วิเคราะห์ : วิกฤตโควิดระบาดก็ยังเห็นโอกาส

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ฤดูหนาวปีนี้ หลายประเทศเผชิญวิกฤต “โควิด-19” ระลอกใหม่ บางแห่งประกาศล็อกดาวน์ปิดเมืองเป็นรอบที่ 3 เพราะเอาไม่อยู่ เชื้อระบาดแรงขึ้น ตัวเลขเหยื่อไวรัสมรณะทั่วโลกติดเชื้อวันละ 6 แสนคน สิ้นเดือนพฤศจิกายน ถ้าวัคซีนยังไม่ผ่านการรับรองผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ยอดคนป่วยจะพุ่งทะลุเกิน 60 ล้านคน

แนวโน้มเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ของทั่วโลก จะเป็นการเฉลิมฉลองในรูปแบบนิวนอร์มอล เว้นระยะห่าง ใส่แมสก์ ไม่แฮปปี้เหมือนปีก่อนๆ

พิษโควิด-19 นับว่ารุนแรงสร้างความปั่นป่วนทั้งโลก ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ดั่งใจหมาย เศรษฐกิจทุกประเทศถอยหลังดิ่งเหว

รายงานผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ประจำรัฐสภาสหรัฐฉบับล่าสุดประเมินตัวเลขเศรษฐกิจโลกของปี 2563 ติดลบ 4.5 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจติดลบ 6 เปอร์เซ็นต์ หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบศตวรรษ

ปีหน้าก็ยังไม่เห็นปัจจัยบวกปลุกเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเนื่องจากเชื้อยังแพร่ระบาดไม่มีจุดสิ้นสุด ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว อาจต้องคิดใหม่

 

วิกฤตคราวนี้ลุกลามทะลุไปทุกระดับชั้นทางสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างวงการศึกษาของสหรัฐเจอโควิด-19 กระแทกจนเซหนัก

แต่ละปีนักศึกษาจากทั่วโลกราว 1.1 ล้านคนเดินทางไปเรียนและควักกระเป๋าจ่ายให้กับโรงเรียน มหาวิทยาลัยในสหรัฐปีละ 45,000 ล้านเหรียญ เมื่อเกิดโควิด-19 การเดินทางของนักศึกษาต่างชาติหยุดชะงัก บางคนเลือกเรียนออนไลน์แทน หรือไม่ก็ยกเลิก

บรรดาครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งหยุดการสอนเนื่องจากไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน มหาวิทยาลัยเลิกจ้าง หรือพักการสอนไว้ชั่วคราว

 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นหนักหนาสาหัสทั้งโลก จากที่เคยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศต่างๆ เป็นกอบเป็นกำ

ว่ากันว่าช่วง 10 ปีก่อนเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งโลกเติบโตเร็วที่สุด ดูจากสถิติเมื่อปี 2552 นักท่องเที่ยวทั่วโลกมีราว 880 ล้านคน มาในปี 2562 นักท่องเที่ยวเดินทางไปมาทั่วโลกมีมากถึง 1,500 ล้านคน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างเสริมเศรษฐกิจโลกเกือบๆ 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงาน 330 ล้านตำแหน่ง

วันนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับกลายเป็น “ดาวร่วง” ไม่รู้ว่าจะกลับเป็นดาวรุ่งเหมือนเดิมได้หรือไม่ เพราะต้องดูสถานการณ์ “โควิด-19” คลี่คลายแบบไหน

ถ้ามีวัคซีนเอามาปราบเชื้อได้สำเร็จ ทุกประเทศยกเลิกมาตรการกักตัวตรวจโรค เลิกล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เฟื่องฟูอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

ณวันนี้เศรษฐกิจโลกพังพาบไปเรียบร้อย อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบินเจ๊ง โรงงานปิด ผู้คนตกงาน ความยากจนแผ่ซ่านไปทั่วโลก

นักเศรษฐศาสตร์ของสภาคองเกรสสหรัฐประเมินว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดมีคนเข้าสู่ภาวะความยากจนอย่างสุดๆ (extreme poverty) 110 ล้านคน

สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ย่อมมีผลต่อความเป็นไปของสังคม ที่ไหนมีคนจนสุดๆ มากๆ สังคมที่นั่นเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และหากผู้นำประเทศไม่สามารถแก้วิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังคมจะผลักเข้าสู่ภาวะจลาจล

เวลานี้หลายประเทศทั่วโลกพยายามอย่างสุดฤทธิ์ในการหาวิธีแก้วิกฤต “โควิด-19” ด้วยการคิดค้นนโยบายต่างๆ เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลามหนัก

คาดกันว่าแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งโลกใช้เงินมากถึง 12,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

บางประเทศมุ่งเป้าปลุกให้เศรษฐกิจฟื้นโดยไม่สนใจว่าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำออกมาใช้นั้นมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่แค่ไหน

แต่หลายๆ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี กลับมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่า แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นจะต้องมุ่งปรับเปลี่ยนสังคมผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้ระบบการขนส่งทันสมัยปล่อยควันพิษออกมาน้อยๆ หรือการปรับปรุงสภาพป่าให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์

 

นักสิ่งแวดล้อมเสนอให้แต่ละประเทศเจาะหาโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการระดมพลังหาแนวคิดสร้างเศรษฐกิจกระแสเขียว เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การวางนโยบายปลุกให้คนช่วยกันปลูกป่า ลดมลพิษในลำน้ำ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการปรับปรุงอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

บางประเทศกำหนดนโยบายให้เงินสนับสนุนกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ให้กู้ไปซ่อมหลังคาบ้านติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซ่อมปั๊มน้ำ เครื่องปรับอากาศ เป็นแนวทางประหยัดพลังงานที่ได้ผลอีกทางหนึ่ง

แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมือง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่หลายประเทศนำมาใช้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ เนื่องจากมองเห็นผลบวกจากการล็อกดาวน์ทำให้การสัญจรไปมาด้วยรถยนต์น้อยลง อากาศสะอาดขึ้น ได้ยินเสียงนกร้องขับขาน ท้องฟ้าสดใส

ผู้บริหารเมืองหันมาปรับปรุงให้ชาวเมืองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมากขึ้น เช่น จัดทำโครงการขยายทางเท้า ก่อสร้างทางจักรยาน ควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์ภายในเมือง

โครงการเมืองอัจฉริยะ เช่น ติดตั้งเทคโนโลยี 5 จี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวเมือง มีการเชื่อมต่อระบบระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยในการตรวจสุขภาพและวิฉัยโรคเบื้องต้น สมาร์ตโลจิสติกส์ บริการด้านการขนส่งคมนาคมช่วยให้การขนส่งประหยัดพลังงานมากที่สุด หรือโครงการสมาร์ตกริด ปรับปรุงควบคุมระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า

ในบ้านเรา รัฐบาลพยายามดิ้นแก้วิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิดกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด ซึ่งก็มีโครงการดีๆ อย่างเช่นโครงการรถแลกแจกแถม เอารถเก่าไปแลกรถใหม่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 1 แสนคัน

โครงการนี้ทำสำเร็จจะผลักดันให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของโลก ซึ่งอาจช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อีกทั้งยังเป็นแนวทางการลดมลพิษในอากาศและประหยัดพลังงานที่เห็นผลได้ชัด