อภิญญา ตะวันออก : ความปกติใหม่ที่พบในกษัตริย์เขมร

อภิญญา ตะวันออก

ไม่ปรากฏเช่นเก่าย้อนไปในรัชกาลก่อนสมัยที่กัมพูชายังไม่เปลี่ยนมาเป็นระบอบกษัตริย์เช่นทุกวันนี้ ที่จะเห็นถึงราษฎรกัมพูชาแสดงความรักต่อพระมหากษัตริย์อย่างท่วมท้น

แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ผู้ครองราชย์ได้ครบ 15 ปี ณ พุทธศักราช 2564 (นับแบบเขมร) นี้ เห็นชัดว่าทรงถูกจำกัดบทบาทให้แตกต่างจากยุคก่อน นั่นคือการอยู่ภายใต้ธรรมนูญ 1993

มีอะไรที่ต่างไปและเป็นที่น่ากังวลใจ สำหรับความหมายของการเป็นหนึ่งแห่งศูนย์รวมจิตใจ ดังจะเห็นว่า ณ รัชกาลปัจจุบัน มีการคัดและจำกัดจำนวนประชาชนที่รอรับการเสด็จ ส่วนใหญ่ยากไร้และสูงวัยอันเป็นไปตามนโยบายของรัฐ และพระองค์นี้ก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้นอย่างสมบูรณ์

แต่อีกด้านหนึ่งของความเป็นมนุษย์ที่อบอุ่นนั่นตะหาก ที่ทรงกลับทำได้มาก นั่นคือทรงมีพระเกษมสำราญเยี่ยงสามัญปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งสถานะนี้แทบไม่เป็นที่รับรู้ในหมู่พระมหากษัตริย์องค์ใดที่ผ่านมา

โดยไม่ถูกค่อนขอดว่าเป็น “เจว็จ-การเมือง” ของบางฝ่าย

และข้อนี้ กลุ่มราชนิกุลนโรดมและสีโสวัตถิ์ล้วนต่างทราบดี

 

โดยนับแต่การบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ (1993) แห่งการคัดเลือกพระมหากษัตริย์จากประมุข 4 ฝ่ายแทนการสืบสันตติวงศ์แบบโบราณ

ฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี จึงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ได้ลิ้มลองต่อระบบนี้ซึ่งจะทำให้เราได้รู้จักข้อจำกัดมากมายที่เกิดขึ้นจากการตีความทางกฎหมายโดยฝ่ายบริหารซึ่งเป็นนักการเมือง

อนึ่ง ใช่แต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ปรับตัวไปตาม หากแม้แต่พระประยูรญาติใกล้ชิดทั้งหมดที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์นั้นก็ต้องปรับตัวไปตามระเบียบนั้นด้วย

มิใช่นึกจะเลี้ยวไปสู่การกระทำแห่งวังวนเดิมๆ ก็ทำได้

ทว่าเราอาจไม่ทราบมากนักว่า พระกรณียกิจหนักๆ ในราชนิกุลนโรดม (และสีโสวัติถิ์) นั้นเป็นเช่นใดเล่า? โดยความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้น เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่สร้างความหวาดระแวงใดๆ ต่อฝ่ายปกครอง

เป็นข้อหลักที่ราชนิกุลนโรดม-สีโสวัตถิ์ ต่างปฏิบัติรับทราบอย่างเคร่งครัด

ซึ่งแน่ละ สำหรับบางกลุ่มบางฝ่ายที่เคยเล่นการเมืองมาหลายสิบปีเยี่ยงเดียวกับพระบิดาของพระองค์ ย่อมรู้สึกอึดอัดคับข้อง และเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะเยียวยาสมานรอยแผลนี้

ดังจะเห็นได้ว่า การสูญเสียอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หม่อมนโรดม พอลลา ชายาสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนจนแม้แต่สมเด็จกรมพระฯ ก็ถึงกับต้องรักษาตัวร่วมปี ไม่นานต่อมา “เจ้าหญิงดอกไม้ของปวงราษฎร์” สมเด็จราชบุตรีพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ก็ถึงแก่ทิวงคตไปอีกองค์หนึ่ง

การสูญเสียสมเด็จพระพี่นางซึ่งเป็นเหมือนลมใต้ปีกในบทบาทด้านวัฒนธรรมอย่างที่ไม่อาจจะหาใครทดแทนนั้น ด้านหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงได้คืนสมเด็จพระเชษฐากลับคืนมาสู่วังอย่างถาวร เมื่อสมเด็จกรมพระฯ ประกาศเลิกเล่นการเมืองและหน้าที่ประธานพรรคฟุนซินเปกแก่ทายาทเจ้าชายนโรดม จักราวุธ

นี่คือมรดกการเมืองที่ยังเหลืออยู่ของพระบาทนโรดมรัตนโกศสีหนุ และว่า แม้จะสูญเสียหม่อมพอลลาสุดที่รัก แต่การกลับไปคืนดีกับอดีตพระชายาเจ้าหญิงนโรดม มารี ที่เคยหย่าร้างกันไป ก็ทำให้ความแตกร้าวในหมู่นโรดมบางฝ่ายกลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง

ความหม่นหมางที่กลับมาอบอุ่นนี้ มิใช่ใดอื่น นอกจากความเป็น “นโรดม” ที่เหนือสิ่งอื่นใด

โดยเฉพาะสมเด็จพระมหากษัตรีย์นโรดมมุนีนาถสีหนุ พระวรราชมาตาชาติเขมร ผู้ทรงประคับประคอง เสมือนเป็นลมใต้ปีกให้พระโอรส เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงกลายเป็นศูนย์รวมแห่งความรักของทุกฝ่าย

ดังเช่นสมเด็จกรมพระรณฤทธิ์ที่ชอกช้ำจากการเมือง พลันเมื่อว่างเว้น ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับสมเด็จพระมเหศรานโรดม จักรพงษ์ และพระประยูรญาติเกือบทุกพระองค์

โดยมีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งคณะปรึกษาส่วนพระมหากษัตริย์นี้ ตามมาด้วยสมาชิกภาพแห่ง “ที่ปรึกษาธรรมนูญ” เพื่อรับรองว่า ที่ปรึกษาของกษัตริย์ทุกฝ่ายจักต้องให้สัตยาบันต่อธรรมนูญฉบับนี้

 

เหล่านั้น ล้วนเป็นความสลักสำคัญในพระจริยวัตรอันละเอียดอ่อนต่อชีวิตของพระองค์และวงศ์เครือญาติ ดูจะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอยู่มากสำหรับการประคับประคองทุกฝ่ายให้เดินไปตามครรลองของความเป็น “ชนชั้นสูง” ที่เหมาะสม สง่างามในทุกกาลเทศะที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในรัชกาลก่อน

นับว่าทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามต่อการที่ทรงมีมิตรไมตรีแก่ทุกฝ่ายทั้งกลุ่มการเมืองและประยูรญาติอย่างสกรรมกว่าทุกรัชกาล โดยเฉพาะต่อพระประยูรญาติลำดับสูง อาทิ สมเด็จพระบรมรามานโรดม ยุวนาถ

อีกทั้งการที่สมเด็จพระชนนีทรงเป็นที่รักของทุกฝ่าย และแม้จะมีพระชนมพรรษา 84 ชันษาแล้วก็ตาม แต่ทรงงาน เสด็จเยี่ยมเยียนโอรสนโรดมตรัสถามทุกข์สุขในยามยากที่ประสบชะตากรรม สร้างความปลาบปลื้ม ทั้งที่ประทับต่างแดนและใกล้-ไกล ในฐานะตัวแทนในพระองค์

น้ำพระทัยของสมเด็จพระชนนีจึงช่วยเสริมส่งพระจริยวัตรของกษัตริย์กัมพูชาเป็นที่ชื่นชมของทุกฝ่าย

ไม่ว่าจะในยามที่ประทับเคียงข้างกับพระโอรสขณะทรงงานทั้ง 2 พระองค์ร่วมกันอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย โดยนอกจากจะแบ่งเบาพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์แล้ว สมเด็จพระวรราชมาตาชาติเขมรยังทรงแบ่งเบากิจการฝ่ายในของราชสำนักร่วมกับพระน้องนางเธอ-สมเด็จพระอนุชนโรดม อรุณรัศมี

ทั้ง 2 ขัตติยนารี ผู้ให้การปกป้องพระองค์และร่วมกันสร้างความมั่นคงสถาพรต่อสถาบันกษัตริย์ ที่เริ่มจากสิ่งที่ทำได้และไม่ขัดต่อรัฐบาล นั่นคือ การให้ความสำคัญต่อหมู่พระประยูรญาติ

และให้พบว่า หลายปีที่ผ่านมาทรงโปรดที่จะนำเหล่าสมาชิกราชสกุลนโรดมกลับมาสู่ความอบอุ่นสมานฉันท์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ไม่มากไม่น้อยว่า บัดนี้ วิถีนิวนอร์มอล-ความปกติใหม่ที่แตกหักกระจัดกระจาย (disrupted) และเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมากมายที่ตามมา

มิพักว่าจะมากหรือน้อย ขุ่นเคืองหรือเกษมสำราญใดๆ ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่า ระบอบกษัตริย์กัมพูชาได้เข้าสู่วิถีปกติใหม่มานานกว่าทศวรรษแล้ว โดยไม่ว่าพระอิริยาบถในจริยวัตรที่สงบงามของพระองค์เยี่ยงนั้น จะเกิดขึ้นราวกับว่า ทรงเรียนรู้ถึงการดำรงอยู่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไป

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ 1 ในนั้นคือ “ธรรมนูญพระมหากษัตริย์กัมพูชา” ที่บังคับใช้ต่อพระองค์ตลอดร่วม 15 ปีที่ผ่านมา จากการปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นกษัตริย์ดังกล่าวที่ผ่านมา บ่งบอกถึงสถานะที่เปลี่ยนไปในชีวิตของพระองค์อย่างเคร่งครัดตามกฎระเบียบ และบางครั้งก็ไม่อาจสบพระทัยที่จะเป็นฝ่ายเลือก แต่ก็ทรงผ่านมาได้

สำหรับการมาถึงของโลก “ปกติใหม่” (ที่บางครั้งก็ไม่ปกตินั้น) บางทีการมาถึงของวิถีนั้นก็ทำให้กษัตริย์เขมรพระองค์นี้มีข้อได้เปรียบในการปรับตัว ขณะที่สถาบันบางฝ่ายไม่อาจตอบรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

จะด้วยทรงมีความสมถนิยมหรือไม่ที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงดำเนินไปได้อย่างเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นขบวนอารักขาและตามเสด็จที่มีเพียงน้อยนิด หรือการประทับยืนแต่พระองค์ขณะโน้มวรกายและยื่นพระหัตถ์ไปหาประชาชน ในความโดดเดี่ยวลำพังแต่พระองค์เองนั้น

ไม่ใช่น้อยหรือมาก สำหรับพระมหากษัตริย์ที่รู้จักปฏิรูปตัวเอง

เครดิตภาพ : royal_cambodianmonarchy-ig