เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / พินอคคิโอ 2563

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

พินอคคิโอ 2563

 

วันก่อนผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง “พินอคคิโอ” ที่โรงหนังมา

ใช่แล้วครับ “พินอคคิโอ” เจ้าหุ่นไม้ที่มีชีวิต พูดได้ เคลื่อนไหวได้ ทำอะไรได้เหมือนเด็กผู้ชายซนๆ คนหนึ่ง หนึ่งในการ์ตูนที่เป็นตำนานของวอลต์ ดิสนีย์

ที่สนใจไปชมเพราะเคยดูแต่ฉบับการ์ตูน แม้จะมีการสร้างแบบที่ใช้คนจริงๆ แสดงมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ดู เลยอยากไปดูว่าหนังจะทำเด็กให้ออกมาเป็นหุ่นไม้ได้ดีแค่ไหน สมจริงหรือไม่ นอกจากจะสนใจเพราะเป็นภาพยนตร์อิตาลี ที่นานๆ จะมีมาให้ชมกันในบ้านเรา

เรื่อง “พินอคคิโอ” เป็นวรรณกรรมคลาสสิคของ “การ์โล กอลโลดี” ที่สร้างเรื่องหุ่นมีชีวิตนี้ขึ้นมาเมื่อ 140 ปีก่อน คือในปี ค.ศ.1880

สำหรับเวอร์ชั่นคนแสดงเป็นครั้งแรกนี้กำกับฯ โดย “โรแบร์โต เบนิญญี” นักแสดงและผู้กำกับฯ ชาวอิตาเลียนที่เคยฝากผลงานเรื่อง “Life is Beautiful” ในปี 1997 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายคนมาแล้ว

 

คําว่า “พินอคคิโอ” เป็นภาษาอิตาเลียนมาจากคำว่า Pino คือ “ต้นสน” รวมกับคำว่า Occhio ที่แปลว่า “ตา”

ซึ่งก็แปลว่า ต้นสนที่มีชีวิต ทำนองนั้น

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับวิเศษจนไม่น่าพลาด การเล่าเรื่องก็เดินไปตามหนังการ์ตูนนั่นเลย ไม่ได้ตีความใหม่หรือแปลงเนื้อเรื่องให้แปลกพิสดารขึ้นแต่อย่างใดนัก

สำหรับประเด็นการทำเอฟเฟ็กต์ คนเป็นไม้ ของตัวเอก “พินอคคิโอ” ที่ทำให้สนใจไปชมนั้น นับว่าทำได้ดีทีเดียว ดูเพลินๆ ก็นึกว่าเป็นไม้พูดได้จริงๆ

หนังเรื่องนี้ภาพสวย และสะท้อนบรรยากาศของอิตาลีสมัยก่อนออกมาให้ชม ที่ยังมีธรรมชาติเป็นท้องทุ่งและป่าเขาลำธารอยู่มาก ประกอบกับการจัดแสงที่ลงตัวทำให้ดูเพลินตาดี

 

ใครที่เคยชมภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ หรือได้อ่านเรื่องนี้ไปแล้วคงจะพอจำได้ว่า เป็นเรื่องการผจญภัยของพินอคคิโอ ที่เปรียบให้เห็นว่า หุ่นไม้ซื่อๆ มองโลกในแง่ดี เมื่อต้องเจอกับโลกของความเป็นจริง โดยเฉพาะมนุษย์ และเหล่าสัตว์เจ้าเล่ห์ทั้งหลายเข้า หุ่นไม้ก็กลายเป็น “เหยื่อ” อันโอชะดีๆ นี่เอง

ซึ่งเวอร์ชั่นภาพยนตร์ 2020 นี้ก็ยังคงรักษาแก่นกลางของเรื่องนี้ไว้อย่างแข็งแรง

รวมทั้งประเด็นเรื่อง “การโกหก” ที่เมื่อใดที่พินอคคิโอพูดโกหก จมูกไม้ของเขาจะงอกยาวออกมาเรื่อยๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เล่นกับภาพจมูกยาวแค่ฉากเดียว

แต่เล่นกับ “การโกหก” ทั้งจากพินอคคิโอเอง และจากตัวละครอื่นๆ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จนดูเหมือนว่าการโกหกนั้นมีอยู่ในสังคมมนุษย์มาทุกยุคสมัย

พินอคคิโอทั้งจากฉบับการ์ตูนและคนแสดงนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า คนเราจะเอาตัวรอดได้ ต้องมี “ความรู้” เพื่อจะได้เท่าทันคนอื่น ซึ่งในหนังก็เล่าว่า เพราะพินอคคิโอโดดเรียน ไม่สนใจหาความรู้ จึงตกเป็นเหยื่อของความเย้ายวนจากโลกภายนอกได้ง่ายๆ

ใครพูดอะไรก็เชื่อ ใครพาไปไหนก็ไป

ตัวละครหลายตัวหาผลประโยชน์จากการ “ปั่นหัว” และ “สร้างเรื่อง” ให้พินอคคิโอเชื่อ ซึ่งก็ทำให้เด็กน้อยประสบกับชะตากรรมต่างๆ อย่างน่าสงสาร

ที่รุนแรงสาหัสที่สุดก็คือร่างกายที่ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็น “ลา” พร้อมกับเด็กๆ ที่หลงผิดทั้งหลาย จนตกเป็น “สินค้า” ของมนุษย์ผู้ใหญ่ใจร้ายที่โลภโมโทสัน

ที่มีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า “ลาโง่” ก็เป็นอย่างนี้นี่เอง

 

ในหนังมีฉากที่เด็กๆ ถูกล่อลวงมาให้ “เพลิดเพลิน” ในพื้นที่ของตนเอง ที่มีเฉพาะเด็กๆ โดยให้ความรู้สึกของ “การเป็นอิสรเสรี” ไม่ต้องอยู่ใต้การสั่งสอน บังคับบัญชาของผู้ใหญ่มาเป็นตัวล่อ

วัยเด็กนั้นเป็นวัยที่รักอิสระอยู่แล้ว เป็นวัยที่อยากสนุก อยากมีความเป็นตัวของตัวเอง ที่พร้อมจะไม่อยู่ในกรอบระเบียบใดๆ

หากการใช้ “อิสรเสรี” นั้นไปในทางที่เหมาะที่ควร ก็คงจะไม่กระไร

ในทางตรงกันข้าม หากใช้ไปในทางที่บิดเบี้ยว สุดท้ายแล้วผลเสียก็ตกอยู่กับเหล่าเด็กๆ นั่นเอง

 

หากเทียบเรื่องราวของหนัง “พินอคคิโอ” ฉบับ 2020 กับสังคมไทยในยุค 2020 นี้ก็พอจะเปรียบเปรย เทียบเคียงบางอย่างได้เช่นกัน

อย่างแรกเลยคือ “เด็กๆ ต้องการอิสรเสรีทางความคิดและการแสดงออก”

ตั้งแต่ฉากต้นเรื่องเมื่อพินอคคิโอมีชีวิตขึ้นมา ก็ออกวิ่งไปสัมผัสโลกภายนอกในทันทีทันใด โดยไม่สนใจฟังคำเรียกจาก “เจปเปตโต” ช่างไม้ที่เป็นเหมือนพ่อที่สร้างเขาขึ้นมาด้วยความรักว่าให้กลับมาก่อน ต้องเชื่อฟังพ่อนะ

แต่พินอคคิโอก็เลือกที่จะไม่ฟัง เตลิดไปจนเจอปัญหาใหญ่ คือสุนัขไล่กัดเอานั่นแหละจึงได้วิ่งตื๋อกลับมาบ้าน พร้อมร้องให้พ่อช่วย

นี่พอจะสะท้อนได้ว่า หากจะบอกเด็กให้ระวังเรื่องใดอาจจะไม่เป็นผล ทางที่ดีอาจต้องให้เขาได้ประสบพบเจอกับเรื่องเหล่านั้นเสียเอง และได้เรียนรู้เป็นบทเรียนของชีวิตต่อไป

หรือการขาดความรู้รอบ อย่างเมื่อพินอคคิโอเอนกายหลับบนหน้าเตาผิงเพื่อให้ได้ความอบอุ่น โดยยื่นขาเข้าไปใกล้กองไฟ เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าขาไม้ของตนถูกเผาไหม้จนเป็นท่อนไม้ดีๆ นี่เอง เดินก็ไม่ได้ ร้อนถึงเจปเปตโตต้องทำขาขึ้นใหม่ให้

ซึ่งความรู้รอบนี้ มักจะต้องมากับประสบการณ์ในชีวิต ที่ไม่ได้มีอยู่ในตำราเรียนเสมอไป

 

อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะเทียบเคียงได้คือ “การตกเป็นเหยื่อ” ของพินอคคิโอ ที่เปรียบได้ถึงสถานการณ์ที่ล่อแหลม อลเวงชุลมุนอยู่ตอนนี้ พูดได้ว่าเด็กๆ ได้ตกเป็น “เหยื่อ” ไปแล้ว

“เหยื่อ” ของคนที่เอาความคิดบริสุทธิ์ของเด็กมาใส่ชุดความคิดของตน เพื่อให้เด็กๆ นั้นมีภาพของสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่พร่าเลือน บิดเบือนไปจากความเป็นจริง

“เหยื่อ” ของใครบางคนที่แฝงประโยชน์จากการลุกขึ้นมารวมตัวกันเรียกร้องของเด็กๆ

“เหยื่อ” ของผู้ใหญ่ที่ไม่ว่าจะอยู่ซีกไหน ที่ใช้ความเคลื่อนไหวของเด็กๆ เป็นเครื่องมือต่อรองให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา

ในหนังเล่าว่า กว่าพินอคคิโอจะรู้ตัวว่าตนเสียรู้ให้กับเจ้าหมาป่าและแมวขโมย ก็ต้องถูกหลอกซ้ำซากจนหนที่สามนั่นแล้วจึงจะคิดได้

ในความเป็นจริง ไม่รู้ว่าเด็กๆ เหล่านี้จะต้องตกเป็นเหยื่ออีกกี่ครั้งจึงจะรู้ตัว

เมื่อนั้นมาถึง ก็อาจจะสายเกินไป

 

ในหนังแม้พินอคคิโอจะต้องประสบชะตากรรมต่างๆ เพียงไร แต่ก็ยังมี “ตัวช่วย” คือ “นางฟ้า” ผู้ใจดี ที่คอยยื่นมือมาช่วยพินอคคิโอในยามคับขันเสมอ

แต่นางฟ้าก็ติดตามช่วยเหลือเขาไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง หากเขายังเผลอพลั้งพลาดขาดสติในการกระทำเสียเอง

ในตอนท้าย ที่ความดีของพินอคคิโอชนะใจนางฟ้าได้ นางจึงประทานพรให้ร่างหุ่นไม้ของเขากลายเป็นเนื้อหนังของเด็กปกติ เพื่ออยู่รวมกับคนอื่นในโลกของความเป็นจริง นางฟ้าก็สวมกอดพินอคคิโอและให้สติที่มีค่าไว้ว่า

“จงสุขุมและรอบคอบ แล้วชีวิตจะดีเอง”

เป็นคำพูดเตือนใจที่ดังมาถึงในปี 2020 นี้ ที่อยากจะบอกน้องๆ ว่า จงสุขุมและรอบคอบกว่านี้ อย่าให้อารมณ์และการชักจูงของใครมาทำร้ายได้เลย

ความคิดดีๆ และความตั้งใจดีของเด็กๆ อาจจะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของผู้ใหญ่เจ้าเล่ห์ได้ง่ายดาย

และเมื่อนั้นมาถึง เราอาจจะเสียดายและคิดถึงหุ่นไม้ที่มองโลกในแง่ดี ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ตัวนั้นก็ได้