ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
ลักษณะยืดเยื้อ
การต่อสู้ของ ‘ราษฎร’
การปราบปราม
ไม่เพียงแต่ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคมได้ยกระดับเป็น “ราษฎร” ในเดือนตุลาคมด้วยการสร้างปรากฏการณ์ใหญ่ 2 ปรากฏการณ์
1 การเดินเท้าไปสถานทูตเยอรมนี ยื่นหนังสือตั้งคำถาม
1 การเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณท้องสนามหลวงเพื่อส่ง “สาร” จาก “ราษฎร” ผ่านตู้ไปรษณีย์สีแดง
หากแม้กระทั่งรัฐบาลก็ยกระดับ
นั่นก็เห็นได้จาก 1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงและลงมือสลายการชุมนุมทั้งบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและที่แยกปทุมวันด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีเข้าใส่
1 การตั้งป้อมสกัดขัดขวางมิให้ไปล้อม “รัฐสภา”
ไม่เพียงแต่เป็นการฉีดน้ำผสมสารเคมีเพื่อเป็นการเตือน หากยังมีความพร้อมกระทั่งจะใช้แก๊สน้ำตา ยิงด้วยกระสุนยาง เพื่อมิให้ม็อบเคลื่อนขบวนได้ตามความปรารถนา
การยกระดับของทั้ง 2 ฝ่ายคือจุดแหลมคมในทางการเมือง
จัดม็อบ ชนม็อบ
ม็อบคนเสื้อเหลือง
การเกิดขึ้นของ “คนเสื้อเหลือง” เป็นการเกิดขึ้นท่ามกลางความเติบใหญ่ของ “เยาวชนปลดแอก” อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มี “เยาวชนปลดแอก” ก็ไม่มี “เสื้อเหลือง”
คล้ายกับเป็นการเกิดขึ้นเนื่องจากข้อเรียกร้อง “ปฏิรูป” สถาบัน
เพราะว่ามีการตีความในลักษณะขยายไปใหญ่โตโดยเริ่มจาก “ปฏิรูป” เท่ากับ “เป็นการล้มล้าง” จึงมีความจำเป็นต้องออกมาเพื่อสะท้อนความเห็นต่าง
ขณะที่เป้าหมายแฝงก็คือ ออกมาปกป้อง “รัฐบาล”
ไม่เพียงแต่จะมีหนังสือเวียนออกไปในขอบเขตทั่วประเทศให้มีการชุมนุมมวลชนคนเสื้อเหลืองเพื่อปกป้องสถาบัน หากแต่ยังมีการเคลื่อนไหวโดยนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐ
ภาพของ “ผู้นำ” มวลชนปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก
ไม่ว่าจะเป็นอดีตพระนักเคลื่อนไหวที่ประสานกำลังกับอดีตคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยภักดีและสถาบันทิศทางไทย
กลายเป็นการจัดตั้ง “คนเสื้อเหลือง” เข้าปะทะกับ “ราษฎร”
ณ 17 พฤศจิกายน
บทบาทเสื้อเหลือง
การยกระดับเพื่อสกัดขัดขวางการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ดำเนินไปในวิถีเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
กระทั่งนำไปสู่สถานการณ์เดือนตุลาคม 2519
ในเบื้องต้น กลุ่มคนเสื้อเหลืองดำเนินการอย่างเป็นเอกเทศ แต่ก็ค่อยๆ เผยแสดงให้เห็นว่าได้รับการปฏิบัติต่างจากที่ปฏิบัติต่อ “เยาวชนปลดแอก”
สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์กับหน่วยราชการ และนักการเมือง
สถานการณ์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ณ บริเวณหน้ารัฐสภามีความเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อกลุ่มมวลชนอย่างเป็น 2 มาตรฐาน
กลุ่มหนึ่ง ดูแลอย่างดี อีกกลุ่มหนึ่ง สกัดขัดขวาง
จากการปฏิบัติอย่าง 2 มาตรฐานเช่นนั้นเองส่งผลให้การเคลื่อนไหวของ “ราษฎร” ไม่จบลงที่บริเวณหน้ารัฐสภา หากแต่มีการนัดหมายโดยเปลี่ยนสถานที่เป็นราชประสงค์
ที่คิดว่าจบก็ไม่จบ ที่คิดว่ายุติกลับยืดเยื้อ
ทิศทางรัฐธรรมนูญ
ไม่ใช่ทิศทางราษฎร
มีความเด่นชัดอย่างยิ่งว่า แม้ข้อเสนอของ “เยาวชนปลดแอก” จะได้กลายเป็นวาระของสังคม แต่ก็เป็นวาระซึ่งมิได้เป็นไปอย่างที่มีการเรียกร้อง
ไม่ว่าในเรื่องการลาออก ไม่ว่าในเรื่องของรัฐธรรมนูญ
ประเด็นของรัฐธรรมนูญก็ดำเนินไปในทิศทางของรัฐบาล นั่นก็คือ ต้องการแก้ไขไปตามทิศทางที่รัฐบาลต้องการ มิใช่ทิศทางของ “ราษฎร”
เห็นได้จากการปฏิเสธรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน”
ทั้งเป็นการปฏิเสธในลักษณะเดียวกันกับการปฏิเสธบทบาทและความหมายของ “ราษฎร” ด้วยการกล่าวหาว่าล้มล้าง “สถาบัน” เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย
อาศัยกระบวนการ “รัฐสภา” มาด้อยค่าการเคลื่อนไหวของ “ราษฎร”
ประสานพลังแห่งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ประสานเข้ากับพลังมวลชนจัดตั้งอันเป็นของตนเองและรัฐราชการรวมศูนย์
เป้าหมายก็เพื่อยุติบทบาทของ “ราษฎร”
รบเร็ว จบเร็ว
กับลักษณะยืดเยื้อ
ฝ่ายกุมอำนาจรัฐเมื่อเผชิญกับกระแสต่อต้านของประชาชนย่อมต้องการสกัดขัดขวางและจัดการกับการต่อต้านนั้นด้วยความรวดเร็ว
เพราะยิ่งยืดเยื้อยาวนาน ยิ่งเป็นผลเสีย
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของประชาชนไม่อาจเผด็จศึกได้ด้วยความรวดเร็วเพราะเป็นเรื่องของมวลชน เป็นเรื่องของประชาสังคมอันใหญ่โต
จำเป็นต้องอาศัยเวลา ใช้ประโยชน์จากความยืดเยื้อ
ในความยืดเยื้อจากที่ “เยาวชนปลดแอก” ปรากฏในเดือนกรกฎาคม กระทั่งเติบใหญ่กลายเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคมมีพัฒนาการจำนวนมากมาย
แต่การต่อสู้ในทางความคิด ต่อสู้ในทางการเมืองยังต้องก้าวไปอีกหลายก้าว