กาแฟดำ | โควิด-19 กับการปฏิรูป การศึกษาแบบ “หักดิบ”

สุทธิชัย หยุ่น

ผมเจออาจารย์ครูระดับมัธยมและอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่านที่คุยเรื่องประสบการณ์การ “สอนออนไลน์” เพราะถูกบังคับโดยโควิด-19 อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ส่วนใหญ่ยอมรับว่าถ้าไม่มีโควิด ครูทั้งหลายก็ยังไม่ยอมสอนออนไลน์แม้ว่าจะมีการวางทิศทางนั้นมาหลายปีเพราะเห็นชัดถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจาก disruption ของเทคโนโลยี

นักเรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ทางออนไลน์มากกว่าครู

ครูไม่มีทางเลือก หาข้อแก้ตัวไม่ได้ว่าทำไม่เป็นหรือทำยาก

หรือหาเหตุผลมาเปรียบเทียบประโยชน์ของการเรียนในห้องเรียนกับการสอนผ่านคอมพิวเตอร์

เพราะโควิดกำหนดให้ต้องสอนออนไลน์สถานเดียว

จึงต้องถือเป็น “ความดี” ของโรคระบาดที่บังคับให้ทั้งครูและนักเรียนรวมถึงผู้ปกครองต้องกระโจนเข้าสู่ digital transformation โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

“หักดิบ” โดยไม่ได้มีการเตือนกันมาก่อน

หลังจากนั้นไม่นานผมก็มีโอกาสได้สอบถามครูและอาจารย์หลายคนว่าประสบการณ์การต้องสอนออนไลน์เป็นเช่นไร

ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ถ้าไม่ถูกบังคับโดยสถานการณ์ก็จะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร

ข้อดีข้อแรกคือได้เรียนรู้วิธีการใช้คอมพิวเตอร์

ข้อดีข้อที่สองคือการสอนออนไลน์ทำให้ครูต้องเตรียมตัวเรื่องเนื้อหาที่จะสอนมากขึ้นกว่าเดิม

“เพราะการสอนให้ห้องเรียนยังมีเวลาเว้นการบอกเล่ากับนักเรียน บางทีก็หยุดเพื่อเจ๊าะแจ๊ะกับเด็ก แต่พอสอนออนไลน์ สามชั่วโมงก็คือสามชั่วโมง ต้องเตรียมเนื้อหามาเต็มๆ” อาจารย์ท่านหนึ่งบอกผม

ข้อดีอีกข้อหนึ่งคือในการเรียนการสอนออนไลน์นั้นนักเรียนนักศึกษาที่ปกติจะไม่ค่อยตั้งคำถามหรือขอความรู้เพิ่มเติม

เมื่อเรียนออนไลน์ก็กล้าถามมากขึ้นเพราะไม่รู้สึกต้องเผชิญหน้ากับคุณครูเหมือนในห้องเรียน

แต่ข้อด้อยก็คือการไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนแบบในห้องเรียน

ข้อเสียสำคัญมากที่ยังทางออกไม่ได้ถึงวันนี้คือเด็กสามารถ “โกง” เวลาสอบได้ง่ายกว่าเมื่อเรียนออนไลน์

ด้วยเทคนิคออนไลน์มากมายหลายด้าน นักเรียนนักศึกษาสามารถแอบลอกข้อสอบหรือหลอกครูและอาจารย์ในการสอบได้ง่ายกว่าเดิมโดยเฉพาะหากเป็นการสอบแบบขีดถูกขีดผิดหรือให้เลือกคำตอบหลายๆ ข้อ

แต่ในข้อด้อยก็มีข้อดี

“พอเป็นอย่างนี้ก็ทำให้ครูและอาจารย์ใช้วิธีสอบแบบอัตนัยหรือให้เขียนวิเคราะห์และแสดงความเห็นมากกว่าจะใช้แบบปรนัย” ครูอีกคนหนึ่งบอก

นั่นแปลว่าครูก็ต้องใช้เวลาในการตรวจข้อสอบมากขึ้น ต้องสนใจคำตอบและวิธีการตอบข้อสอบอย่างละเอียดรอบด้านมากขึ้น

ผลดีที่ตามมาก็คือครูและเด็กต้องสอนและเรียนอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น

ทำให้เกิด “การคิดวิเคราะห์” หรือ critical thinking ในระดับสูงขึ้น

ก็ต้องขอบคุณโควิดที่มาช่วยในการปฏิรูปการเรียนการสอนโดยไม่ได้ตั้งใจอีกเช่นกัน

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผมอ่านเจอคำให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์จะเป็นเช่นไร?”

เป็นการพูดคุยของ 101 กับ ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีบทบาทในการบ่มเพาะแม่พิมพ์หลายต่อหลายรุ่นสู่ระบบการศึกษา

ประโยคที่ทำให้ผมต้องสนใจอ่านบทสัมภาษณ์นั้นอย่างละเอียดคือ

“เพราะครุศาสตร์ต้องรอด การศึกษาของประเทศจึงจะรอด”

ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์นั้นพูดถึงผลของโควิด-19 ต่อระบบการศึกษาทั่วโลกที่เข้ากับประเด็นที่ผมสนใจอยู่พอดี

อาจารย์บอกว่า สำหรับแวดวงครูหรือครุศาสตร์ อาจารย์มองเห็นผลกระทบอะไรที่เป็นโจทย์สำคัญให้ต้องเริ่มปรับตัวจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ที่เห็นชัดคือ ทักษะการใช้เทคโนโลยีของครู

ดร.ภาวิณีบอกว่า ครูหลายแสนคนในประเทศไทยตอนนี้มีหลายเจเนอเรชั่นมาก ไม่ได้มีแค่กลุ่มเจน X เจน Y เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มครูอายุมากที่ไม่ค่อยได้สัมผัสกับเทคโนโลยี

เหตุเป็นเพราะในยุคของท่าน เทคโนโลยียังไม่บูมขนาดนี้

พอมีโควิดระบาด ต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สอนผ่านแอพพลิเคชั่น จึงเรียนรู้ไม่ทันหรือเรียนรู้ได้อย่างจำกัด จนเกิดปัญหาในการสอน

“ถ้าเป็นครูอายุประมาณ 30-40 กว่ายังไม่น่าเป็นห่วง ยังใช้เทคโนโลยีพอได้ ถึงจะไม่ช่ำชองเท่าครูจบใหม่อายุ 20 กว่าๆ ก็ตาม” อาจารย์เล่า

คนที่ต้องปรับตัวอย่างหนักจึงเป็นกลุ่มครูอายุเยอะทั้งหลาย

“ต้องเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ เรียนรู้จากครูรุ่นน้อง ไม่ยึดติดกับกรอบการสอนเดิมๆ ฝึกใช้เทคโนโลยีแบบต่างๆ ให้เคยชินจนเกิดเป็นทักษะ”

แล้วคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์เป็นอย่างไร?

ท่านบอกว่า คณะนี้จะมีภาคเทคโนโลยีที่รับผิดชอบสอนเรื่องทักษะการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานให้กับนักศึกษามาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19

แต่การระบาดทำให้ได้เห็นแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการสอนออนไลน์ สอนทางไกลมากขึ้น ก็คงต้องพัฒนารายวิชาใหม่ๆ ออกมา

นั่นหมายถึงการเรียนรู้วิธีการทำคลิปการสอนคู่ไปกับการสอนสด

และอาจจะมีวิชาให้ได้ฝึกสอนผ่านระบบออนไลน์ รับ “ฟีดแบ็ก” จากอาจารย์ว่ายังติดขัดตรงไหนเพื่อให้พัฒนาต่อได้

ดร.ภาวิณีเล่าว่า พอถึงเวลาโรงเรียนจะเปิดเทอม กลับไปเรียนในห้องแล้ว แต่โควิด-19 ก็ทำให้บางวิชาเจอปัญหาในการสอนมากขึ้น

เช่น การสอนออกเสียงวิชาภาษาอังกฤษ เด็กต้องฟังเสียงครูพูด ต้องเห็นรูปปากเพื่อออกเสียงให้ถูกต้อง

“แต่เมื่อครูต้องใส่แมสก์ หรือ face shield อาจทำให้เด็กไม่เห็น หรือฟังไม่ถนัด ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่แก้ได้ยากเหมือนกัน” อาจารย์บอก

การสอนออนไลน์แบบเรียลไทม์อาจจะมีวิธีถ่ายทอดความรู้ไม่ต่างจากการเรียนในห้องมาก

เพราะครูทำหน้าที่สอนคอนเซ็ปต์ และตอบคำถามของนักเรียนได้

ที่จะต่างอย่างเห็นได้ชัด คือการทำกิจกรรม เช่น จัดกลุ่ม อภิปรายกันในห้องเรียนอาจจะทำยากขึ้นมาก

การสอนออนไลน์ยังมีข้อจำกัดว่า ผู้เรียนต้องรู้จักกำกับตัวเอง มีวินัยในการเรียน หรือ self-directed learning ด้วย

แต่เด็กเล็กอย่างเด็กประถมไม่มีสมาธิกำกับตัวเองได้ขนาดนั้น

แล้วจะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพ และไม่แห้งแล้งได้อย่างไรบ้าง

ดร.ภาวิณีบอกว่า ถ้าอยากทำให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพ ต้องจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งอาจารย์มองคำว่ายืดหยุ่นใน 4 มิติ

หนึ่ง ด้านเวลา สมมุติว่าเราสร้างบทเรียนออนไลน์ ต้องทำให้นักเรียนสามารถเรียนตอนไหนก็ได้ ไม่บังคับเรียนเวลาเดิมเหมือนอยู่ในห้อง และระยะเวลาในการเรียนแต่ละครั้ง

แต่ละคลิปไม่จำเป็นต้องยาว อาจจะแบ่งเป็นคลิปสั้นๆ คลิปละ 10-15 นาทีแทนคลิปเดียวยาวหลายชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้มีช่วงเวลาผ่อนคลายบ้าง ไม่ต้องทนนั่งหน้าคอมพ์นานๆ

สอง ด้านสถานที่ จะเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนในห้องน้ำ นอนเรียนบนเตียง หรือเรียนขณะทอดไข่เจียวไปก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด

สาม ด้านจัดรูปแบบการเรียนการสอน ครูควรสอนหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเล็กเชอร์เท่านั้น เราสามารถใช้การบรรยาย สลับอภิปราย แสดงบทบาทสมมุติให้ดู ผสมผสานกันไป เพื่อทำให้น่าสนใจได้มากขึ้น

สุดท้าย ด้านการวัดและประเมินผล ครูต้องพิจารณาว่าจะวัดประเมินแบบไหนถึงเหมาะสมที่สุด

ต้องไม่ใช่ว่าสอนออนไลน์แล้วมานั่งสอบแบบเดิม

อาจให้ทำแบบทดสอบท้ายคลิปการสอน ให้โจทย์ไปตอบภายใน 1 วัน หรือเปลี่ยนจากการสอบเป็นการทำงานส่ง พรีเซนต์ผ่าน zoom เป็นต้น ต้องมีวิธีการประเมินผลที่หลากหลายมากกว่าการสอบเหมือนในห้องเรียน

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการสอนออนไลน์ไม่สามารถใช้แทนการสอนในห้องเรียนได้ครบถ้วน เพราะมันไม่มีชีวิตชีวามากเท่า

“เวลาเราเรียนในห้อง เราได้บรรยากาศการนั่งกับเพื่อนๆ ฟังเสียงรอบข้าง มีปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อน สามารถสัมผัสเนื้อตัวกันได้ เห็นหน้า อารมณ์ชัดเจน ซึ่งการเรียนผ่านหน้าจอคนเดียวทำให้บรรยากาศเหล่านั้นหายไป เด็กส่วนใหญ่จะไม่อยากเรียนรู้มากเท่าเดิม” ดร.ภาวิณียืนยัน

ทำให้ผมยิ่งเชื่อว่าโควิดมาช่วยการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ!