รายงานพิเศษ โชคชัย บุณยะกลัมพ / โจ ไบเดน กับการปฏิรูปกฎหมายไอที ต่อต้านการผูกขาดเทคโนโลยี

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ
https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

โจ ไบเดน

กับการปฏิรูปกฎหมายไอที

ต่อต้านการผูกขาดเทคโนโลยี

ชัยชนะการเลือกตั้งของนายโจ ไบเดน ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้
อเมริกาจะมีนโยบายการค้าขายระหว่างประเทศ หรือการส่งออก อาจไม่เหมือนภาพในปัจจุบันที่เป็นอยู่
น่าจะเป็นการขายแบบเสรีมากขึ้น
เนื่องจากนายโจ ไบเดน มีความแตกต่างกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างมาก
แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกหรือลบมากกว่ากัน
รูปแบบสงครามการค้ารูปอาจจะเป็นแบบใหม่ ที่แตกต่างจากช่วงนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี
ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์ที่น่าจับตามองและถือเป็นเรื่องใหญ่ในระบบเศรษฐกิจการค้า การส่งออกของโลกในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการห้ำหั่นกันในสงครามการค้าโลกระหว่างสองยักษ์ใหญ่ สหรัฐอเมริกากับจีน ที่กำลังคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ
ต่างฝ่ายต่างแลกหมัดกันไม่ลดละ
แต่ในส่วนของ “ไบเดน” ท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาอะไรที่เป็นการผูกมัดตัวเองในระบบเศรษฐกิจ

ทางด้านสถานการณ์เทคโนโลยีที่มีต่อจีน “ไบเดน” ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า เขาจะต่อต้านอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีจีน เช่น Huawei และ TikTok
เพราะตัวเขาเองก็มีความกังวลถึงการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนของ TikTok
ซึ่ง “ไบเดน” ได้กล่าวบนเวทีหาเสียงว่า เขาจะดึงผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์มาร่วมทีม
ทั้งนี้ “ไบเดน” เคยออกมาสนับสนุนการแบนอุปกรณ์ Huawei ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในสหรัฐอเมริกา
และยังยืนยันว่า เขาจะพัฒนาข้อบังคับของโลกเกี่ยวกับการจารกรรมทางไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และเทคโนโลยี AI
และ “ไบเดน” ดูจะชัดเจนในเรื่องการขโมยทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด โดยเขาสัญญาว่า จีนจะได้รับบทลงโทษแน่นอน หากพบว่ามีการขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐ และข่มขู่ว่าจะตัดออกจากการเข้าถึงตลาดและระบบการเงินของสหรัฐ
ซึ่งแน่นอนประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการผูกขาดเพื่อควบคุม บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต้องเผชิญปัญหาใหญ่ที่สุด
โดยรายงานของรัฐสภา 449 หน้าซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตลาดในทางที่ผิดโดย Google, Apple, Amazon และ Facebook มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาล่วงหน้าสำหรับบริษัทเทคโนโลยีภายใต้การบริหารของไบเดน และสภาคองเกรสที่ควบคุมโดยพรรคเดโมแครต
รายงานนี้รวบรวมโดยคณะกรรมการจากคณะกรรมการตุลาการของสภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำ Road Map สำหรับสภาคองเกรสเพื่อหยุดยั้งการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ้ด้านเทคโนโลยี

เมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ยื่นฟ้อง Google เสิร์จเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ของโลก โดยกล่าวหาว่าบริษัทละเมิดกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันเพื่อปกป้องการผูกขาดตลาดในการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงการลงโฆษณาออนไลน์ของตน
การยื่นฟ้องดังกล่าวถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ และเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดจากทางการสหรัฐต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐพร้อมด้วยรัฐต่างๆ อีก 11 รัฐในสหรัฐได้ยื่นฟ้องต่อกูเกิล
โดยพุ่งเป้าไปที่เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่บริษัทจ่ายในแต่ละปี เพื่อให้กูเกิลเป็นตัวเลือกเริ่มต้นที่ถูกติดตั้งในบราวเซอร์ และยังเป็นตัวเลือกเริ่มต้นที่ถูกลงไว้ในโทรศัพท์มือถืออีกด้วย
เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวช่วยทำให้กูเกิลรักษาสถานะของประตูสู่การใช้อินเตอร์เน็ต และยังทำให้กูเกิลควบคุมการเข้าถึงช่องทางต่างๆ ในการหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตของสหรัฐถึงราว 80%
ทั้งยังครอบงำตลาดถึงกับทำให้คำว่า Google ไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียกบริษัทเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นคำกริยาที่หมายถึงการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตอีกด้วย
การยื่นฟ้องครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดการสอบสวนมานานกว่าหนึ่งปี ทั้งยังเกิดขึ้นขณะที่บริษัทกำลังเผชิญกับการตรวจสอบอย่างหนักเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของบริษัททั้งในสหรัฐและในต่างประเทศด้วย
ด้านกูเกิลออกมาโต้ทันทีว่า การยื่นฟ้องบริษัทในกรณีดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อตำหนิมากมาย
เพราะการแข่งขันในธุรกิจของบริษัทยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น
และบริษัทยึดถือแนวปฏิบัติในการให้ความสำคัญกับลูกค้าก่อนสิ่งอื่นใด
“ผู้คนใช้ Google ก็เพราะเขาเลือกที่จะใช้ ไม่ใช่เพราะถูกบังคับให้ใช้ หรือเพราะพวกเขาไม่สามารถหาทางเลือกอื่นได้”
กูเกิลระบุ

แถมก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐได้ลงนามในคำสั่งผู้บริหารเพื่อถอดถอนการปกป้องตามกฎหมายบางประการต่อโซเชียลมีเดีย หลังจากทวิตเตอร์ได้แท็กทวีตข้อความของทรัมป์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2 ทวีตให้ผู้อ่านตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาดังกล่าว
คำสั่งผู้บริหารที่ทรัมป์ลงนามไปจะให้อำนาจกับผู้ควบคุมในการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ เกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาดูแลหรือควบคุมเนื้อหาที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มของตน
ระหว่างลงนามในคำสั่งผู้บริหารดังกล่าว ทรัมป์ได้กล่าวหาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่ามีอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ
อย่างไรก็ดี คาดว่าคำสั่งดังกล่าวของทรัมป์จะต้องเจอกับข้อต่อสู้ทางกฎหมาย

ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสมของสหรัฐ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะได้รับการปกป้องทางกฎหมายภายใต้สถานการณ์บางอย่าง และไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในเนื้อหาที่ผู้ใช้งานโพสต์
แต่บริษัทสามารถที่จะถอดเนื้อหาที่เห็นว่าเป็นเรื่องอนาจาร หยาบคาย ก่อกวน หรือรุนแรงได้
ขณะที่คำสั่งผู้บริหารที่ทรัมป์เพิ่งลงนามไป ได้มีการระบุถึงเอกสิทธิ์คุ้มกันทางกฎหมายว่าจะต้องไม่ครอบคลุมการที่โซเชียลมีเดียได้ทำการตกแต่งเนื้อหาที่ผู้ใช้งานโพสต์ ทั้งยังขอให้สภาคองเกรสเพิกถอนเอกสิทธิ์คุ้มกันดังรายละเอียดที่ระบุไว้ในมาตรา 230 ของกฎหมายดังกล่าวด้วย
ขณะที่การบล๊อกโพสต์รวมถึงการถอดโพสต์จากเหตุผลอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือคำอธิบายเกี่ยวกับการให้บริการบนหน้าเว็บไซต์ ก็ไม่สมควรได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันตามกฎหมายเช่นกัน
ทรัมป์ระบุว่า รัฐมนตรียุติธรรมจะเริ่มต้นกระบวนการร่างกฎหมายที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งของเขาเพื่อส่งให้สภาคองเกรสลงมติทันที
ดังนั้น สถานการณ์เทคโนโลยีและผลกระทบวงการไอทีโลกจะเป็นอย่างไร เมื่อโจ ไบเดน มารับตำแหน่งเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ ชาวโลกย่อมมีการจับจ้องถึงนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศมหาอำนาจในครั้งนี้แน่นอน