ศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐ มองทะลุ GSP ไปถึง CPTPP รถด่วนเที่ยวสุดท้ายของไทย

นับเป็นเหตุการณ์ช่วงท้ายๆ ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน “ทรัมป์” ก็ออกประกาศตัดสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐ “ให้เปล่า” กับประเทศไทยจำนวน 231 รายการ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยให้มีผลในวันที่ 30 ธันวาคมที่จะถึงนี้

“ทรัมป์” ได้ให้เหตุผลการตัดสิทธิพิเศษ GSP ในครั้งนี้ว่า เป็นการตัดสิทธิพิเศษที่ให้กับประเทศไทยเป็นการ “เพิ่มเติม” แปลว่า ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 2563 ได้มีการตัดสิทธิพิเศษ GSP เป็นการ “ชั่วคราว” ไปรอบหนึ่งแล้วด้วยจำนวน 573 รายการ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท

การตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้ง 2 รอบมาจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดไว้ 2 ใน 6 ข้อ ประกอบด้วย การเปิดตลาดสินค้า-บริการ (market access) กล่าวหาประเทศไทยไม่มีการเปิดตลาดให้นำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอย่างสมเหตุสมผล กับประเทศไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน (worker right) ในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

 

ข้อกล่าวหาทั้ง 2 ของสหรัฐที่นำไปสู่การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้ง 2 รอบนั้น “ไม่ใช่เรื่องใหม่” โดยฝ่ายไทยได้เผชิญข้อกล่าวหาเหล่านี้มาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในครั้งกระนั้น สมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization หรือ AFO-CIO) ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “สหภาพแรงงานของคนต่างด้าว” กับขอสิทธิในการเจรจาต่อรองของแรงงานต่างด้าว ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าเป็นการให้สิทธิที่ “เหนือกว่า” แรงงานไทย และเป็นเรื่องที่ “ยอมรับไม่ได้”

ส่วนข้อเรียกร้องในการเปิดตลาดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐนั้นก็เป็นเรื่องที่สหรัฐหยิบยกขึ้นมาเจรจากับฝ่ายไทยมาอย่างยาวนานเช่นกัน ท่ามกลางการคัดค้านอย่างแข็งขันของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย

ด้วยการหยิบยกข้อจำกัดให้เรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารขึ้นมาเจรจากับสหรัฐที่ว่า หมูสหรัฐมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและประเทศไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงแล้ว

ทว่าความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ ต้นทุนการผลิตหมูของสหรัฐนั้น “ถูกกว่า” ไทยครึ่งหนึ่ง หรือกิโลกรัม (ก.ก.) ละ 30 บาท ในขณะที่หมูไทยมีต้นทุน ก.ก.ละ 60 บาท

แน่นอนว่า ถ้าปล่อยให้นำหมูสหรัฐเข้ามาย่อม “ถล่มตลาด” หมูไทยอย่างสู้ไม่ได้

ทั้ง 2 ฝ่ายได้เปิดการเจรจาในประเด็นของการได้รับสิทธิพิเศษ GSP มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ไปจนถึงเดือนเมษายนปี 2563 แต่ก็ประสบกับความ “ล้มเหลว” ไม่สามารถตกลงกันได้ นำมาซึ่งการถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP เป็นการชั่วคราวในรอบที่ 1 จำนวน 573 รายการแรก

แต่เชื่อกันว่า “ทรัมป์” จะตัดสิทธิพิเศษ GSP เพียงรอบเดียว ไม่มีใครเชื่อว่าจะมีรอบสอง อย่างไรก็ตาม กลับมีรอบที่ 2 ออกมาอีก 231 รายการ

รวมเป็นถูกตัดสิทธิพิเศษไปทั้งหมด 804 รายการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของรายการสินค้าที่สหรัฐให้สิทธิพิเศษ GSP “ยกเว้น” ภาษีนำเข้าให้กับประเทศไทย

ประเด็นปัญหาก็คือ ทำไม “ทรัมป์” จึงเลือกเอาช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งออกมา “เล่น” เรื่อง GSP ทั้งๆ ที่โครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) นับเป็นโครงการที่ 3 ซึ่งถูกต่ออายุมาเป็นครั้งที่ 10 กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าโครงการจะได้ไปต่ออีกหรือไม่ หรือจะมีการเพิ่ม “เงื่อนไข” ใหม่ๆ ในการได้รับสิทธิพิเศษเข้าไป เนื่องจาก GSP เป็นการให้เปล่าที่ประเทศผู้ให้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เพิ่งพ้นมาจากการด้อยพัฒนาและถูกใช้เป็นเครื่องมือ “ต่อรอง” ทางการค้ามาโดยตลอด

ในส่วนของประเทศไทยนั้น กรมการค้าต่างประเทศได้รายงานเข้ามาว่า ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิพิเศษ GSP มากที่สุด หรือมากเป็นอันดับหนึ่งจากประเทศที่สหรัฐให้สิทธิพิเศษทั้งหมด 119 ประเทศ

แน่นอนว่า GSP นั้นมีความสำคัญกับการส่งออกสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทำให้ระยะเวลาที่ผ่านมาจึงปรากฏว่าประเทศไทยเป็นฝ่าย “ได้ดุล” การค้ากับสหรัฐมาโดยตลอด เฉพาะ 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐไปแล้วคิดเป็นมูลค่าถึง 405,701 ล้านบาท

จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า อยู่ๆ ทำไม “ทรัมป์” ซึ่งมีนโยบายที่จะลดการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้ามาตั้งแต่ต้น ประกอบกับความมีอิทธิพลอย่างสูงของ AFO-CIO ที่สามารถส่งเสียงดังไปถึงผู้ใช้แรงงานทั่วสหรัฐในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ถึงเลือกที่จะหยิบยกเอาเรื่องของการให้สิทธิพิเศษ GSP ออกมาเล่นงานประเทศที่ได้ดุลการค้าอย่างไทย

เท่ากับประเทศไทยโดนสหรัฐ “หวด” ทั้งขึ้นทั้งล่องไม่ว่าจะได้ “ใคร” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ประเด็นในเรื่องของสิทธิพิเศษ GSP ก็จะยังไม่หมดไป แต่มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเพิ่มเงื่อนไขใหม่ๆ เข้ามาหลังจบการต่ออายุโครงการหรือการพิจารณาโครงการใหม่ (โครงการที่ 4) ในสิ้นเดือนธันวาคมนี้

เพียงแต่ถ้าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐเป็น “ไบเดน” ภายใต้นโยบายของพรรคเดโมแครต การเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอย่างไทย “อาจจะ” ลดความแข็งกร้าวลง ด้วยความหวังที่ว่า สหรัฐจะกลับมาเข้าร่วมในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หลังจากที่ถูก “ทรัมป์” ฉีกทิ้งไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

โดยความตกลงฉบับนี้เป็น “ความตกลงการค้าเสรี” ที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ถือเป็นเวทีการเจรจาการค้าที่ใหญ่โตกว่าเรื่องของ GSP มากมายนัก

 

ในขณะที่สถานการณ์ของรัฐบาลไทยก็กำลังตกอยู่ในภาวะใกล้ไร้เสถียรภาพทางการเมือง หลังพ้นจากยุคของอดีตรองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ไปแล้วก็ไม่มีใครในรัฐบาลสักคนที่จะออกมาให้ความชัดเจนในข้อที่ว่า ประเทศไทยควรจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่

ที่สุดก็กลายเป็นความกลัวของนักธุรกิจในประเทศที่ไทยกำลังจะตกขบวนรถ CPTPP เที่ยวสุดท้าย

พร้อมกับฝากความหวังไว้ว่า หลังเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาจบลง การมาของ ” โจ ไบเดน” อาจเป็นคำตอบสุดท้ายก็เป็นได้ แต่จะจริงเช่นนั้นหรือ?