หนุ่มเมืองจันท์ : คิดแบบ “ไม่คิด”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน “จุ้ย” ศุ บุญเลี้ยง มาบรรยายที่ ABC

เขาเอาภาพกระดาษแผ่นหนึ่งขึ้นจอ

มีตัวอักษรเขียนกระจัดกระจายเต็มหน้ากระดาษ

ทุกคำ ทุกประโยค สามารถตีความได้หลายอย่าง

จะเป็นชื่อร้าน ชื่อเรื่อง ชื่อหนัง ชื่อเพลง ก็ได้

ที่สำคัญแต่ละชื่อไม่ได้เกี่ยวพันกันเลย

ครับ กระดาษแผ่นนี้คือ ที่มาของชื่อวงดนตรีวงหนึ่ง

… “เฉลียง”

ผมจำชื่อต่างๆ ที่เขียนในกระดาษแผ่นนั้นไม่ได้ แต่หลายชื่ออ่านแล้วขำมากเวลานึกว่าถ้าชื่อนั้นมาแทนชื่อ “เฉลียง”

ไม่จืดเลยครับ

พอเห็นกระดาษที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงเฉลียง ทำให้นึกต่อจิ๊กซอว์ความคิดได้

“พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์ มีหลายวิธีคิดในการสร้างสรรค์งาน และวิธีคิดหนึ่งที่เขาใช้เป็นประจำเวลาคิดอะไรไม่ออก

ก็คือ การใช้ปากกาเขียนอะไรบนกระดาษ

วาดรูปบ้าง เขียนคำบ้าง

เขียนไปเรื่อยๆ

แล้วสุดท้ายก็จะเกิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา

ถ้าอธิบายตามหลักการสร้างนวัตกรรม ก็ต้องบอกว่าเป็นขั้นตอนของการสร้าง “ทางเลือก”

คือ ปล่อยของออกมาแบบไม่ต้องกลัวโง่

คิดอะไรได้ก็ยิงออกมา

จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอน “การเลือก”

ชื่อวงเฉลียงก็เช่นกัน “พี่จิก” เขียนชื่ออะไรก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ

แต่ละชื่อไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย

สุดท้ายก็กลายเป็นชื่อ “เฉลียง”

ตอนที่ “พี่จิก” เล่าเรื่องนี้ ผมเข้าใจเลยครับ

เพราะตอนตั้งชื่อหนังสือแต่ละเล่มของผมก็ใช้วิธีการนี้เช่นเดียวกัน

พอได้แนวคิดอะไรบางอย่าง

ผมจะละเลง “ความคิด” ลงบนกระดาษ

หรือพิมพ์ในคอมพิวเตอร์

เขียนหรือพิมพ์ชื่อต่างๆ ไปเรื่อยๆ

ตลกบ้าง แป๋วแหววบ้าง ลุ่มลึกแบบอ่านแล้วงงๆ บ้าง

การเปลี่ยนความคิดในหัว ผ่านมือ มาเป็นตัวอักษรหรือภาพ

คือ การเปลี่ยนจาก “นามธรรม” เป็น “รูปธรรม”

เราจะได้เห็น “ความคิด” บนกระดาษ

สุดท้ายก็จะสะดุด “ความคิด” บางคำ

ตบไปตบมาจนเข้าที่

ก็กลายเป็นชื่อหนังสือในที่สุด

นี่คือ วิธีการคิดแบบคิดไปเรื่อยๆ

วิธีคิดแบบนี้แตกต่างจาก “พี่นิค จีนี่” หรือ พี่วิเชียร ฤกษ์ไพศาล โดยสิ้นเชิง

“พี่นิค” เป็นคนก่อตั้ง “จีนี่ เร็คคอร์ด” ค่ายเพลงที่มีศิลปินชั้นนำอยู่ในมือ ทั้งบอดี้สแลม บิ๊กแอส ลาบานูน ฯลฯ

วันนี้ “พี่นิค” ดูแลค่ายเพลงทั้งหมดของแกรมมี่

ตอนที่มาบรรยายเรื่องการทำมิวสิกวิดีโอหรือ MV

“พี่นิค” บอกว่าเพลงยุคใหม่ MV สำคัญมาก

เพราะเด็กรุ่นใหม่ “ดูเพลง”

ไม่ใช่ “ฟังเพลง”

ครับ เด็กรุ่นใหม่ฟังเพลงจากการดูยูทูบ

ไม่ใช่ฟังวิทยุเหมือนในอดีต

ภาพและเนื้อหาใน MV ต้องส่งให้เพลงไพเราะขึ้น

“พี่นิค” แนะนำวิธีคิด MV แบบง่ายๆ วิธีหนึ่ง

คือ “อย่าเพิ่งคิด”

เขาบอกว่าถ้าได้เพลงมาแล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าจะทำ MV แบบไหน

อย่ารีบอ่านเนื้อเพลงว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร

ให้เริ่มต้นด้วยการ “อย่าเพิ่งคิด”

แต่ให้เปิดเพลงฟังไปเรื่อยๆ

ให้เนื้อร้องและท่วงทำนองทำงาน

ฟังจนเข้าใจอารมณ์เพลง

“ให้เพลงสิงร่าง”

ผมชอบคำนี้ของ “พี่นิค” มาก

…ให้เพลงสิงร่าง

ชัดเจนมาก

ให้พลังของเพลงทำงานจนเห็นภาพออกมาจากบทเพลง

ผมนึกถึงประโยคหนึ่งของ “พี่ด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค

มีคนถาม “พี่ด้วง” ว่าเวลาเห็นที่ดินที่จะออกแบบ สิ่งแรกที่เขาทำคืออะไร

“ผมจะฟังเสียงกระซิบจากพื้นดินก่อน”

…โรแมนติกมาก

“พี่นิค” ก็เช่นกัน

คือ เขาจะฟังเพลงซ้ำแล้วซ้ำอีก

ข้อห้ามของวิธีการคิด MV วิธีนี้คือ อย่าเพิ่งคิด

แต่…ต้องรู้สึก

รู้สึกว่าเศร้าจัง

รู้สึกว่าอยากเต้น

รู้สึกจนเห็นภาพบางภาพเกิดขึ้น

ภาพเหล่านี้ “สมอง” คิดไม่ได้

ต้องใช้ “ความรู้สึก” อย่างเดียว

“พี่นิค” ยกตัวอย่างเพลง “เชือกวิเศษ” ของ “ลาบานูน”

เป็นเพลงรักอกหัก

มีท่อนฮุกที่ติดหู

“ต่อให้เชือกวิเศษผูกเราเอาไว้ เหนี่ยวรั้งให้ตายคงได้แค่ตัว

ยิ่งห้ามเท่าไร ยิ่งยื้อแค่ไหน ยิ่งเห็นแก่ตัว”

“เชือกวิเศษ” เป็น “นามธรรม”

เพียงแค่บอกความหมายว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะผูกเราสองคนเอาไว้ให้อยู่ด้วยกันต่อไป

เมื่อเธอหมดรักเราแล้ว

ด้วยวิธีคิดนี้สุดท้ายก็กลายเป็น MV สุดฮิตที่มียอดวิวในยูทูบ 385 ล้านวิว

และทำให้ “ลาบานูน” ที่หายไปนานกลับมาเป็นวงดนตรียอดนิยมอีกครั้งหนึ่ง

เขาทำให้ “เชือกวิเศษ” ที่เป็น “นามธรรม” กลายเป็น “รูปธรรม”

“ความรัก” ในวันวานเกิดขึ้นจากตอนที่เป็นเฟรชชี่ ทั้งคู่โดนรับน้องให้ผูกขาแล้วเดินด้วย

เมื่อวันที่ลาจากกัน เขาก็พยายามรื้อฟื้นอดีตด้วยการใช้เชือกรองเท้าผูกกัน

“วันแรก” ที่เคยรักกัน คือ “เชือกวิเศษ”

แต่สุดท้ายก็รั้งไม่อยู่

MV เพลงนี้คือตัวอย่างหนึ่งของการคิดแบบ “ไม่คิด”

แต่ใช้ “ความรู้สึก” นำทาง

ครับ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดแบบสร้าง “ทางเลือก” ไปเรื่อยๆ ของ “พี่จิก”

หรือคิดแบบ “ไม่คิด” ของ “พี่นิค”

แต่ผมเชื่อว่าแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดของการคิดงาน

คือ “เส้นตาย”

ถึง “เส้นตาย” ที่ต้องส่งงานเมื่อไร

…คิดออกทันที

แฮ่ม…เหมือนข้อเขียนชิ้นนี้