ฟิสิกส์ “ความเชื่อ”

ทันทีที่สิ้นเสียงระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ยืนยันทันทีว่าไม่ใช่การวางระเบิด

พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางตามมาอีกดอก

ย้ำว่าไม่มีเขม่าระเบิด

ก่อนสรุปว่าเสียงที่คล้ายระเบิดและทำให้คนบาดเจ็บนั้น คือ “ท่อแตก”

ใครที่ได้ฟังก็ได้แต่ยกมือพนมเปล่งเสียง “สาธุ” อย่างพร้อมเพรียงกัน

“กินข้าว” นะเฟ้ย ไม่ได้ “กินหญ้า”

ในที่สุดตำรวจก็ยอมรับว่าเสียงท่อแตกที่ดังสนั่นนั้นคือเสียงระเบิด

และชิ้นส่วนที่พบตรงกับที่เคยเกิดเหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 เมษายน

ที่สำคัญวิธีการต่อระเบิดคล้ายกับที่พบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

…อาเมน ด้วยประการฉะนี้

แต่ผลที่ตามมาหลังจากการเบี่ยงประเด็นไปเรื่อง “ท่อแตก” ก็คือ “ความน่าเชื่อถือ” ของภาครัฐ

และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

ถ้าจำได้ ทุกครั้งที่เกิดเหตุระเบิดในเมืองกรุง หรือในจังหวัดสำคัญ

หน่วยงานความมั่นคงจะชี้นิ้วไปที่ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือในนาม “กลุ่มอำนาจเก่า” ทุกครั้ง

ระเบิดที่ราชประสงค์ก็บอกว่า “อำนาจเก่า”

สุดท้ายก็เป็นกลุ่มอุยกูร์ที่โกรธแค้นเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน

ระเบิดที่เซ็นทรัล สมุย และโคออป สุราษฎร์ธานี

“โฆษกไก่อู” ชี้นิ้วทันที

“อำนาจเก่า”

ประเด็นที่รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือ กลุ่มก่อการร้ายไอเอส

และกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนใต้

เพราะเท่ากับยอมรับว่าสถานการณ์ชายแดนใต้บานปลาย

ผู้ก่อความไม่สงบ ขยายเข้ามาจังหวัดสำคัญในภาคใต้หรือในเมืองกรุง

ส่งผลสะเทือนถึงความเชื่อมั่นในรัฐบาล

เรื่องนี้เข้าใจได้

แต่ผลจากความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นครั้งแล้วครั้งเล่า

ย่อมทำให้ “ความน่าเชื่อถือ” ของหน่วยงานความมั่นคงลดน้อยลงเรื่อยๆ

ตรงตามหลักฟิสิกส์ “ความเชื่อ”

แรงตก เท่ากับ แรงสะท้อน

พูดไม่จริงบ่อยๆ

คนก็ไม่เชื่อ

เรื่องนี้ก็เข้าใจได้

…เช่นกัน