ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ปี2543 ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสหยิบหนังสือบทละครเวทีเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์ 2475” โดย “คำรณ คุณะดิลก” แห่ง “พระจันทร์เสี้ยวการละคร” ขึ้นมาอ่าน
เข้าใจว่าสาเหตุที่มีการนำละครเวทีเรื่องนี้ (ซึ่งเริ่มจัดแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2530) มาจัดแสดงใหม่ พร้อมกับตีพิมพ์หนังสือบทละครออกมา ก็เพื่อเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีชาตกาล “อาจารย์ปรีดี พนมยงค์”
หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อผมเข้าร่วมงานรับเพื่อนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มีการจัดแสดง “คือผู้อภิวัฒน์” รอบพิเศษให้เหล่านักศึกษาใหม่รับชม
ในแง่กระบวนการศึกษาเรียนรู้ทางการเมือง “คือผู้อภิวัฒน์” ถือเป็นบทเกริ่นนำ ซึ่งทำให้ผมได้เริ่มต้นทำความรู้จักแง่มุมใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากปี 2475 สู่กลางทศวรรษ 2510 ผ่านการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ “อาจารย์ปรีดี” ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เค้าโครงเศรษฐกิจ รวมถึงกรณีสวรรคต
ก่อนที่ผมจะได้ครุ่นคิด-ตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านั้นและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น จากทั้งการนั่งฟังเล็กเชอร์-การสัมมนาในชั้นเรียน การฟังปาฐกถา-งานเสวนาสาธารณะ
ตลอดจนการอ่านหนังสือวิชาการเล่มสำคัญๆ ซึ่งตนเองได้พานพบในรั้วมหาวิทยาลัยช่วงทศวรรษ 2540
หากพิจารณาในแง่มุมทางศิลปะ-สุนทรียศาสตร์ “คือผู้อภิวัฒน์” ได้มอบมรดกทางความคิดสำคัญๆ ให้ผมอยู่สองข้อ
ข้อแรก ละครเวทีเรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่าเราสามารถป่าวประกาศสารทางการเมืองบางชนิดได้อย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ผ่านศิลปะเรื่องเล่าแขนงต่างๆ (บางคนนิยามว่า “คือผู้อภิวัฒน์” เป็นเหมือนการอ่านบทความผ่านการแสดงละครเวที)
ในช่วงอายุหนึ่ง วิธีการที่ “คือผู้อภิวัฒน์” เลือกใช้นั้นได้ส่งอิทธิพลต่อผมอย่างสูง กระทั่งผมเคยเชื่อ (ทึกทักไปเอง) ว่าองค์ประกอบหลักที่สำคัญสูงสุดในกระบวนการสร้างสรรค์เรื่องเล่าหนึ่งเรื่อง คือการประกาศจุดยืนทางการเมืองของประพันธกรอย่างชัดเจนซื่อตรง โดยมีบรรดาตัวละครคอยปฏิบัติหน้าที่เป็นดัง “ร่างทรง” เพื่อถ่ายทอดสารดังกล่าว
ขณะที่พล็อตเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร (รวมถึงคุณภาพของงานสร้าง) ล้วนมีความสำคัญลดหลั่นลงไป
แม้ในปัจจุบัน อิทธิพลทางความคิดจาก “คือผู้อภิวัฒน์” ผ่านการตีความให้มีลักษณะถอนรากถอนโคนยิ่งขึ้นของผม อาจแลดูล้าสมัย ไม่แนบเนียน และปราศจากความคมคาย
ทว่าในยุคสมัยแห่งความเงียบงัน ซึ่งยังไม่มีเสียงแรกๆ อันแปลกแปร่ง ถูกเปล่งหรือกู่ตะโกนออกมาอย่างปราศจากกโลบายและพิธีรีตองใดๆ วิธีการสื่อสารเช่นนั้นก็ดูจะมีประสิทธิภาพในวงจำกัดและช่วยปลดปล่อยระบายความอัดอั้นตันใจได้ไม่น้อย
ข้อสอง “คือผู้อภิวัฒน์” สอนให้เด็กวัย 18-19 ปีเช่นผมตระหนักด้วยความตื่นเต้นว่า เราสามารถนำเอาเหตุการณ์และตัวละครบางรายจากนิยายเรื่อง A และ B ของนักเขียนท่านอื่นๆ มาสอดแทรกไว้ในผลงานการประพันธ์/บทหนังบทละครเรื่อง C ซึ่งเราเพิ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ได้
พูดอีกอย่างคือ “แม่พลอย” และ “สาย สีมา” ไม่จำเป็นจะต้องมีชีวิตโลดแล่นอยู่ใน “สี่แผ่นดิน” และ “ปีศาจ” เท่านั้น ทว่าเราสามารถนำตัวละครทั้งสอง (และจุดยืนทางการเมืองของนักประพันธ์ผู้สร้างเธอ/เขาขึ้นมา) มาปะทะชนกันในละครเวทีเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์”
ผมมารับรู้เมื่ออายุ 20 กว่าๆ ว่าลักษณะของความเชื่อมโยงข้ามตัวบททำนองนี้ ถูกเรียกในภาษาวิชาการว่า “สัมพันธบท”
นี่อาจเป็นจุดแข็งสองข้อของ “คือผู้อภิวัฒน์” ซึ่งผมยังสัมผัสได้จนถึงปัจจุบัน
สองทศวรรษผ่านไป ผมได้ข่าวว่าจะมีการจัดแสดงละคร “คือผู้อภิวัฒน์” อีกครั้ง ในวาระ 120 ปี ชาตกาล “อาจารย์ปรีดี” และในห้วงจังหวะที่คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจประวัติศาสตร์คณะราษฎร-2475 อย่างแพร่หลาย ที่โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) จึงตัดสินใจจองตั๋วเข้าชม (ฟรี) เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน
ก่อนหน้าการเข้าชม ได้ทราบว่าการแสดงคราวนี้ยังคงใช้บทละครดั้งเดิม และกำกับการแสดงโดย “สินีนาฏ เกษประไพ” แห่งคณะพระจันทร์เสี้ยวฯ แต่จะแสดงโดยนักศึกษารุ่นใหม่ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ.
ผมเกิดคำถาม-ความคาดหวังในใจอยู่สองประการ
ประการแรก ถ้าละครเรื่องนี้ยังนำเสนอแบบเดิมเป๊ะๆ มันจะยังทรงพลังอยู่หรือไม่ในยุคปัจจุบัน? ซึ่งสังคมการเมืองไทยเคลื่อนหน้าไปไกลมาก
ประการที่สอง น้องๆ นักแสดงที่มีส่วนร่วมกับละคร จะช่วยตีความใหม่ ใส่บริบท-สัมพันธบทใหม่ๆ เข้าไปใน “คือผู้อภิวัฒน์ 2563” บ้างหรือไม่?
โดยเฉพาะบริบท-สัมพันธบทที่ข้องเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นพวกเขา
น่าสนใจว่าบรรดาคนรุ่นใหม่ที่กำลังออกมารณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นมิได้แปรเปลี่ยนให้การต่อสู้ของพวกตนกลายสภาพเป็นเกมคอมพิวเตอร์หรือไลต์โนเวล อันเป็นโลกใบใหม่ที่ผิดแผกจากโลกของผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง
ตรงกันข้าม พวกเขาและเธอหลายคนยังคงยึดโยงตัวเองกับการเมืองวัฒนธรรมที่คนรุ่นก่อนๆ คุ้นเคยเป็นอย่างดี
ตัวอย่างชัดเจนสุดคือภาพที่ “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” นำมวลชนร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” หน้า สน.ประชาชื่น
คำถามคือ ทำไม “แสงดาวแห่งศรัทธา” ฉบับ “รุ้ง” จึงทรงพลังในการรับรู้ของคนรุ่นใหม่-ผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เพลงนี้เคยถูกใช้กันจนเกร่อโดยม็อบปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ตลอดจนศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่เปลี่ยนจุดยืน?
คำถามคือ ทำไม “แสงดาวแห่งศรัทธา” ฉบับ “รุ้ง” จึงยังทรงพลังในหมู่ผู้ชุมนุม “ราษฎร” ท่ามกลางการดำรงอยู่ของเพลงการเมืองอื่นๆ ที่ทันสมัยกว่า เช่น “ประเทศกูมี” หรือ “1 2 3 4 5…”?
ผมตีความว่าเป็นเพราะ “รุ้ง” มิได้ขับร้องบทเพลงเดิมอย่างล่องลอยกลวงเปล่า แต่เธอได้เสริมใส่บริบทใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มพลังให้แก่ตัวบทเก่าๆ บริบทใหม่อันได้แก่ประสบการณ์การใช้ชีวิตในเรือนจำของตนเอง ซึ่งอ้างอิงถึงความศรัทธาที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย-มวลชนร่วมอุดมการณ์ รวมทั้งความฝันที่เธอมีร่วมกับเพื่อนๆ และนักต่อสู้รุ่นพี่อย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์”
ในแง่นี้ “รุ้ง ปนัสยา” จึงกลายเป็นผู้ชุบชีวิตใหม่และจุดแสงสว่างดวงใหม่ให้แก่เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”
ผมหวังจะได้เห็นอะไรเช่นนี้ใน “คือผู้อภิวัฒน์ 2563” แต่กลับไม่เห็น
ปัญหาของ “คือผู้อภิวัฒน์” ฉบับล่าสุดอยู่ตรงไหน?
แรกสุดต้องยอมรับว่าละครมีปัญหาเรื่อง “ตัวบท”
ผมไม่แน่ใจว่า “คือผู้อภิวัฒน์” เคยทรงพลังแค่ไหนเมื่อจัดแสดงครั้งแรกตอนปี 2530 ท่ามกลางกระแสการเริ่มฟื้นฟูเกียรติภูมิของ “อาจารย์ปรีดี” ภายในประชาคมธรรมศาสตร์
อย่างไรก็ดี จนถึงปี 2543 ผมยังรู้สึกได้ถึงพลังของ “คือผู้อภิวัฒน์” ในฐานะ “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยมหาบุรุษคนอื่นๆ” ท่ามกลางภาวะเรืองรองถึงขีดสุดของ “อภิมหาเรื่องเล่าหลัก” ตลอดช่วงทศวรรษนั้น
แต่เมื่อถึงปี 2563 ต้องยอมรับว่าเรื่องเล่าที่เน้นเชิดชู “อาจารย์ปรีดี” เป็นพระเอกเพียงผู้เดียว ท่ามกลางผู้ร้ายและเพื่อนพระเอกที่พลิกผันกลายเป็นตัวร้าย อาจจะล้าสมัยไปพอสมควร
ตรงกันข้าม ผู้ชมอาจต้องการมองเห็นภาพ “อาจารย์ปรีดี” ในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งมีความขัดแย้งภายในจิตใจ มีความย้อนแย้งในพฤติกรรมทางการเมืองของตนเอง หรืออยากเข้าใจความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างเขากับกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่มีบทบาทในยุคสมัยเดียวกัน
ในฐานะคนดู ผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมดัดแปลงบทละครดั้งเดิมของ “คือผู้อภิวัฒน์” ให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น และได้ส่งเสียงออกมาว่าพวกเขามีเรื่องอะไรอยากถาม-อยากคุยกับ “อาจารย์ปรีดี” มากกว่าจะมามุ่งแก้ต่างให้รัฐบุรุษอาวุโส ดังที่ละครเรื่องนี้ทำมาตลอดและน่าจะเป็นภารกิจที่สำเร็จสมบูรณ์ในระดับหนึ่งแล้ว
ถัดมาคือปัญหาเรื่อง “สัมพันธบท” และ “บริบท”
ในกรณี “สัมพันธบท” ผมตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้สร้างละครจะลองสรรหา “ตัวบทอื่นๆ” ชิ้นใหม่มาช่วยเสริมพลานุภาพของการปะทะกันระหว่าง “สี่แผ่นดิน” กับ “ปีศาจ” ซึ่งดำรงอยู่มายาวนานกว่าสามทศวรรษ
ต้องยอมรับว่าผมเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าบทประพันธ์ชิ้นใด-ตัวละครรายไหน จะสามารถเข้ามาตอบสนองภารกิจนี้ได้ แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางการเมืองอยู่เต็มเปี่ยม และกำลังศึกษาประวัติศาสตร์กันอย่างจริงจัง อาจนึกคำตอบข้อนี้ออก
นอกจากนั้น การดำรงอยู่ของ “สาย สีมา” และวรรคทอง “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ใน “คือผู้อภิวัฒน์” ตลอดจนผลงานวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ โดยฝ่ายประชาธิปไตย ยังทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามว่าเราจะไม่ลองอ่าน “ปีศาจ” หรืออ่าน “เสนีย์ เสาวพงศ์” ในแง่มุม (ย่อหน้า) อื่นๆ กันบ้างเลยหรือ?
ในแง่ “บริบท” คำถามมีอยู่ว่า ต้องทำอย่างไรคณะผู้สร้างจึงจะสามารถนำเอาบริบททางการเมืองยุคปัจจุบันมาเสริมส่งพลังให้ “คือผู้อภิวัฒน์” ได้มากกว่านี้?
หรือในทางกลับกัน จะทำอย่างไรให้ “คือผู้อภิวัฒน์” มีความหมายต่อการออกไปสู้ของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น?
จุดหนึ่งที่ผมพอนึกออกคือ ละครเวทีเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยบทพูดเชิงอุปมาอุปไมยถึง “แสงหิ่งห้อย” ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก่อน ผมก็เพิ่งรู้สึกอิ่มเอมกับบทพูดเปรียบเปรยว่าด้วย “แสงหิ่งห้อย” ในภาพยนตร์ไทยต้นทศวรรษ 2550 เรื่อง “October Sonata รักที่รอคอย” เช่นกัน
“แสงหิ่งห้อย” ในละคร-หนังทั้งสองเรื่อง ล้วนสื่อถึงความใฝ่ฝัน-อุดมการณ์-ความเป็นไปได้อื่นๆ ซึ่งดำรงอยู่ในมือคนเล็กๆ ท่ามกลางสังคมการเมืองอันมืดมิดเกือบไร้สิ้นความหวัง
เป็นไปได้หรือไม่? ที่เราจะลองแปร “แสงหิ่งห้อย” ซึ่งแทบมิเคยประจักษ์ชัดในทัศนวิสัยของคนรุ่นใหม่ ให้กลายเป็นแสงไฟจากโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ที่ถูกกดเปิดแล้วชูโบกไปมาเหนือศีรษะของผู้คนนับพันนับหมื่นราย
นี่คือภาพที่คนจำนวนมากต่างพบเห็นจนคุ้นตาในการชุมนุมระยะหลัง
นี่คือ “แสงไฟ” ที่มีกำลังกล้าแข็งและจะไม่มีวันมอดดับรางเลือนลงง่ายๆ ในโลกการเมืองสมัยใหม่
หลังดู “คือผู้อภิวัฒน์ 2563” จบ ผมแวะไปเยี่ยมชมผลงานประติมากรรมรูป “อาจารย์ปรีดี” นั่งบนม้านั่งใกล้ “อาจารย์ป๋วย” บริเวณอาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี
ตัวประติมากรรมมีความน่าประทับใจทั้งเพราะความติดดินและลักษณะพิเศษอีกข้อคือ แม้นี่จะเป็นการผลิตซ้ำภาพจริงในอดีต แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ความจริงชุดใหม่ๆ หรือประสบการณ์อื่นๆ ในปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะตรงช่องว่างอันคั่นกลางระหว่างสองปัญญาชนอาวุโส หรือตรงฉากหลัง ซึ่งมีผู้คนมากมายมาประกอบกิจกรรมหลายหลากตามอัธยาศัย
เชื่อว่าสาขาวิชาการละคอน มธ. คงมีดำริจะจัดสร้างละครเวทีแนวประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยต่อไปเรื่อยๆ
“คือผู้อภิวัฒน์ 2563” ถือเป็นย่างก้าวเริ่มต้นที่น่าเอาใจช่วย
และขอให้ผลงานครั้งหน้าสามารถนำพาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวที่มีพลวัตเคลื่อนไหว-สร้างสรรค์แรงบันดาลใจได้มากยิ่งขึ้น
เฉกเช่นความมีชีวิตชีวาของประติมากรรม “อาจารย์ปรีดี-อาจารย์ป๋วย”