มติแก้รัฐธรรมนูญ : อีกเหลี่ยมคูหรือจริงใจ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 จบลงด้วยการลงมติรับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ร่าง และไม่รับหลักการอีก 5 ร่าง เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

2 ร่างที่รับหลักการคือ ร่างของฝ่ายค้านและร่างของรัฐบาลที่ยอมให้มีการแก้ไข มาตรา 256 ในส่วนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเห็นเหมือนกันที่จะให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกือบทั้งฉบับ โดยยกเว้นเฉพาะหมวดหนึ่ง บททั่วไป และหมวดสอง พระมหากษัตริย์

ส่วนอีก 5 ร่างที่ไม่รับหลักการนั้น สี่ร่างเป็นญัตติแก้ไขรายมาตรา และอีกหนึ่งร่างเป็นร่างของประชาชนที่ไอลอว์รวบรวมรายชื่อเสนอให้มีการแก้ไขทั้งในประเด็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตั้ง ส.ส.ร. และการแก้ไขรายมาตรา รวมทั้งหมดประมาณ 10 ประเด็น

ร่างของไอลอว์ดูจะซับซ้อนที่สุด เนื่องจากแก้หลายประเด็นไปพร้อมกันและพัวพันเกี่ยวข้องกับกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ ดังนั้น ในทางเทคนิคการรับร่างดูจะเป็นปัญหามากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในเนื้อหาของร่างทั้งห้าฉบับที่รัฐสภาไม่รับหลักการแล้ว

มีสิ่งที่ต้องใคร่คิดว่า นี่คือสิ่งที่เหมาะสม หรือเป็นเหลี่ยมคูทางการเมืองหรือเป็นการก้าวพลาดอีกครั้งของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้

การปฏิเสธการนำวุฒิสภาออกจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญญัตติที่ 4 ที่พรรคฝ่ายค้านนำเสนอ มีหลักการสำคัญคือ การยกเลิกมาตรา 272 ที่กำหนดให้ในช่วงห้าปีแรกของการมีรัฐสภาชุดปัจจุบัน ให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนในการลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในบ้านเมืองถูกโจมตีมาโดยตลอดว่า นี่คือกลไกการสืบทอดอำนาจ เนื่องจาก ส.ว.ถูกแต่งตั้งโดย คสช. และหัวหน้า คสช. คือคู่แข่งในการเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรี

ในช่วงที่ผ่านมา มีสมาชิกวุฒิสภาหลายรายแสดงจุดยืนในการคืนอำนาจดังกล่าวให้แก่สภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่งตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังเคยเปรยถึงแนวคิดดังกล่าวว่าไม่ขัดข้องหากจะยกมาตราดังกล่าวออก

มองในมุมของ ส.ว.และนายกรัฐมนตรี คงเห็นเหมือนกันว่านี่คือเผือกร้อน เป็นลาภที่ได้มาโดยมิชอบ สมควรคืนเจ้าของไป ยิ่งเก็บไว้กับตัว ยิ่งเป็นภัย ในเมื่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่จะสนับสนุนนั้นเกินกว่าเพียงพอแล้วหากจะลงมติอีกกี่ครั้งก็ตาม

แต่มองในมุมของฝ่ายอนุรักษ์ที่ไม่มั่นใจไม่กล้าเสี่ยง

การมี ส.ว.เพื่อสนับสนุนการเลือกนายกรัฐมนตรียังคงเป็นความปลอดภัยสูงสุดที่ไม่ให้อำนาจในมือต้องหลุดลอยไป ทั้งในกรณีนายกฯ ลาออก หรือมีอุบัติเหตุทางกฎหมาย หรือในกรณีมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

เมื่อตัดสินใจเลือกโดยลงมติคงมาตราดังกล่าวต่อไป จึงเป็นเรื่องที่มุ่งเอาชนะในแต้มคูการเมืองโดยคำนวณแล้วว่าแม้จะเป็นประเด็นที่ถูกโจมตีแต่ก็คุ้มค่าราคากับสินค้าความปลอดภัยทางการเมืองที่ได้รับ

การไม่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบบัตรสองใบ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติที่ 6 ของพรรคฝ่ายค้าน เป็นการเสนอให้มีการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ให้กลับไปใช้ระบบบัตรสองใบ

คือ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเป็นการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามแบบอย่างที่เคยมีมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550

การลงมติไม่รับหลักการในเรื่องดังกล่าว มีเหตุผลที่แสดงต่อสาธารณะในทำนองว่า ในเมื่อจะมี ส.ส.ร.ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างการได้มาของฝ่ายนิติบัญญัติจึงควรเป็นประเด็นที่ไปถกเถียงหาคำตอบกันในสภาร่างรัฐธรรมนูญ

แต่สิ่งที่น่าวิตกคือ กว่าการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะแล้วเสร็จอาจใช้เวลาปีครึ่งถึงสองปี

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว หากมีการยุบสภาต้องเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งยังต้องใช้รูปแบบเดิม พรรคที่ชนะในเขตเลือกตั้งมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว การคำนวณแบบปัดเศษจะยังมีต่อไป พรรคที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศแค่สามหมื่นคะแนนยังคงได้ตำแหน่ง ส.ส.จากการปัดเศษ สภาจะประกอบด้วยพรรคหนึ่งเสียงมากมาย การจัดตั้งรัฐบาลที่มุ่งกวาดต้อน ส.ส.ปัดเศษยังเกิดขึ้นต่อไป

การเมืองไทยแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่อาศัยเงินและตำแหน่งยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

การตัดสินใจเดินเกมในลักษณะเดิมนี้ ท้ายสุดอาจเป็นผลเสียต่อพรรคพลังประชารัฐเอง เพราะขณะนี้เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงสูงเป็นอันดับสองของสภา

หากในกรณีที่เลือกตั้งแล้วพรรคดังกล่าวชนะในเขตต่างๆ เป็นจำนวนมาก ภาวะไร้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เคยเกิดกับพรรคเพื่อไทยอาจพลิกกลับมาเกิดที่พรรคพลังประชารัฐได้

เกมของการล้มญัตติดังกล่าว จึงเป็นเกมเสี่ยงของผู้มีอำนาจ โดยพยายามอ่านว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย แต่โอกาสที่อ่านเกมผิดก้าวพลาดทางการเมืองมีครึ่งครึ่ง

การเดินเกม ส.ส.ร.แบบลูกผสม

ตัวแบบ ส.ส.ร.ที่อยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่สองของพรรคร่วมรัฐบาล กำหนดองค์ประกอบของ ส.ส.ร.เป็นสองส่วนคือ ส่วนแรก 150 คนมาจากการเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และอีก 50 คน มาจากการคัดเลือกโดยแบ่งเป็น 20 คนจากการคัดเลือกของรัฐสภา 20 คนมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมอธิการบดี และ 10 คนมาจากการเลือกตั้งของนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดย กกต.เป็นผู้ดำเนินการ

การกำหนดสัดส่วนดังกล่าวเป็นหลักประกันพอสมควรได้ว่า จะมีทั้งตัวแทนฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการร่างกฎหมาย ตลอดจนคนรุ่นใหม่เข้าไปเป็นองค์ประกอบในการร่างกติกาสำคัญของประเทศ

การแก้ข้อครหาในเรื่องการส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปใน ส.ส.ร. ทำได้โดยการให้มีสัดส่วนของ ส.ส.ร.ในโควต้าของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะทำให้เกิดความหลากหลายและถ่วงดุล

เช่นเดียวกับการคัดเลือกจากที่ประชุมอธิการบดี ควรมีการกำหนดสัดส่วนจากมหาวิทยาลัยแต่ละประเภท เช่น จากมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น มิเช่นนั้น อาจเกิดการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สามารถครองเสียงลงคะแนนได้มากกว่า

ส่วนการเลือกจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นโจทย์ที่สมควรทบทวน แม้ว่าจะเป็นการดูเสมือนเปิดกว้าง แต่วิธีการคัดเลือกยังเป็นโจทย์ใหญ่ของ กกต. และเมื่อเลือกมาแล้วจะสามารถทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้หรือไม่ ในเมื่อยังมีภารกิจในการเรียนหนังสือในห้องเรียนอยู่

ดังนั้น ในวาระสองในขั้นของการแปรญัตติ หากมีการถกเถียงและพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติและองค์ประกอบของผู้มาเป็น ส.ส.ร.ได้เหมาะสมก็จะเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศ

ยืดกรอบได้ประโยชน์หรือยื้อเวลา

การกำหนดกรอบเวลาในการร่างถึง 240 วัน หรือแปดเดือน เป็นกรอบเวลาที่ยาวพอสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยังมีเวลาเพียงพอที่จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่ตรงกับความต้องการของประชาชน

แต่หากรวมเวลาทุกกระบวนการ เช่น จากวันนี้ กว่าที่ญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระสาม อาจใช้เวลาอีก 2 เดือน ใช้เวลาเพื่อทำประชามติ 4 เดือน การสรรหา ส.ส.ร. 2 เดือน การทำงานของ ส.ส.ร. 8 เดือน ขั้นตอนการเข้ารัฐสภา 2 เดือน รวมแล้ว 18 เดือน หรือหนึ่งปีครึ่ง แต่หากต้องทำประชามติหลังอีกครั้ง ต้องทอดเวลาอีก 3-4 เดือน รวมเป็นเกือบ 2 ปีเต็ม

ระยะเวลาดังกล่าวก็เปรียบเสมือนการยื้อเวลาให้รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนเกือบครบวาระ

หากทุกอย่างเป็นไปตามเจตนาดีโดยให้เห็นความคืบหน้าตามลำดับที่สะท้อนถึงความจริงใจมิใช่เป็นเพียงเหลี่ยมคูทางการเมืองเพื่อการอยู่ในอำนาจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนผ่านในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่ค่อยเป็นค่อยไปโดยสงบ

แต่หากเป็นแค่เล่ห์หลอกล่อให้ตายใจ คงต้องภาวนาว่าให้ท่านมีทางลงที่สวยงาม