ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระพุทธเจ้าไม่รู้จักพิธีแรกนาขวัญ พระราชบิดาก็ไม่เคยประกอบพิธีแรกนาขวัญ มีแต่พิธีวัปปมงคล

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในหนังสือพุทธประวัติภาษาไทยหลายๆ ฉบับ เช่น พระปฐมสมโพธิกถา เป็นอาทิ มักจะอ้างเหมือนๆ กันไปหมดในทำนองที่ว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะ (พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ) ทรงประกอบพระราชพิธี “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ซึ่งก็ทำเอาบรรดาบ่าวไพร่บริวารทั้งหลาย เฮโลกันไปชมดูความครึกครื้นในพระราชพิธีกันเสียหมด เว้นก็แต่เจ้าชายสิทธัตถะ ที่ ณ ขณะจิตนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา ที่ทรงปลีกวิเวกมาประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ที่ใต้ร่มชมพูพฤกษ์ (ต้นหว้า) อยู่เพียงลำพัง

และก็ด้วยพระทัยอันบริสุทธิ์ ตามอย่างวิสัยของผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ความวิเวกจึงทำได้ก่อเป็นสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า “ปฐมญาณ” จนทำให้เกิดปาฏิหาริย์ที่สำคัญครั้งหนึ่งในพุทธประวัติก็คือ เงาไม้ที่ใต้ร่มต้นหว้าแห่งนั้นไม่ทอดเงาไปตามแสงอาทิตย์ แต่คงอยู่ที่ใต้ร่มไม้นั้นเหมือนแสงเงาที่เกิดจากแดดในยามเที่ยงนั่นเอง

เมื่อพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเสร็จลงเมื่อยามบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย แล้วก็พบเหตุอัศจรรย์ที่ว่า จึงนำความไปกราบบังคมทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระองค์จึงเสด็จมาทอดพระเนตรแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ใจไม่ต่างไปจากพระพี่เลี้ยง จึงได้ถวายอัญชลี ซึ่งก็คือไหว้เจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์เองเป็นครั้งที่ 2

(ตามความในพุทธประวัติ พระเจ้าสุทโธทนะถวายอัญชลีแก่เจ้าชายสิทธัตถะ-พระพุทธเจ้า รวมทั้งสิ้นสามครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อภายหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติขึ้นใหม่ๆ มีพระดาบสมาเยี่ยม แล้วไหว้เจ้าชายพระองค์น้อยนี้ พระเจ้าสุทโธทนะก็เลยไหว้ตาม ครั้งที่สองก็คือเรื่องที่เล่าไปข้างต้น ส่วนครั้งสุดท้าย คือครั้งที่สามเกิดขึ้นหลังจากที่ทรงสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาเป็นครั้งแรก)

 

พุทธประวัติตอนนี้ก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไรหรอกนะครับ เพราะเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาความเชื่อเฉพาะบุคคล มากกว่าที่จะมานั่งถกกันว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า?

แต่เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ การที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพราะในอินเดียไม่เคยมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” แล้วพระองค์จะทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญได้อย่างไรกัน?

สุวรรณภูมิยุคก่อนรับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย เชื่อว่าวัตถุต่างๆ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ต่างก็มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน

คือส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ “ร่างกาย” กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือ “ขวัญ”

แม้แต่สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ ต่างก็มีขวัญกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมี พิธีแรกนาขวัญ

และ “ขวัญ” ก็ต่างจากสิ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ” ตามคำสอนทางศาสนาจากอินเดียมากทีเดียว เพราะเมื่อคนตายวิญญาณก็ดับหายไป หรือจะวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏก็สุดแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละศาสนา

แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตายนะครับ ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ที่ส่วนไหนของโลก

ขวัญ มีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้น ร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ

ดังนั้น “ขวัญ” จึงแตกต่างจาก “วิญญาณ” เป็นอย่างมาก เพราะวิญญาณตามความเชื่อที่เราอิมพอร์ตมาจากอินเดียนั้น เรามีอยู่เพียงคนละดวงเท่านั้น ผิดจากขวัญ ที่เราแต่ละคนมีกันอยู่เพียบดวง

ด้วยเหตุนี้คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุข แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไปเจ้าของขวัญก็ไม่มีความสุข ไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตายได้

ดังนั้น จึงมีความเชื่อที่ว่า เมื่อเจ้าของขวัญเจ็บป่วยแสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว มีความจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญ หรือพิธีสู่ขวัญให้กลับเข้ามาอยู่ที่เดิม ก็อย่างคำร้องโบราณว่า “ขวัญเอ๊ย ขวัญมา” นั่นแหละครับ

การทำขวัญจึงเป็นพิธีกรรมที่สำคัญของศาสนาผีสุวรรณภูมิ

ถ้าจะมีพิธีแรกนาขวัญในภูมิภาคของเรานี้ก็ไม่เห็นแปลก แต่ถ้ามีในอินเดียกลับแปลกแน่ เพราะพวกเขาไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องขวัญ ไม่รู้จักว่าคืออะไรเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น พระราชพิธีที่พระเจ้าสุทโธทนะประกอบเมื่อคราวที่เจ้าชายสิทธัตถะองค์น้อยแสดงปาฏิหาริย์นั้นเห็นจะไม่ใช่ พิธีแรกนาขวัญ อย่างที่มักเข้าใจกันผิดๆ

 

พุทธประวัติตอนนี้ในภาษาบาลีเรียกว่า “วัปปมงคล” ผู้แปลคำนี้เป็นไทยแต่ยุคโบราณ ที่เอาพิธีแรกนาขวัญเข้าไปใช้เทียบเคียง ด้วยอาจเห็นว่าเป็นพิธีการเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูกคล้ายๆ กัน

คำว่า “วัปปะ” เป็นกริยาธาตุ แปลว่า “หว่าน” ตรงกับคำว่า “วาปยะ” ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า “พึงหว่าน (เมล็ดพันธุ์)” หรือ “พึงเพาะปลูก”

พิธีวัปปมงคลที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบขึ้นนั้นจึงเป็นพิธีที่คล้ายๆ กับแรกนาขวัญ เพราะเป็นพิธีที่เชื่อว่าจะให้การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ใช่แรกนาขวัญ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องขวัญ

แถมวิธีการประกอบพิธีที่ว่าในอินเดียยังแตกต่างออกไปจากพิธีแรกนาขวัญอีกด้วย

หนังสือเรื่อง “Sudras in Ancient India: A Social History of Lower Order” (วรรณะศูทรในอินเดียโบราณ : ประวัติศาสตร์สังคมของชนชั้นล่าง) ของ ราม ชาราน ชาร์มา (Ram Sharan Sharma) กล่าวถึงพิธีวัปปมงคลเอาไว้ว่า เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคพระเวท (คือช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับพุทธกาล หรือเก่าแก่กว่าเล็กน้อย) ที่กษัตริย์จะทรงเป็นผู้ไถนาบนผืนนาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีด้วยพระองค์เอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเค้าเดิมของพิธีกรรมอันเก่าแก่ในชุมชนแบบดั้งเดิม ที่มีอยู่ในชุมชนเครือข่ายวัฒนธรรมพระเวทในอินเดียเหนือ และยังตกทอดให้เห็นในศาสนาพุทธยุคต่อมา ในขณะที่หนังสือเรื่อง “History of Agriculture in India” (ประวัติศาสตร์การเกษตรกรรมในอินเดีย) ของ วิโนท จันทรา ศรีวัสตวะ (Vinod Chandra Srivastava) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้ว่า ในพิธีวัปปมงคลนั้น พระราชา หรือตัวแทนของพระองค์ จะ (ทรง) ใช้คันไถที่ทำขึ้นมาจากทอง หรือเงินเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว พิธีวัปปมงคล ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบนั้นจึงเป็นพิธีเก่าแก่ในความเชื่อแบบพระเวท (ศาสนาต้นแบบของพราหมณ์-ฮินดู และก็แน่นอนด้วยว่า ณ ขณะจิตนั้นพระเจ้าสุทโธนะยังไม่ได้หันมานับถือพุทธ) ที่จะให้กษัตริย์ทรงไถนาด้วยคันไถทอง หรือคันไถเงินด้วยพระองค์เอง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ และเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก

ลักษณะอย่างนี้แตกต่างจากการทำพิธีแรกนาขวัญ เพราะนอกจากความเชื่อเรื่องขวัญแล้ว ยังแตกต่างกันไปในรายละเอียด

อย่างน้อยในพิธีวัปปมงคลก็ไม่ต้องจับเอา “พระโค” ที่ไหนมาทรงเครื่อง (การทรงเครื่องวัวในพิธีแรกนาขวัญ มีมาอย่างน้อย 3,000 ปี ร่องรอยอยู่ในภาพวัวบนภาพเขียนสี ที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี) แล้วเสี่ยงทายก็แล้วกัน

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ รายละเอียดบางประการของพิธีวัปปมงคล อาจจะเข้ามาประสมปนเปกับพิธแรกนาขวัญในสุวรรณภูมิพร้อมๆ กับศาสนาพุทธแบบเถรวาทจากอินเดีย

ร่องรอยอยู่ในคำว่า “จรดพระนังคัล” เพราะคำว่า “นังคัล” นี้มีที่มาจากคำในภาษาบาลีที่ว่า “นงฺคล” เป็นคำกริยา แปลว่า “ไถ” (ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “ลางฺคล” แปลว่า “คันไถ”) คันไถของในพระราชพิธีนี้ถึงแม้จะไม่ได้สร้างขึ้นจากเงิน หรือทอง แต่ก็ต้องประดับประดาให้งดงามเป็นพิเศษ จึงจะสมกับเป็นของหลวง

ลักษณะอย่างนี้แตกต่างกันแน่กับเค้าดั้งเดิมของพิธีแรกนาขวัญ ที่อาจจะเห็นร่องรอยได้จากอะไรที่ในพื้นที่สองฝั่งโขงไทย-ลาว เรียกว่า “นาตาแฮก”

คำว่า “แฮก” มีความหมายตรงกับคำว่า “แรก” ซึ่งหมายถึงการทำขวัญนา สู่ขวัญผีนา หรือพระภูมินา หลายทีก็สังเวยพระแม่โพสพ (ซึ่งเป็นพระแม่ที่พราหมณ์อินเดียไม่รู้จัก) อาจจะมีการไถนาทำนาบนนาจำลองผืนเล็กๆ อยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “คันไถ” มากเหมือนกับในพิธีวัปปมงคลของอินเดีย

และเผลอๆ แล้ว การไถนาทำนาบนนาตาแรกที่ว่านี้ ก็อาจจะไม่ใช่พิธีกรรมที่มีมาแต่เดิม แต่ไปเอาแบบอย่างมาจากพิธีวัปปมงคลของแขก แล้วเพิ่มทับเข้าไปในพิธีดั้งเดิมของสุวรรณภูมิที่มีแต่การทำขวัญเองก็เป็นได้ด้วยซ้ำไป

การนำชื่อ “จรดพระนังคัล” กับ “แรกนาขวัญ” มาซ้อนกันเป็น “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” จึงแสดงให้เห็นถึงการเลือกนำความเชื่อ และรายละเอียดที่อิมพอร์ตเข้ามาใหม่จากอินเดีย มาผสมผสานเข้ากับพิธีแรกนาขวัญที่มีมาแต่เก่าก่อนในสุวรรณภูมิ

พระเจ้าสุทโธทนะจึงไม่เคยทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ เพราะพระองค์ไม่ทรงเชื่อเรื่องขวัญ และก็ไม่รู้จักขวัญ ที่พระองค์ประกอบคือพิธีวัปปมงคล ที่ไม่ได้มีการทำขวัญนา ก่อนจะหว่านไถเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลนั่นเอง