แมลงวันในไร่ส้ม/ครบ 3 ปียึดอำนาจ เช็ก “คะแนน-ผลงาน” ในบรรยากาศ “อึมครึม”

แมลงวันในไร่ส้ม

ครบ 3 ปียึดอำนาจ เช็ก “คะแนน-ผลงาน” ในบรรยากาศ “อึมครึม”

 

เข้าสู่วาระ 3 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เสียงวิจารณ์มีทั้งบวกและลบ

ก่อนหน้านี้ โพลหลายสำนักระบุว่า อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน

ยังมีนักธุรกิจที่เคยสนับสนุนรัฐบาล ออกมาชี้ถึงปัญหาการลงทุน และท้วงติงตัวเลขที่รัฐบาลระบุว่าเป็นความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

แต่กองเชียร์ที่เห็นว่า รัฐบาลทหารและ คสช. ประสบความสำเร็จ ก็ยังแข็งขันอยู่

อาทิ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงเสียงโจมตี 3 ปีรัฐบาลว่า คนที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. โจมตีแบบไม่มีเหตุผล จึงไม่ควรให้ราคาค่างวดคนเหล่านั้น

ส่วนบางคนที่ออกมาเพราะไม่ได้ดั่งใจ บางคนผิดหวังเพราะไม่ได้อย่างที่อยากได้ ทั้งๆ สมัยที่ตนเองเป็นรัฐบาลก็ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทำได้ดีกว่า สงบกว่า ปราบทุจริตเรียบร้อยกว่ารัฐบาลเลือกตั้งทุกชุดที่ผ่านมา

คนเหล่านี้จ้องทำลายติเตียน ดิสเครดิตให้สะใจเขา แต่ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองบ้าง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เทียบไม่ได้กับรัฐบาลนี้

หรืออย่าง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลที่จะวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลคงไม่สามารถไปบังคับได้

ส่วนการให้คะแนนก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนักการเมือง แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทราบดีว่า อะไรคือปัญหาและอุปสรรค และความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลเป็นอย่างไร

รัฐบาลเดินหน้าตามโรดแม็ปที่ได้ประกาศไว้ คือ การหยุดยั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปี 2557 และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถดำเนินการได้จนเป็นที่ยอมรับ

กระทั่งจัดให้มีการวางกฎกติกาของบ้านเมือง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. หลายฉบับ ที่จะช่วยขจัดปัญหาเรื้อรังในทุกด้าน เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

ทั้งการปราบปรามการทุจริตทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ฯลฯ

ซึ่งรัฐบาลปกติทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะคำนึงถึงแต่ฐานเสียงของตนและติดกับดักของความขัดแย้ง

ประเด็นจากขั้วรัฐบาล คือยืนยันว่า คสช. ได้แก้ปัญหาที่รัฐบาลจากเลือกตั้งไม่สามารถแก้ได้

ขณะที่เสียงสะท้อนจากนักการเมือง ก็แจกแจงจุดอ่อนของรัฐบาลได้อย่างแหลมคม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม หยิบประเด็นต่างๆ มาวิเคราะห์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า พอมาปีที่ 3 ทำให้เห็นปัญหาชัดเจนมากกว่า 2 ปีก่อน

ทำให้เห็นว่าในที่สุดแล้ว การรัฐประหารนอกจากแก้ปัญหาประเทศไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้ปัญหาต่างๆ เลวร้ายมากกว่าเดิม

3 ปีมานี้ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเติบโตเร็วกว่าเรามาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน

โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจ ต้องอาศัยธุรกิจขนาดใหญ่กับการท่องเที่ยว แต่ภาคเกษตรกรและธุรกิจรายเล็กรายน้อยต้องล้มลงไป ยิ่งทำให้ช่องว่างของรายได้มากยิ่งขึ้น

นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความแน่นอน ไม่ชัดเจนว่าจะคืนสู่ประชาธิปไตย และการมีเสถียรภาพได้เมื่อไหร่

ส่วนการปฏิรูปที่หลายฝ่ายทวงถามมาตลอด ครบ 3 ปีนี้ยังไม่ปรากฏการปฏิรูปที่เป็นแก่นสารอะไรเลย

ส่วนการปรองดอง ถ้าติดตามกระบวนการปรองดองที่ คสช. และรัฐบาลทำอยู่ จะพบว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเลย

เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วม ขาดการเชิญผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เป็นกลาง ไม่มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระ และมีข้อสรุปของตนเองล่วงหน้ามาก่อนแล้ว โดยโยนความผิดไปให้ฝ่ายการเมืองเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่พูดถึงต้นเหตุปัญหาที่แท้จริง

แนวโน้มนอกจากไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งไปจากสังคม คสช. กำลังสะสมปัญหาต่างๆ คือทำในเรื่องที่คนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก สะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ข้ออ้างที่สำคัญในการรัฐประหารทุกครั้ง รวมถึงครั้งนี้ด้วยคือเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนจำนวนไม่น้อยฝากความหวัง และอาจมีความรู้สึกว่า คสช. เอาจริงเอาจัง

แต่ตรงกันข้าม คสช. เข้ามาแทรกแซงระบบในการการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่น จนทำให้องค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ไม่มีความเป็นอิสระ และ คสช. เข้ามาทำแทน ก้าวก่ายเต็มไปหมด

สังคมไทยไม่สามารถรู้ได้ว่าทำอะไรไปถึงไหน เพราะไม่มีการเปิดเผย ได้แต่ดูจากจัดอันดับของต่างประเทศ ที่ดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในปีที่ 3 เห็นปัญหาชัดกว่าปีก่อนๆ

มีการผสมผสานกันระหว่างการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ตรวจสอบไม่ได้ กับการมีนโยบายใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่สูญเปล่า โดยไม่คำนึงถึงความสามารถทางการคลังและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงปัญหาในหลายมิติพร้อมๆ กัน คือการซื้อเรือดำน้ำ เป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายที่ไม่สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ดำเนินการไปโดยไม่มีความโปร่งใสชัดเจน บอกว่ามีการประกวดราคา ต่อมาเป็นการดำเนินการรัฐต่อรัฐ และมีการรวบรัดทำสัญญา ที่สำคัญเมื่อมีคนเรียกร้องให้ตรวจสอบ กลับถูกคุกคาม เท่ากับเป็นการทำลายระบบการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นอย่างชัดเจนที่สุด

ความจริงเป็นเรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเคยเกิดเรื่องทำนองนี้มาก่อนแล้ว แต่สังคมอาจจะเห็นปัญหาไม่ชัด เท่ากับเรื่องเรือดำน้ำ

เมื่อครบปีที่ 3 ปัญหาความล้มเหลวในเรื่องต่างๆ จะชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน มีการสะสมปัญหาไปข้างหน้าอย่างน่าวิตกว่า ในวันข้างหน้านอกจากประเทศล้าหลัง ประชาชนเดือดร้อนแล้ว ความขัดแย้งต่างๆ จะมากขึ้น ความไม่มีเสถียรภาพก็กลับมาอีก

หรืออย่าง นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การปฏิรูประบบราชการ นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา มีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ระบบราชการทั้งหมด ตรงนี้เป็นที่มาของการคอร์รัปชั่น เพราะรัฐบาลทำการลดอำนาจของประชาชน โดยที่ไม่มีการปฏิรูปแก้ไขในส่วนนี้อย่างจริงจัง ในยุคโลกาภิวัตน์

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำกับระบบราชการคือ ลดอำนาจข้าราชการ และข้าราชการการเมือง แล้วไปเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน

ยุคการเมืองที่มีอำนาจพิเศษ การทุจริตคงมีพอๆ กับยุครัฐบาลปกติ เพราะมีจุดอ่อนที่ถือเป็นจุดใหญ่มาก คือ ไม่มีอำนาจใดที่สามารถตรวจสอบรัฐบาล คสช. ได้

แม้รัฐบาล คสช. ชอบพูดว่า มีการวางนโยบาย หรือการบูรณาการอยู่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงนั้น การบูรณาการที่เขาว่า เป็นการให้อำนาจข้าราชการและข้าราชการการเมืองทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต รัฐบาลได้มีการวางกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงขึ้น

แต่การบังคับใช้กฎหมายเราไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเลย ดังนั้น ตราบใดที่ไม่ให้อำนาจประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐและข้าราชการ เราก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้

นั่นคือความเห็นที่ยังมีความแตกต่าง

ที่แน่ๆ คือ เป็นปีที่ 3 ที่บรรยากาศแตกต่างไปจากเมื่อ 2 ปีก่อน