มุกดา สุวรรณชาติ : ที่เหลืออยู่… จากการเรียกร้องให้ยุบสภา 2553 (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

ครบรอบ 7 ปีของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาในปี 2553

ทีมงานของเรามองย้อนไปก็พบว่าความทรงจำของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ค่อยๆ ถูกทำให้เลือนหายไป ทั้งๆ ที่คดียังค้างคาอยู่

ระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาและมีสภาพอย่างเช่นทุกวันนี้ล้วนผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชน โชกเลือด แม้จะอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นอย่างที่หวัง แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนธรรมดาที่เป็นชาวบ้านร้านถิ่น ชาวนาชาวไร่

วัยรุ่นบางคนที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งหน้าบอกว่า จำเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้บ้างเล็กน้อยเพราะตอนนั้นยังเด็ก

ความทรงจำที่เหลืออยู่ของคนธรรมดา จึงคล้ายภาพที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเหลือเพียงคำบรรยายสั้นๆ

ถ้าจะทบทวนความจำ ต้องเริ่มตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549

และยังตามมาด้วยการยึดอำนาจซ้ำโดยตุลาการภิวัฒน์ ต่อนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และฟอร์มรัฐบาลใหม่ในค่ายทหารตั้งแต่ปลายปี 2551 จนได้ครองอำนาจรัฐในปี 2552 แม้จะถูกประท้วงอยู่บ้าง แต่ก็ผ่านมาได้

แต่ปี 2553 พวกเสื้อแดงก็เคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อทวงอำนาจอธิปไตยคืนโดยเสนอให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่

กลุ่มผู้กุมอำนาจไม่มีทางยอมให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพราะเพิ่งได้อำนาจเพียงปีเดียว ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ไม่แน่ว่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก กว่าจะได้อำนาจรัฐ ต้องใช้การลงทุนไปมากมาย ใช้กำลังคนหลายกลุ่ม หลายองค์กร

กลุ่มอำนาจเก่าจึงตัดสินใจพิทักษ์อำนาจรัฐไว้ทุกวิถีทาง

 

ฉากที่ 1…การชุมนุมช่วงแรก

จบด้วยความตาย (มีนา-เมษา)

12-13 มีนาคม 2553 แกนนำ นปช. ระดมมวลชนเสื้อแดง จัดการชุมนุมย่อยในหลายพื้นที่ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ, วงเวียนหลักสี่, แยกดินแดง, สวนลุมพินี, วงเวียนใหญ่, แยกบางนา

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาที่สะพานผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนิน เพื่อร่วมชุมนุมใหญ่ โดยมาเป็นขบวนรถมากมาย

15 มีนาคม นายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวว่า ผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือซึ่งเห็นร่วมกันว่าไม่ควรมีการยุบสภา

20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงจัดขบวนรถจำนวนหนึ่งเคลื่อนขบวนไปรอบ กทม.

3 เมษายน ขบวนผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง แยกจากราชดำเนิน มาปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ ตั้งแต่แยกประตูน้ำ ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ

7 เมษายน นายกฯ อภิสิทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

8 เมษายน สถานีไทยคมถูกระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียง

9 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้มีการออกอากาศของสถานีประชาชนตามเดิม แต่มีการปะทะกับกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม

10 เมษายน 2553 ผู้ชุมนุมราชดำเนินปะทะกับทหาร

13.30 น. เกิดการปะทะใกล้ทำเนียบรัฐบาลและกองทัพภาคที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้น้ำฉีดผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมแยกดังกล่าว มีการยิงแก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงบางคนได้รับบาดเจ็บ ถอยร่น ทหารรุกไล่เดินหน้าเข้าสู่ถนนราชดำเนิน

14.00 น. ทหารตรึงกำลังตามสี่แยกต่างๆ ตั้งแต่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 แยกมิสกวัน และสะพานมัฆวานรังสรรค์ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่างถอยร่นไปรวมตัวที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และพยายามใช้รถขวางทางเพื่อสกัดทหารตามแยกต่างๆ

17.30 น. มีเฮลิคอปเตอร์บินวนและทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาเพื่อสลายการชุมนุม

20.15 น. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย ที่ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว ถึงถนนข้าวสาร มีทั้งเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงเพลงปลุกใจ เสียงจากลำโพงขนาดใหญ่ของทหาร

แต่บนพื้นมีเลือด และผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย แต่ประชาชนตายมากกว่า

สงครามหนึ่งวันสิ้นสุดลงในเวลา 12 ชั่วโมง การปราบ เริ่มจากหนักธรรมดาในตอนบ่ายวันที่ 10 เมษายน มีทั้งกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกระบอง ไปจนถึงหนักมากในช่วงค่ำ คือ กระสุนจริง รถหุ้มเกราะ และสไนเปอร์

ผลการปะทะก็คือมีซากรถหุ้มเกราะและยานยนต์ทหารถูกเผาทำลายอยู่หลายคัน โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,427 ราย ทั้งทหารและประชาชน

 


ฉากที่ 2…การกระชับพื้นที่

ราชประสงค์ (13-17พฤษภา)

การชุมนุมที่ถนนราชดำเนินยุติลง แต่ผู้ชุมนุมทั้งหมดย้ายมาชุมนุมที่ราชประสงค์เพียงจุดเดียวในวันที่ 14 เมษายน 2553 หลังจากมีการชุมนุมที่จุดนี้มานาน 11 วันแล้ว

การชุมนุมที่ราชประสงค์ในช่วงเย็น จะมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นหมื่นคน แม้คนจากต่างจังหวัดจะทยอยกลับไปแล้ว แต่ผู้ชุมนุมจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาเข้าร่วมหลังเลิกงาน

ยิ่งคืนวันศุกร์ วันเสาร์ ก็จะมีคนมากเป็นพิเศษ

แต่บรรยากาศโดยรอบอาจจะไม่สันติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการยิงกันประปราย เช่น แถวแยกศาลาแดง การรักษาความปลอดภัยก็เริ่มเข้มงวด

บรรยากาศเริ่มเหมือนค่ายบางระจัน มีการใช้ยางรถยนต์ตั้งเป็นกำแพงสูง พร้อมปักหลาวไม้ไผ่

ฝ่ายผู้กุมอำนาจก็เริ่มใช้กำลังทหารเข้าปิดล้อมเพื่อบีบบังคับให้ยุติการชุมนุม

ระหว่างนั้นก็ยังมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำของผู้ชุมนุมเป็นช่วงๆ

แต่ความเห็นในแกนนำแยกเป็นสองทาง

ส่วนหนึ่งคิดว่าควรยุติ

ส่วนหนึ่งยืนยันให้ชุมนุมต่อ

รัฐบาลอ่านเกมแล้วว่าพวกเสื้อแดงไม่เลิกง่ายๆ แน่จึงตัดสินใจ “กระชับพื้นที่” โดยใช้กำลังทหารจำนวนมากเข้าปฏิบัติการ

คาดว่าเป็นการใช้กำลังทหารปฏิบัติการมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

13 พฤษภาคม เริ่มมีลักษณะเป็นสงครามย่อย เพราะรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 17 จังหวัด

รวมทั้งเพิ่มมาตรการเพื่อปิดล้อมกดดันผู้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ โดยใช้กำลังทหารจำนวนมาก

มีการตั้งด่านตรวจตราเส้นทางเข้าออกบนถนนแทบทุกสาย พร้อมประกาศตัดน้ำตัดไฟและตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

เวลาประมาณ 1 ทุ่ม เสธ.แดง ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในสายกำลังของผู้ชุมนุมถูกลอบยิงด้วยสไนเปอร์บริเวณหน้าสวนลุม ติดกับโรงพยาบาลจุฬาฯ กระสุนเจาะเข้าสมอง แม้ไม่เสียชีวิตในทันทีแต่ก็อยู่ในอาการโคม่าและอยู่ได้อีกเพียงสี่วัน

การลอบยิง เสธ.แดง เป็นการยืนยันว่าจะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นต่อไป

เพราะนี่เป็นการตัดกำลังแกนนำฝ่ายบู๊

แม้แกนนำจะรู้สึกกังวลและหวาดกลัวการลอบยิง แต่ก็ยังชุมนุมต่อ มีการใช้สแลนสีดำมาขึงด้านบนของเวที เพื่ออำพรางเป้า

14 พฤษภาคม จุดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับทหาร กระจายออกไปตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระราม 4 บริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ แยกศาลาแดง แยกถนนวิทยุ บ่อนไก่

ฝ่ายผู้ชุมนุมเผายางรถยนต์เป็นม่านควันเพื่อไม่ให้พลซุ่มยิงเห็นได้ถนัด

ตอนค่ำมีการยิง M79 เข้าใส่แยกศาลาแดงและถนนสีลม และแยกประตูน้ำ มีผู้เสียชีวิตรวม 7 คน เป็นทหาร 2 คน แต่มีผู้บาดเจ็บนับร้อย

15 พฤษภาคม ยังมีการปะทะตามจุดต่างๆ เหมือนวันที่ 14 แฟลตตำรวจ สน.ลุมพินีถูกยิงด้วย M79

ถนนสุดยอดอันตรายคือถนนราชปรารภตั้งแต่ประตูน้ำไปจนถึงแยกดินแดง โดยเฉพาะบริเวณปากซอยรางน้ำ ซอยหมอเหล็ง และสามเหลี่ยมดินแดง เป็นจุดปะทะหนัก

ถนนเส้นนี้เดิมเป็นเส้นทางเข้า-ออก และเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารเข้าไปส่งผู้ชุมนุม

แต่ในวันที่ 15 ก็ไม่สามารถเข้าไปได้แล้วเพราะมีจุดซุ่มยิงจากอาคารสูง ไม่น้อยกว่าสองจุด

กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้ามาสมทบจึงติดอยู่ตรงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

การต่อสู้บริเวณนี้มีชาวบ้าน สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กู้ภัย ถูกยิงด้วยสไนเปอร์เสียชีวิตมากที่สุด

16 พฤษภาคม การปะทะกันยังรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นใน 5 จังหวัดทางภาคอีสาน

การปะทะกันบนถนนพระราม 4 ยังมีอยู่เหมือนเดิม

ยางรถยนต์ยังถูกนำมาจุดไฟเผาบนถนน

ตอนค่ำห้างโลตัสพระราม 4 ถูกเผา มีการตัดน้ำตัดไฟแถวบ่อนไก่ มีการเผาธนาคารกรุงเทพสาขาดินแดง ประชาชนเริ่มกักตุนอาหารเพราะไม่แน่ใจสถานการณ์ รัฐบาลประกาศให้วันที่ 17-18 เป็นวันหยุดราชการในกรุงเทพฯ

แกนนำ นปช. ต้องการเจรจากับรัฐบาล แต่ขอให้หยุดยิงและถอนทหารออกจากพื้นที่

แต่รัฐบาลยังใช้แผนกระชับพื้นที่ต่อไป

17 พฤษภาคม การปะทะกันยังคงดำเนินต่อไป

มีการนำรถบรรทุกน้ำมันมาจอดกลางถนนพระราม 4 มีการยิงระเบิด M79 เข้าไปในโรงแรมดุสิตธานี

4 วันที่ผ่านมามีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บเกือบ 300 คน

ราชประสงค์ถูกปิดล้อมทุกด้าน รัฐบาลพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เพื่อจะได้สลายง่าย

แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ไป การเข้าออกถูกปิด ทั้งรถเมล์ เรือด่วน รถไฟฟ้า ถูกตัดหมด มีเส้นทางหนูรอดมุดไปตามตรอกซอยด้วยมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ก็ต้องระวังการดักยิง

 

คําถาม?

การเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน ทำไมปล่อยให้ยืดเยื้อมานานเป็นเดือน

จนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเกิน 60 คน

…ตามประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่

เหตุการณ์ร้ายแรงควรจะจบลงแบบมีผู้ใหญ่เข้ามาไกล่เกลี่ย ประนีประนอมตั้งแต่สงกรานต์ เพราะตอนนั้นยังมีรัฐบาลและรัฐสภา

แต่คราวนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง ไม่รู้ว่ากรรมอะไรมาบังตา ทำให้ไม่มีใครสนใจจะช่วยทำให้เหตุการณ์สงบ

กลับขยายความขัดแย้งให้ยืดเยื้อต่อไปและรุนแรงมากขึ้น

กว่าจะมี ส.ว. พยายามเป็นตัวกลางสงบศึก ก็สายเกินไป (ต่อฉบับหน้า)