โฟกัสพระเครื่อง /โคมคำ/ มงคลเหรียญไพรีพินาศ หลวงพ่อคง สุวัณโณ วัดวังสรรพรส จันทบุรี

หลวงพ่อคง สุวัณโณ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

มงคลเหรียญไพรีพินาศ

หลวงพ่อคง สุวัณโณ

วัดวังสรรพรส จันทบุรี

 

“หลวงพ่อคง สุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังสรรพรส ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี พระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังเรื่องการสร้างเครื่องรางรูปแบบเสือ จนได้รับสมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งเขาสมิง”

สร้างวัตถุมงคลมากมายที่ได้รับความนิยม อีกทั้งเคยจัดสร้างเหรียญรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญไพรีพินาศ หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส”

มูลเหตุการจัดสร้างเหรียญดังกล่าว นายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือ “โป้ยเสี่ย” อดีตผู้บริหารธนาคารศรีนคร นักสะสมพระเครื่องดังของเมืองไทย และให้การสนับสนุนวงการพระเครื่องมายาวนาน มักสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลเพื่อแจกในงานวันเกิดของทุกปีเป็นประจำ

ในปี พ.ศ.2521 จัดสร้างพระเครื่อง ด้วยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือ อีกทั้งเป็นปีที่ธนาคารศรีนครที่เปิดสาขาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี อายุครบ 1 ปี

จึงดำริจัดสร้างเพื่อแจกในงานวันเกิด และแจกให้ลูกค้าของธนาคาร ตอบแทนในโอกาสครบรอบ 1 ปี โดยไม่มีการเปิดให้เช่าบูชา

ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบเหรียญทั้งหมด เมื่อเสร็จแล้วก็จัดสร้างออกมา

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งตัว หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อคง สุวณฺโณ”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นพระพุทธรูป ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ ขอบโค้งด้านบน เขียนคำว่า “วัดวังสรรพรส อ.ขลุง จ.จันทบุรี”

ใต้พระพุทธรูป เป็นรูปเสือ ใต้รูปเสือ เขียนคำว่า “๒๕๒๑ ไพรีพินาศ”

หลังจัดสร้างแล้วเสร็จ นายไชยทัศน์ได้ขอให้หลวงพ่อคงปลุกเสกในไตรมาส ก่อนนำออกมาแจกเป็นที่ระลึกในช่วงเดือนธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นเดือนเกิดพอดี

เป็นอีกเหรียญที่หายากในปัจจุบัน

เหรียญไพรีพินาศ หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส

 

อัตโนประวัติ หลวงพ่อคงเป็นชาวหมู่บ้านตาพราย ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2445 บิดา-มารดาชื่อ นายส้องและนางโอง ฑีฆายุ

เป็นบุตรคนหัวปี มีพี่น้องชายหญิงอีก 11 คน ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาทำไร่

วัยเด็กเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดชมพูทราย จบชั้นประถมปีที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2462 และช่วยทางบ้านหาสมุนไพรของป่าออกมาขาย

อายุ 21 ปี อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดชมพูทราย อ.เขาสมิง จ.ตราด มีพระอธิการผูก วัดสลัก จ.ตราด เป็นพระอุปัชฌาย์

ได้รับนามฉายาว่า สุวัณโณ แปลว่า ผู้มีผิวพรรณงามดุจทองคำ

ขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนพระปริยัติธรรมธรรม ตลอดจนวิทยาคมโบราณต่างๆ ที่ตกทอดกันมาจากครูบาอาจารย์ชาวเขมร และจากพระภิกษุผู้คงแก่เรียนในท้องถิ่น

เข้าเรียนพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดสลัก กระทั่งสอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก ตามลำดับ

พ.ศ.2500 ชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป พิธีพุทธาภิเษกต่างๆ จะต้องนิมนต์ไปร่วมนั่งปรกแทบทุกงาน

พ.ศ.2503 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังสรรพรส อ.ขลุง จ.จันทบุรี

พ.ศ.2513 รับตำแหน่งพระอธิการ

พ.ศ.2522 รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูอาคมวิสุทธิ์

 

นับเป็นผู้คงแก่เรียนรูปหนึ่ง มีครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มากมาย ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ

หลวงปู่จง ปู่แท้ๆ, หลวงพ่อเม วัดมาบไผ่, หลวงพ่ออุกและหลวงพ่อเจาะ วัดโปร่งเซ็น, หลวงพ่ออ่ำ วัดสะตอน้อย, หลวงพ่อหริ่ง, พ่อครูเต๋า ฆราวาสจอมคาถา, พ่อครูตาสด ฆราวาสจอมขมังเวทย์, หลวงคีรีเขตต์ ตาแท้ๆ รับราชการดูแลหัวเมืองตราด-จันทบุรี ผู้มีคาถาอาคมขลัง

วิชาที่ได้ร่ำเรียนมีหลายแขนง ทั้งคาถาหัวใจ 108 คาถาคงกระพันชาตรีต่างๆ การเขียนอักขระเลขยันต์ภาษาขอม การเขียนลบผงอิทธิเจ ปถมัง การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาการหาสมุนไพรของป่า การหาว่านคงกระพัน

การสักยันต์ วิชาย่นระยะทาง การเดินจงกรม และการฝึกจิตฝึกสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งปฏิบัติไปตามขั้นตอนตามที่พระอาจารย์หลายรูปได้สั่งสอนมา

รวมทั้งสุดยอดวิชาเสือสมิง ที่ชาวบ้านป่านิยมเรียนกัน เพื่อให้เข้าป่าโดยปลอดภัย

 

นําความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้าน ทั้งในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และสร้างวัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

คติธรรมที่มักตอกย้ำให้ลูกศิษย์นำไปขบคิด คือ “ทำดี ซื่อสัตย์ จริงใจ มีอยู่แล้วในตัวทุกคน …ทำได้ ทำจริง ชีวิตรอดปลอดภัย”

เป็นหนึ่งในพระดีศรีเมืองจันท์ที่สร้างพระเครื่อง-เครื่องรางของขลังเปี่ยมด้วยพุทธคุณ และเป็นที่นิยมของชาวภาคตะวันออก และผู้ศรัทธาทั่วไป เริ่มสร้างแจกชาวบ้านราวปี พ.ศ.2484 ซึ่งตรงกับช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ครั้งนั้นประเทศไทยจับมือกับญี่ปุ่นขับไล่ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสให้ออกนอกประเทศ และส่งทหารไปยังประเทศกัมพูชา ทวงกรรมสิทธิ์ในดินแดนเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง

เหล่าทหารที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบ ต่างพกของดีของขลังของท่านไปเป็นขวัญกำลังใจ ประกอบด้วย ตะกรุดหนังเสือ และตะกรุดเนื้อโลหะต่างๆ, ผ้าประเจียด, ผ้ายันต์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังสักยันต์แคล้วคลาดคงกระพันไปด้วย

 

วัตถุมงคลดังในยุคหลังปี พ.ศ.2500 อาทิ พระพิมพ์พระพุทธ พิมพ์พระสมเด็จ, พระขุนแผน, พระนางพญา, เหรียญพระพุทธ, เหรียญรูปเหมือน, เสือขนาดห้อยคอ, พระปิดตาและเครื่องรางของขลังในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ สิ่งมงคลของหลวงพ่อคง เน้นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และกล่าวขานกันเสมอว่า สูงยิ่งในพุทธคุณรอบด้าน

วันที่ 25 กันยายน 2532 เวลาเช้าประมาณ 10.15 น. ถึงแก่มรณภาพด้วยความสงบ

สิริอายุ 87 ปี พรรษา 67