การจากไปของนักสร้างสรรค์ล้ำหน้าผู้มาก่อนกาล : อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

การจากไปของนักสร้างสรรค์ล้ำหน้าผู้มาก่อนกาล

ในวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา วงการศิลปะและสถาปัตยกรรมของโลกได้สูญเสียบุคลากรคนสำคัญอีกคนหนึ่งไป

เขาผู้นั้นมีชื่อว่า วีโต แอ็กคอนซี (Vito Acconci)

ศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ ศิลปะจัดวาง และสถาปนิกชาวอเมริกัน ผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกไปจนถึงอื้อฉาวอย่างยิ่ง ตั้งแต่สถาปัตยกรรมรูปเกาะประดิษฐ์หรือศิลปะการแสดงสดสุดล่อแหลม ได้เสียชีวิตลงในวัย 77 ปี

แอ็กคอนซีเป็นหนึ่งในนักสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโพสต์ป๊อป

เขาเป็นนักทำลายกรอบและกฎเกณฑ์ ผู้น่าตื่นตะลึงและเปี่ยมเอกลักษณ์ยากจะหาใครเสมอเหมือน

เขาเป็นศิลปินผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผู้ปรากฏตัวอย่างโดดเด่นในยุคสมัยที่ศิลปะอาวองการ์ดรุ่งเรืองสุดขีดในระหว่างปลายปี 1960 ถึงกลางปี 1970

วีโต ฮันนิบาล แอ็กคอนซี (Vito Hannibal Acconci) เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 1949 ในเมืองบรองซ์ นิวยอร์ก

เขาได้รับปริญญาตรีสาขาวรรณกรรมจาก Holy Cross College ใน Worcester แมสซาชูเซตส์ และได้รับปริญญาโทสาขาวรรณกรรมและกวีจากมหาวิทยาลัยแห่งไอโอวา ก่อนที่จะกลับไปอาศัยและทำงานใยนิวยอร์ก

ในช่วงแรกเขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นกวี และเขียนบทวิจารณ์ ก่อนที่จะหันเหมาเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะเพอร์ฟอร์มานซ์ (ศิลปะการแสดงสด) หนังและวิดีโออาร์ต ภาพถ่าย ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาเองกับพื้นที่สาธารณะ โดยใช้ร่างกายตัวเองเป็นสื่อในการทำงานศิลปะอันแหวกแนวจนน่าตื่นตะลึง

ไม่ว่าจะเป็นผลงานอย่าง Following Piece (1969) ที่เขาแอบเดินตามคนเดินถนนทั่วนิวยอร์กจนกระทั่งพวกเขาเข้าไปถึงพื้นที่ส่วนตัว, Information (1970) ที่เขาทำงานศิลปะด้วยการส่งจดหมายถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) และไปที่นั่นทุกวันเพื่อเปิดจดหมายของตัวเอง, Openings (1970) วิดีโอบันทึกภาพตัวเขาทำศิลปะการแสดงด้วยการดึงทึ้งขนบนตัวออกมาจนเหี้ยน

Trademarks (1970) ที่เขาทำศิลปะการแสดงสดด้วยการนั่งกัดร่างกายตัวเองทั่วทั้งตัว เท่าที่ปากเขาจะเอื้อมไปถึง จนเป็นรอยฟัน แล้วปั้มรอยกัดด้วยหมึกออกมาเป็นภาพพิมพ์บนกระดาษเพื่อบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้

Broad Jump (1971) ที่เขาจัดการแข่งขันกระโดดสูงสำหรับผู้ชาย ที่มีรางวัลเป็นผู้หญิง เขาทำงานชิ้นนี้เพื่อเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมชายเป็นใหญ่ที่ถือครองความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเพศหญิง

แต่ผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ Seedbed (1972) ศิลปะการแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาว ที่เขาสร้างทางลาดเอียงขึ้นในหอศิลป์ Sonnabend ในนิวยอร์ก และซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ทางเป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวัน เพื่อเงี่ยหูฟังเสียงเดินของผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ข้างบน และทำการสำเร็จความใคร่ และส่งเสียงให้พวกเขาฟังผ่านลำโพงที่ติดตั้งอยู่มุมห้อง

เขากล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ในภายหลังว่า “เป้าหมายของผมคือการผลิตเมล็ดพันธุ์ ดังนั้น พื้นที่ที่ผมซ่อนตัวอยู่จึงกลายเป็นเตียงและท้องทุ่งแห่งเมล็ดพันธุ์

ด้วยการนั้น ผมจึงต้องทำการสำเร็จความใคร่เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ออกมา

และเพื่อทำการนั้น ผมจึงต้องกระตุ้นตัวเองให้ตื่นเต้น ผมพยายามที่จะสร้างจินตนาการทางเพศผ่านเสียงก้าวเดินของคนที่เข้ามาชมงาน และส่งเสียงพูดจาแทะโลมพวกเขา

อย่างเช่น “ผมกำลังสัมผัสผมของคุณอยู่” หรือ “ผมกำลังเอื้อมมือไปลูบไล้หลังของคุณ”

แล้วผมก็สำเร็จความใคร่ให้พวกเขาเหล่านั้นได้ยิน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับผู้คนเหล่านั้นจากใต้พื้นห้อง”

ผลงานชุดนี้ของเขาได้แรงบันดาลใจจากความพยายามในการดึงให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างศิลปินและผู้ชมขึ้นมา

หากแต่ด้วยความล่อแหลมอย่างยิ่งของมัน ก็ทำให้เนื้อหาสาระที่เขาต้องการจะสื่อถูกบดบังด้วยความอื้อฉาว

“เพราะงานชิ้นนี้ ไม่มีใครยอมรับนับถือผมเป็นจริงเป็นจังว่าผมเป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบอีกต่อไป มันแทบจะทำลายอาชีพของผมไปโดยสิ้นเชิง”

ถึงแม้จะเป็นที่รู้จักจากการทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ แอ็กคอนซีก็ไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นศิลปิน

เขาเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทในการทำงานสร้างสรรค์ของเขาว่า

“ผมเกลียดคำว่า ศิลปิน สำหรับผม แม้แต่ในเวลาที่ผมแสดงงานต่างๆ ในหอศิลป์หลายแห่ง มันก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่ผมทำนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศิลปะเลยแม้แต่น้อย ทั้งถ้อยคำ หรือสุ้มเสียงของมันที่ฟังดูเหมือนว่า ศิลปะเป็นของสูงส่ง ซึ่งผมไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นคนทำสิ่งเหล่านั้นเลยด้วยซ้ำ”

ในช่วงปี 1980 แอ็กคอนซีผันตัวมาทำงานประติมากรรม ศิลปะจัดวางถาวร ไปจนถึงงานภูมิสถาปัตยกรรมและงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์

โดยเขาเปิดสตูดิโอออกแบบ Acconci Studio ขึ้นในปี 1988 และทำงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมหลากหลายชิ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและความเป็นศิลปะสูง

อาทิ Walkways Through the Wall (1998) ประติมากรรมภูมิทัศน์ที่ตั้งอยู่ที่อาคาร Wisconsin Center ของสายการบิน Frontier Airlines ในวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

หรือผลงานภูมิสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักที่สุดของเขาอย่าง Island in the Mur (2003) หรือ Murinsel เกาะจำลองรูปทรงเหมือนเปลือกหอยขนาดยักษ์ ที่สร้างขึ้นกลางแม่น้ำเมอร์ ที่เมืองกราซ ออสเตรีย

ซึ่งมันไม่ใช่เกาะจำลองที่ทำขึ้นมาเปล่าๆ ปลี้ๆ หากแต่เป็นอัฒจันทร์และเวทีกลางแจ้งลอยน้ำที่มีสะพานเชื่อมจากฝั่งสองด้าน ภายใต้อัฒจันทร์เป็นคาเฟ่และพื้นที่สันทนาการ

ผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่เมืองกราซได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรป (European Cultural Capital) ในปี 2003 (หลังจากเป็นเมืองมรดกโลกในปี 1999) ทำให้เมืองกราซกลายเป็นที่หมายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

แอ็กคอนซีกล่าวว่าผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมที่สุดที่เขาเคยออกแบบมา

ผลงานอื่นๆ ของเขาก็มี อาทิ ส่วนตกแต่งด้านหน้าของอาคารสถาบันศิลปะร่วมสมัยและสถาปัตยกรรม Storefront for Art and Architecture ที่ออกแบบร่วมกับสถาปนิก สตีเฟ่น ฮอลล์ (Steven Holl) (1992) และร้านเสื้อผ้าบูติก United Bamboo ในโตเกียว (2003) เป็นอาทิ

แอ็กคอนซีเชื่อว่าความแตกต่างระหว่างผลงานสถาปัตยกรรมและภาพสองมิตินั้นคือการที่ผู้คนสามารถเคลื่อนไหวภายในสถาปัตยกรรมได้ นั่นหมายถึงองค์ประกอบของเวลาเป็นปัจจัยสำคัญของงานสถาปัตยกรรม “สถาปัตยกรรมไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ หากแต่เป็นเวลามากกว่า” เขากล่าว

ในปี 2012 แอ็กคอนซีได้รับการยกย่องให้เป็นดีไซเนอร์แห่งปีของไมอามี และได้ออกแบบสนามเด็กเล่นอันซับซ้อนประหลาดล้ำในเขตไมอามี แม้ว่าทุกวันนี้มันจะยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ ก็ตาม

ในปี 2016 ที่ผ่านมา สถาบันศิลปะ MoMA PS1 ในนิวยอร์ก ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังในช่วงแรกๆ ของเขาขึ้นมา

ตลอดชีวิตการทำงาน แอ็กคอนซีได้รับทุนทำงานศิลปะและรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทุน National Endowment for the Arts หรือทุน John Simon Guggenheim Memorial Foundation และ American Academy ในโรม อิตาลี เขาได้รับรางวัล International Sculpture Center”s Lifetime Achievement Award ในปี 1997 และรางวัล New York City Art Commission Awards for Excellence in Design สองครั้งในปี 1999 และ 2004 ในปี 2000 เขาได้รับการเสนอชื่อให้ชิงรางวัลทางศิลปะอันสำคัญอย่าง Hugo Boss Prize อีกด้วย

ตัวแทนที่ทำงานใกล้ชิดกับแอคคอนซีและสตูดิโอของเขา กล่าวแสดงการรำลึกถึงเขาว่า

“เขาเป็นหนึ่งในศิลปิน/สถาปนิกและนักสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่หลังยุคสมัยป๊อป เขาเป็นนักทำลายกรอบและกฎเกณฑ์ผู้น่าตื่นตะลึง และเปี่ยมเอกลักษณ์จนยากจะหาใครเสมอเหมือน

ความคิดสร้างสรรค์ของเขาไม่เคยหยุดยั้ง ผลงานศิลปะการแสดงสด ประติมากรรม และงานสถาปัตยกรรมของเขาเทียบได้กับบทกวีทางสายตา เหตุผลที่เขาไม่ได้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกว่านี้ ก็เป็นเพราะเขาเป็นนักสร้างสรรค์ผู้เกิดมาก่อนกาลเท่านั้นเอง”