คนรุ่นใหม่นามว่า “คนเกือบจน” | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

เราเคยได้ยินคำว่า “คนเคยรวย” หรือ “คนเคยจน” แต่ในยุคโควิด-19 ที่ทุกอย่างกลายเป็น New Normal นั้น ศัพท์ใหม่ก็ถูกผลิตขึ้นเพราะสถานการณ์ใหม่ที่คาดไม่ถึง

จึงเกิด “คนเกือบจน” แห่งยุคสมัยขึ้นมา

เป็นคำที่สภาพัฒน์ (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) หรือ สศช. เพิ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์ใหม่

“คนเกือบจน” คือกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่คนยากจนเสียเลยทีเดียว

แต่เป็นกลุ่มคนที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคใกล้เคียงกับเส้นยากจน

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะหล่นลงมาเป็น “คนยากจน” เต็มพิกัดได้ง่าย

ถ้ามีปัญหามากระทบ เช่น เจ็บป่วย, ตกงาน, ว่างงาน, อุบัติภัย เป็นต้น

เพราะจำนวน “คนเกือบจน” มีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงกลายเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับโควิด

อีกทั้งในภาวะโควิดทำให้คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น…จากที่เคยเป็นหนี้มากอย่างน่ากังวลแล้ว

จึงทำให้ “คนจน” และ “คนเกือบจน” เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่ากลัว

คําว่า “คนเกือบจน” มาจากรายงานของสภาพัฒน์ ว่าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทยปี 2562

เป็นข้อมูลที่สำรวจสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยระหว่างปี 2561-2562

เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงปัญหา “ความยากจน” ที่กระเตื้องขึ้นก่อนโควิด แต่พอโดนวิกฤตกระทบอย่างจัง ก็ทำให้เกิดประเด็นใหม่ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงานนี้บอกว่าสถานการณ์ความยากจนปี 2562 ปรับตัวทิศทางที่ดีขึ้น

สัดส่วนคนจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 หรือ 6.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือ 4.3 ล้านคน

ที่ว่าดีขึ้นนั้นมาจากผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีอัตราโตในระดับหนึ่ง

แม้ว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่ม แต่คนจนก็ได้รับผลพลอยได้อยู่บ้าง

อีกทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐก็มีส่วนในการลดตัวเลขคนยากจนได้บ้าง

เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น

ทำให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.42%

ด้วยเหตุที่สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ 6.24% ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

แผนนี้มีเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 6.5% ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564

แต่อย่าเพิ่งยินดีปรีดาไป

เพราะแม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังเอาแน่ไม่ได้

เพราะพอเข้าสู่ปี 2563 เราก็เจอกับวิกฤตโควิด-19 เต็มๆ

และเกือบจะชั่วข้ามคืนไทยก็ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานกว่าที่คาดคิด

นั่นจะทำให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายขึ้นอีก

แปลว่าจำนวนคนจนปี 2563 ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาถึงตรงนี้รายงานสภาพัฒน์ก็แนะนำคำว่า “คนเกือบจน” ให้เราได้นั่งวิเคราะห์กัน

ตอนหนึ่งของรายงานบอกว่า “แม้ว่าคนยากจนจะลดลงทั้งกลุ่มคนยากจนน้อย และคนยากจนมาก แต่ “คนเกือบจน” กลับมีอยู่เป็นจำนวนมาก”

รายงานชิ้นนี้อธิบายว่า

“เมื่อพิจารณา “คนเกือบจน” หรือกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่คนยากจน แต่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประชากรในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นคนยากจนได้ง่าย หากมีปัญหามากระทบ เช่น การเจ็บป่วย การว่างงาน อุบัติภัย ฯลฯ ทั้งนี้ พบว่าในปี 2562 “คนเกือบจน” มีจำนวน 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังและต้องมีมาตรการดูแลช่วยเหลือต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ตกไปเป็นกลุ่มคนจน”

ถ้าเอา 4.3 ล้านคนที่รายงานนี้บอกว่าเข้าเกณฑ์ “คนจน” บวกกับ 5.4 ล้านคนที่เข้าข่าย “คนเกือบจน” ก็จะเท่ากับเรามี 9.7 ล้านคนที่เป็นผู้สุ่มเสี่ยง

คือคาบเส้นระหว่าง “จน” กับ “เกือบจน”

ไม่นับคนที่อาจจะเรียกว่าเป็น “คนจนมากจนน้อย” ที่ตกอยู่ในสภาพ “หาเช้ากินค่ำ” หรือ “พอประทังชีวิตไปวันๆ” ที่ตกสำรวจก็น่าจะมีคนที่อยู่ในกลุ่ม “ชีวิตย่ำแย่” มากกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกันในความยากจนนั้นยังมี “ความเป็นหนี้” ที่สูงอย่างน่าห่วงมากๆ ด้วย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ ได้ซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

และมีผลกระทบโดยเฉพาะต่อรายย่อยอย่างหนัก

 

ทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดรายได้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

“สถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไรและเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 และความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา” คุณเศรษฐพุฒิบอก

เขาบอกว่า ปัจจุบันคนไทย 1 ใน 3 มีภาระหนี้สูง

กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ผลการศึกษาของ ธปท.และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วและนานขึ้น

การสำรวจพบว่าคนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย

และครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยส่วนมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต และคนไทยยังเป็นหนี้นาน

ขณะเดียวกัน 80% ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปีมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท

“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้…”

ผลที่ตามมาก็คือหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 80% ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้

และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ธปท.จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้

มาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ ส่วนหนึ่งคือการพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน

ลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราวนั้น ให้มีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด

และลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน

ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธปท.ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้

นั่นคือเปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan)

รวมถึงการเปิดโครงการ “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง

นั่นคือการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออม

และบริหารการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง

หาไม่แล้ว “คนเกือบจน” ก็จะกลายเป็น “คนจนจริง”

และ “คนจน” วันนี้ก็จะหล่นลงมาเป็น “คนจนเรื้อรัง” โดยที่ไม่เห็นโอกาสที่จะขยับขึ้นมาเป็น “ผู้พ้นจากความยากจนถาวร” ได้เลย!