ่งคิดว่าผมลามกจกเปรตนะครับ เครื่องเพศชายในระบบสัญลักษณ์นั้นต้องตั้งตรงพร้อมรบอยู่เสมอ เพราะเครื่องเพศเหี่ยวๆ นั้นไม่สามารถก่อให้เกิดชีวิตใหม่ หรือผลิตผลใดๆ ได้)

และการสร้างเทพปกรณ์ของพระอิศวรให้เกี่ยวข้องกับเครื่องเพศ

 

เทพปกรณัมที่ถือเป็นตัวอย่างสำคัญตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คือเรื่อง “ลึงโคทภวมูรติ” ที่เล่าถึงการกำเนิดของโลกว่า ในครั้งนั้นพระพรหมกำเนิดขึ้นด้วยตัวเอง หันซ้ายแลขวาพบว่าไม่มีใคร ก็นึกกระหยิ่มว่าตนเองเป็นผู้สร้างโลกนี้ขึ้น

พระนารายณ์ก็เช่นกัน พระองค์กำเนิดขึ้นเอง เหลียวหน้าแลหลังไม่พบใครก็ไพล่คิดไปเองว่าเป็นผู้ให้กำเนิดโลก

ทั้งสองต่างท่องออกไปในโลกนั้นตามลำพังจนปะหน้ากันเองก็ประหลาดใจว่าอีกฝ่ายเป็นใคร ตนเองไม่ได้สร้างขึ้นมาเสียหน่อยจึงถกเถียงกัน

ทันใดนั้นก็มีเสาไฟใหญ่ยักษ์ปรากฏตัวขึ้น เทพเจ้าทั้งสองจึงตกลงกันว่าฝ่ายไหนค้นพบส่วนยอด หรือส่วนโคนของเสาต้นนี้ก่อน ถือว่าเป็นผู้ชนะ อีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผู้สร้างโลกใบนี้ขึ้นมา

พระนารายณ์จึงจำแลงร่างเป็นหมูป่าแล้วขุดลึกลงไปในดินเพื่อหาโคนเสา ส่วนพระพรหมก็เสกหงส์ขึ้นมาตัวหนึ่งแล้วเหาะบินขึ้นไปดูยอดของเสานั้น

แต่เทพปกรณ์นี้คงเป็นที่นิยมในอินเดียอยู่มากจึงมีอยู่หลากหลายสำนวนและมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

ผมขออนุญาตสรุปตอนจบของเรื่องอย่างกระชับไว้ ณ ที่นี้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างหาไม่พบ พระอิศวรจึงปรากฏพระองค์ออกมาจากเสาไฟต้นนั้นแล้วกล่าวว่า พระองค์ต่างหากที่เป็นผู้สร้างโลก

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ปกรณ์เรื่องนี้มีหลากหลายสำนวน อยู่ในปุราณะ หลากหลายฉบับ ที่เรียกว่า “ลึงโคทภวมูรติ” ไม่ใช่ชื่อเรื่องของปกรณ์

แต่เป็นชื่อเรียกภาพสลักหรือภาพเขียนที่เล่าถึงเรื่องราวในตอนนี้ซึ่งมักสลักเป็นภาพเสาขนาดใหญ่ มีพระอิศวรปรากฏพระองค์อยู่ภายในเสา มีพระพรหมทรงหงส์อยู่ด้านบนของเสา และรูปหมูป่าจำแลงคือพระนารายณ์อยู่ทางด้านล่าง

ที่สำคัญคือเสาต้นที่ว่าหลายครั้งจะสลักเป็นรูปทรงของเครื่องเพศชาย

ก็ “ศิวลึงค์” นั่นแหละครับ

ในระบบสัญลักษณ์สมัยโบราณเหล่านี้ “เสา” มีความหมายใกล้เคียงกับ “เครื่องเพศชาย” เป็นอย่างมาก และเสาก็ถูกใช้ในความหมายของการค้ำยันระหว่างพื้นดินกับท้องฟ้า จนทำให้เกิดพื้นที่ว่าง ซึ่งก็คือ “โลก” นั่นเอง

ระบบสัญลักษณ์อย่างนี้จึงสอดคล้องกันพอดิบพอดีกับคติที่มอบให้เทพเจ้าแห่งสวรรค์หรือฟากฟ้าเป็นผู้ชาย สมสู่กันกับพระแม่ธรณีที่เป็นผู้หญิง จึงเกิดเป็นผลิตผล

และคงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าเสาคืออะไร?

 

ถ้ายังนึกไม่ออก ลองดูตัวอย่างในเทพปกรณ์เรื่องหนึ่งของกรีกที่เล่าถึงว่า พระแม่ธรณีไกอา (Gaia) แค้นเทพยูเรนัส (Uranus) เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ผู้เป็นพระสวามีของตนเองที่จับเอาคณะเทพไททัน (the Titans) ซึ่งเป็นลูกๆ ของตนเองโยนลงไปในหุบเหวที่ลึกที่สุดในโลกที่เรียกว่า ทาร์ทารัส (Tartarus)

พระนางจึงมอบ “เคียว” ให้ลูกคนสุดท้องที่คือ เทพเจ้าแห่งกาลเวลา ที่ชื่อว่า โครนัส (Cronus) เป็นอาวุธไปช่วยปลดปล่อยพี่ๆ ของตนเองพร้อมกันกับพระนาง

เมื่อทั้งสองไปถึงวิมานของยูเรนัส ปรากฏว่าพระองค์หลับอยู่ โครนัสจึงย่องเข้าไปเจี๋ยนพระบิดาของตนเองเสียจนเป็นหมัน แล้วโยนเครื่องเพศที่ตัดมานั้นทิ้งไปในทะเล จากนั้นยูเรนัสก็หายไป บัลลังก์ของพระองค์ตกเป็นของโครนัส พร้อมกับที่ปลดปล่อยคณะเทพไททันออกมา

บางท่านอธิบายว่า การที่โครนัสเจี๋ยนพ่อของตัวเองทำให้ ยูเรนัสแยกตัวออกจากแผ่นดินไปเป็นท้องฟ้า เพราะตามเทพปกรณ์ “ฤดูกาล” ซึ่งหมายถึง “เวลา” ก็เริ่มหมุนเดินตั้งแต่ตอนนั้น ยูเรนัสจึงกลายเป็นเทพแห่งกาลเวลา

ในขณะเดียวกัน “โลก” ในความหมายของ “การดำเนินไป” ก็ได้เกิดขึ้น แต่บางท่านก็อธิบายต่างไปว่า เทพปกรณ์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพวกนักรบกัลลา (Galla warrior) ในแอฟริกาตะวันออกยุคโบราณ ที่จะพกเคียวเล็กๆ ไปด้วยในขณะทำสงครามเพื่อใช้สำหรับทำหมันฟรีให้กับศัตรู

ไม่ว่าที่จริงแล้วจะเป็นอย่างไรก็ตาม ยุคของยูเรนัสก็หมดไป และโลกก็กลายเป็นของโครนัส ด้วยการตัดเครื่องเพศของพ่อตัวเอง

 

การนับถือเครื่องเพศ และใช้เป็นสัญลักษณ์ในแง่ของการให้กำเนิด ความอุดมสมบูรณ์ หรือเรื่องของกำเนิดโลก และจักรวาล จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นสากลในหลากหลายวัฒนธรรมทีเดียว อุษาคเนย์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เราใช้เครื่องเพศชายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือเงินทอง

ความเชื่อทำนองนี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เราจึงยังเห็นพ่อค้าแม่ขายนำปลัดขิกตีใส่ส้มตำ เสื้อผ้า หรือสินค้าอื่นๆ พร้อมคำว่า เฮงๆ ด้วยหวังจะอุดมสมบูรณ์ด้วยเงินทอง การเข้ามาของศิวลึงค์พร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์จึงอาจจะไม่ใช่ของแปลกใหม่นัก นอกจากปกรณัมที่ต่างกันออกไปเท่านั้น

แต่เทพปกรณ์เกี่ยวกับศิวลึงค์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อแต่ดั้งเดิมได้ทั้งหมด แน่นอนว่า “ลึงค์” ตามธรรมชาติ คือหินที่ตั้งโดดขึ้นมาเป็นทรงคล้ายเครื่องเพศชาย ของดั้งเดิมที่ชาวอุษาคเนย์นับถือมาก่อนในศาสนาผี ถูกจับบวชพราหมณ์กลายเป็น “ศิวลึงค์” เสียหลายแห่ง วัดภู ในลาวก็ใช่ ปราสาทตาเมือนธม ที่สุรินทร์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดน นั่นก็ใช่ แต่ความเชื่อเรื่องศิวลึงค์ก็ไม่สามารถสวมทับความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องเพศชาย ที่เหลือคำให้เราใช้ในปัจจุบันว่า ปลัดขิก ได้ทั้งหมด

เพราะพราหมณ์จะไม่พกศิวลึงค์ไว้กับตัวแน่ และแม่ค้าส้มตำก็ย่อมไม่เอาศิวลึงค์มาเคาะใส่จานชาม ครก เครื่องมือทำมาหากินอื่นๆ และสินค้าของเธอเช่นกัน

ปลัดขิก จึงเป็นร่องรอยความเชื่อพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่เหลือรอดจากการถูกจับบวชเข้าไปทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์