จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (13)

จรัญ มะลูลีม

การไล่ล่า ISIS

เดือนธันวาคม ปี 2015 ในการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้ง ทรัมป์ได้พูดถึงขอบเขตแห่งนโยบายของเขาที่มีต่อสงครามในซีเรียและอิรัก

เขาบอกว่าโอบามามีความอ่อนแอต่อไอสิส สำหรับทรัมป์แล้วเขาอยากเข้าถล่มไอสิส เขามีความคิดคล้ายคลึงกับเพื่อนของเขาคือ Ted Cruz ซึ่งต้องการถล่มไอสิสเหมือนกัน

นัยยะในเรื่องนี้ก็คือพรรคครีพับพลิกันอาจใช้อาวุธทำลายล้างรวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเข้าโจมตีไอสิส

แม้ทรัมป์จะไม่ให้ความสนใจกบฏซึ่งต่อต้านอะสัด แต่ทรัมป์ก็ต้องการให้กองกำลังติดอาวุธของสหรัฐเข้าถล่มกลุ่มไอสิสหรือไอเอสไม่ว่าการถล่มดังกล่าวจะส่งผลให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บแค่ไหนก็ตาม

ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่ได้คำนึงถึงความหวาดหวั่นและความกังวลของตุรกีในพื้นที่แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความใฝ่ฝันของชาวคูรด์หรือเคิร์ดก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับทรัมป์และ Curz ทั้งนี้จะพบว่านโยบายต่างประเทศของเขาก่อรูปขึ้นจากการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

ฝ่ายบริหารของทรัมป์หวังว่าแรงกดดันจากสหรัฐและอิสราเอลจะทำให้รัสเซียเอาอิหร่านออกไปจากซีเรีย อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี ฮัซซัน รูฮานี ของอิหร่านได้เดินทางไปเยือนมอสโกสองวันเมื่อปลายเดือนมีนาคม (2017) เพื่อวัดใจรัสเซีย ซึ่งยังไม่มีสารที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ในขณะที่อิหร่านเชื่อว่ารัฐบาลอะสัดคือผู้ชนะอย่างแท้จริง รัสเซียก็มุ่งหวังให้อะสัดทำข้อตกลงกับฝ่ายต่อต้านทางการเมือง ส่วนอะสัดก็พยายามที่จะมิให้เกิดรอยแยกใดๆ เกิดขึ้นกับฝ่ายที่เข้ามาสนับสนุนตน

นักการทูตอาวุโสของอิหร่านเชื่อมั่นว่ารัสเซียจะไม่ทอดทิ้งอิหร่านหลังจากได้พิสูจน์แล้วว่าอิหร่านเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เขามีความกังวลว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์จะพยายามตัดอิหร่านออกไปจากซีเรีย

คำวิพากษ์จากฝ่ายบริหารของทรัมป์ที่ว่าอะสัดไม่จำเป็นต้องออกจากตำแหน่งอย่างรวดเร็วนั้น ยังไม่สามารถทำให้ความยากลำบากทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในและรอบๆ ซีเรียยุติลงได้

สิ่งที่มีความกระจ่างชัดแน่ๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในดามัสกัสได้หลุดออกไปจากโต๊ะประชุมแล้ว สิ่งที่ไม่กระจ่างชัดก็คือสถานะของสหรัฐและนโยบายต่างประเทศ

นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ามาทำงาน กองกำลังของสหรัฐได้บุกถล่มตามเส้นทางที่เกิดความขัดแย้งมาแล้วอย่างหนักหน่วง จากเยเมน อิรัก ไปจนถึงซีเรีย

ปีที่แล้วสหรัฐได้หย่อนระเบิดลงในพื้นที่เหล่านี้ไปแล้วถึง 26,171 ลูก ตามรายงานของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council of Foreign Relation) การถล่มอย่างหนักหน่วงด้วยระเบิด ทั้งในอิรัก ซีเรียและเยเมนเป็นผลให้พลเรือนประสบความเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งเหตุการณ์รุนแรงในโมสุลของอิรักที่สหรัฐรับทราบเป็นอย่างดี

โวหารของทรัมป์ก็คือการใช้ทรัพยากรของสหรัฐเพื่อเสริมกำลังของสหรัฐมากกว่าการทำตามอำเภอใจในสงครามต่างประเทศที่ว่างเปล่า

ทรัมป์พยายามเพิ่มงบประมาณทางทหารของสหรัฐ ซึ่งมีจำนวนสูงสุดในโลกคือ 54 พันล้านเหรียญสหรัฐ

งบประมาณดังกล่าวนี้มากกว่างบประมาณทางทหารทั้งหมดของรัสเซียถึงร้อยละ 80

มีแนวโน้มแสดงให้เห็นว่าทรัมป์จะเพิ่มจำนวนทหารในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง

โดยทรัมป์มีความเห็นว่าสหรัฐควรจะแยกตัวออกมาจากความขัดแย้งที่ตัวเองไม่เข้าใจ

แต่นโยบายของทรัมป์เองกลับแสดงให้เห็นว่าความกระหายสงครามของสหรัฐจะคงดำรงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน

 

การผลักไสอิหร่าน

Nikki Haley มิได้พูดว่าอะสัดจะเป็นผู้ร่วมต่อต้านไอเอส อย่างที่รัสเซียเป็นอยู่

เธอกล่าวว่าอะสัดเป็นอุปสรรคใหญ่ (ในการแก้ไขปัญหาซีเรีย) ที่จะก้าวไปข้างหน้า

แต่ Haley ก็บอกเช่นกันว่าอิหร่านก็เป็นอุปสรรคใหญ่ในความพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน

ดังนั้น ข้อเลือกแรกของสหรัฐตามที่ Haley กล่าวก็คือเอาอิหร่านและตัวแทนของอิหร่านออกไปจากซีเรียเสียก่อน

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอล มุ่งมั่นที่จะดันอิหร่านออกไปจากการมีส่วนร่วมใดๆ ในซีเรียมาอย่างต่อเนื่อง

 


ซีเรียและการเข้าแทรกแซง
จากต่างประเทศ

สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นสงครามที่มีประเทศต่างๆ เข้ามาแทรกแซงอย่างเปิดเผยและเข้ามามีบทบาทอยู่ในสงครามดังกล่าวตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา

รวมทั้งการรวมตัวของประเทศต่างๆ ที่นำโดยสหรัฐได้ถล่มเป้าหมายของไอเอสที่อยู่ในซีเรียและอิรักมาตั้งแต่ปี 2014

สหรัฐได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นประเทศที่ต่อต้านรัฐบาลอะสัด แต่ก็ลังเลที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างล้ำลึก

แม้แต่เมื่อรัฐบาลของอะสัดจะถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีในปี 2013 ซึ่งเวลานั้นประธานาธิบดีโอบามาบอกว่าเป็นการเปิด “ไฟแดง” ให้รู้ว่าสหรัฐพร้อมที่จะเข้ามาแทรกแซง

7 เมษายน (2016) สหรัฐใช้ปฏิบัติการทางทหารถล่มกองกำลังของอะสัดด้วยจรวดโทมาฮอว์ก ซึ่งมีราคาลูกละ 29 ล้านบาท 59 ลูกที่ฐานทัพอากาศของซีเรีย ซึ่งสหรัฐเชื่อว่าเป็นฐานทัพที่ใช้อาวุธเคมีถล่มเมืองข่าน ชัยคูน (Khan Sheikhoun) ของซีเรีย

ตุลาคม ปี 2017 CIA ได้อายัดกองทุนและการสนับสนุนทางด้านการขนส่งเสบียงทางยุทธศาสตร์ให้กับฝ่ายกบฏกลุ่มต่างๆ ในทางเหนือของซีเรีย อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) หรือ FSA กล่าวว่ากองทุนดังกล่าวได้ถูกนำกลับมาใช้ได้ในระดับหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม

กันยายนปี 2015 รัสเซียได้เข้ามาช่วยซีเรียถล่มกลุ่มที่ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้ายในซีเรีย ซึ่งรวมทั้งไอเอสและกลุ่มกบฏฝ่ายต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐทางตะวันตก นอกจากนี้ รัสเซียยังมีทหารลาดตระเวนเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับฝ่ายกลาโหมของอะสัดอีกด้วย

รัฐอาหรับจากหลายประเทศรวมทั้งรัฐที่ไม่ใช่อาหรับอย่างตุรกี ต่างมอบอาวุธให้ฝ่ายกบฏต่างๆ ในซีเรีย

รัฐบาลของอิหร่านซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มาจากสำนักคิดชีอะฮ์ สนับสนุนอะสัด

เช่นเดียวกัน กองกำลังฮิสบุลลอฮ์ (Hizbollah) จากเลบานอน

ในขณะที่รัฐที่ผู้คนยึดถือสำนักคิดซุนนี อย่างตุรกี กาตาร์ ซาอุดีอาระเบียและอื่นๆ สนับสนุนฝ่ายกบฏ

กองทหารของตุรกีและกองกำลังพิเศษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพปลดปล่อยซีเรียได้เปิดฉากใช้ปฏิบัติการโล่ยูเฟรติส (Euphrates Shield) เพื่อต่อต้านไอเอสและปลดปล่อยเมืองทางยุทธศาสตร์ของซีเรียอย่างจาราบลัส (Jarablus) ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนตุรกี และหยุดยั้งการเข้ามาของนักรบติดอาวุธชาวเคิร์ดหรือคูรด์

รัฐบาลตุรกีหวาดหวั่นว่าประชากรชาวเคิร์ดจะมีความกระด้างกระเดื่องมากขึ้น และจะเรียกร้องเขตปกครองพิเศษในที่สุด

ปฏิบัติการโล่ยูเฟรติสถือเป็นปฏิบัติการแรกในซีเรีย นับตั้งแต่วิกฤตซีเรีย เกิดขึ้นในปี 2011

มีนาคม ปี 2017 ตุรกีประกาศยุติปฏิบัติการโล่ยูเฟรติสอันเป็นปฏิบัติการทางทหาร แต่นายกรัฐมนตรี บินาลี ญิลดีริม (Binali Yildirim) เสนอว่าอาจจะมีการรณรงค์ข้ามเขตแดนขึ้นมาอีกก็ได้

นับตั้งแต่กองทัพปลดปล่อยซีเรียตั้งขึ้นมาในปี 2011 กลุ่มกบฏใหม่ๆ จำนวนมากได้เข้ามาร่วมกันต่อสู้ในซีเรีย

สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นประจักษ์พยานถึงความขัดแย้งที่นำเอาความตายมาให้ผู้คนจำนวนมากในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ เมื่อความขัดแย้งในซีเรียย่างเข้าปีที่ 7 ก็พบว่าชาวซีเรียได้ถูกสังหารไปแล้ว 465,000 คน

โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับล้าน

จากจำนวนประชากร 12 ล้านคน

ครึ่งหนึ่งของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศก่อนสงครามกลายเป็นผู้ไร้ถิ่นในบ้านของพวกเขาเอง