วิเคราะห์การเมือง เมื่อ”รัฐบาล” กินรวบแก้รัฐธรรมนูญ โจทย์หินฝ่ายค้าน-ภาคประชาชน

หลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นประธานชั่วคราวทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ผลการประชุมออกมาว่า ที่ประชุมได้เลือก “นายวิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน กมธ. ด้วยคะแนน 27 เสียง

ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ชิงตำแหน่งทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าเสียงในห้อง กมธ.ในส่วนของฝ่ายค้านที่จะยกมือสนับสนุนให้นั้นมีไม่พอที่จะเอาชนะได้

แต่เพื่อให้รู้ว่าฝ่ายค้านให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างมาก การแสดงสัญลักษณ์ว่าสู้ในทุกกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ผลการยกมือก็ทำให้ได้เห็นเสียงในมือของฝ่ายค้านแท้ๆ ที่พร้อมสนับสนุนกันในช่วงทีเด็ดทีขาดจำนวนทั้งสิ้น 12 เสียง โดยนับเอาจากการยกมือสนับสนุน “หมอชลน่าน” นั่นเอง

ส่วนตำแหน่งสำคัญๆ ตำแหน่งอื่นในคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย นายวิรัชเป็นประธาน กมธ.

ส่วนรองประธานมีทั้งหมด 9 คน ได้แก่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรค พท. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 2

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 3

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 4

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 5

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 6

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 7

นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 8

นายวัชรา ณ วังขนาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 9

สำหรับ กมธ. และที่ปรึกษามี 6 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ส.ว. นพ.ชลน่าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ (ปช.) นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.

ขณะที่โฆษก กมธ.มี 3 คน ได้แก่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร.

และตำแหน่งเลขานุการ ได้นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มานั่งทำหน้าที่

สัดส่วนที่ออกมาทำให้หลายฝ่ายคิดยาวไปถึงการนำเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตกไปจากการพิจารณาของรัฐสภากลับมาพิจารณาอีกครั้งในชั้นกรรมาธิการที่น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะเสียงข้างมากภาพชัดว่าเป็นฝั่งรัฐบาล และ ส.ว.ที่คงจะจับมือกันมั่นในการแตะเบรกร่างของฝ่ายค้าน และร่างของภาคประชาชน

จึงไม่แปลกที่นายวิรัชจะออกมาให้สัมภาษณ์หลังนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการชุดแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไม่กี่นาทีว่า ตัวเองนั้นจะทำหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามร่างที่ทางรัฐสภาส่งมา โดยมีร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ก็สามารถปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์และความเหมาะสมของการทำงานได้

ส่วนที่ทางฝ่ายค้านอยากได้เนื้อหาในร่างของฝ่ายค้าน และเนื้อหาจากร่างที่ตกไปโดยเฉพาะร่างของประชาชนมารวมด้วยก็สามารถมาคุยกันในห้องประชุมได้

แต่จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา นอกนั้นเรื่องอื่นๆ ก็มาว่ากันอีกครั้ง

แม้การให้สัมภาษณ์ของนายวิรัชจะพูด “เปิดทาง” ให้ฝ่ายค้านเสนอแปรญัตติเข้ามายังชั้นกรรมาธิการ แต่ก็ไม่ได้เป็นการ “เปิดประตู” ให้เสียทีเดียว

ขณะที่ทางฝั่ง ส.ว. วันนี้คงไร้ข้อกังขาแล้วว่ามีจุดยืนอย่างใด เพราะชัดเจนแจ่มแจ้งมาตั้งแต่ต้น เสียงโหวตในสภาเมื่อครั้งถกพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาที่ผ่านมาก็การันตีหลักคิดได้อย่างไม่มีแตกแถว

วันนี้จึงเป็นเรื่องหนักของฝ่ายค้าน ที่แม้หลายฝ่ายจะมองเห็นความพยายามในการผลักดันเนื้อหาในร่างที่ตกไป โดยเฉพาะร่างของประชาชน

แต่คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

เพราะนับรายชื่อ 45 อรหันต์ที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการแล้ว ฟากฝ่ายค้านเสียงน้อยนิด เพราะเมื่อนับแล้ว ฝ่ายรัฐบาล 17 เสียง ส.ว. 15 เสียง และฝ่ายค้าน 13 เสียง เสียงของฝ่ายค้านไม่พอสู้มือของรัฐบาลตั้งแต่ต้น

ยิ่งหากรวมเสียงของ ส.ว.เข้าไปอีกด้วยแล้ว เสียงข้างมากจำนวน 32 เสียง ช่างไกลเกินมือฝ่ายค้านจะต่อกรเหลือเกิน

เรื่องนี้ “สมคิด เชื้อคง” ในฐานะโฆษกกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ ฝั่งเสียงข้างน้อย บอกว่า แม้ร่างหลักในการพิจารณาจะเป็นร่างของรัฐบาล แต่ร่างของฝ่ายค้านก็เป็นร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา แต่ร่างที่ตกไปที่เราจะนำไปใส่นั้น เราจะให้สมาชิกเสนอแปรญัตติเข้าไป

เช่น หลักการเรื่องเวลา ที่เราต้องการให้เขาถอยเรื่องเวลาลงมาอีก หรือเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งเราพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าควรเลือกตั้งทั้ง 200 คน

ขณะที่ของไอลอว์จะมีคนแปรญัตติให้เอาเรื่องเขตประเทศเข้าไป แต่ส่วนเข้าไปแล้ว กมธ.เสียงข้างมากจะว่าอย่างไรยังไม่สามารถคาดเดาได้

แต่เท่าที่พูดคุยกันขณะนี้ กมธ.เสียงข้างมากยังคงยืนยันว่ายึดตามร่างของรัฐบาล

ดังนั้น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแสดงให้สังคมได้เห็นว่าต้องการแก้ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยใช้ความรู้สึกของผู้คนในสังคมช่วยผลักดันด้วยเพื่อมีส่วนให้ กมธ.เสียงข้างมากตัดสินใจในเรื่องที่เราพยายามจะแปรญัตติ เพราะลำพังเสียงของ กมธ.เสียงข้างน้อยไม่สามารถที่จะเอาชนะคนเหล่านั้นได้ เพราะมีเพียง 13 เสียงเอง

ส่วนโอกาสที่เนื้อหาบางส่วนของร่างประชาชนจะสามารถผ่านการยกมือของ กมธ.เสียงข้างมาก ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้านั้น โอกาสถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบจากคะแนนเสียง แทบไม่มีโอกาส แต่ถ้าเทียบจากความต้องการของพี่น้องประชาชน ยังพอมีแสงที่ปลายทางอยู่ แต่ต้องใช้กระบวนการภายนอกเข้ามาช่วยกดดัน

อย่างไรก็ตาม กมธ.เสียงข้างน้อยยังขอฮึดสู้อีกครั้ง โดยวันที่ 27 พฤศจิกายน ฝั่งฝ่ายค้านเรียกระดมสมอง กางแผน พร้อมวางแท็กติก จัดกระบวนยุทธ์ เพื่อแก้เกมเสียงข้างมากในห้องประชุม กมธ. นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนโน้มน้าวจิตใจ กมธ.เสียงข้างมากด้วยการอธิบายข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด และเปิดใจในห้องประชุม กมธ.ด้วย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะปิดประตูเรียบร้อยโรงเรียนรัฐบาลอีกหรือไม่ งานนี้หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน รอดูการแก้เกมของฝ่ายค้านอยู่

แต่สุดท้ายปลายทาง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนถึงขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังต้องฝ่าด่านการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีสิทธิเจออุบัติเหตุให้ล้มคว่ำได้อยู่ตลอดเวลา