ทราย เจริญปุระ | “ผู้หญิง” ในฐานะประชาชน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำใจให้นิ่งเฉยกับสิ่งที่เห็น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกกับตัวเองว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้ายที่จะต้องมาเห็นอะไรแบบนี้

ในมิติของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ เราทุกคนล้วนเปล่งเสียงอย่างเท่าเทียม

แต่บางมุมของการมองเห็นและรับรู้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเห็นผู้เรียกร้องเป็นกลุ่มเป็นพวก กลุ่มชาย กลุ่มนักเรียน กลุ่มหญิง กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มอาชีวะ

การชุมนุมครั้งนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนจะได้เห็นผู้หญิงออกมาร่วมมากเป็นพิเศษ ทั้งกลุ่มมัธยมไปจนถึงกลุ่มแฟลชม็อบที่นัดรวมตัวกันอย่างรวดเร็วตามสถานที่ต่างๆ

โดยส่วนตัวฉันรู้สึกว่าพื้นที่ของผู้หญิงกับการชุมนุมนั้นไม่ได้เพิ่งมี ตั้งแต่การชุมนุมเรียกร้องของแรงงานบริษัท Hara ซึ่งสามารถหาดูคลิปได้แบบสาธารณะ ไปจนถึงการกรีดเลือดเรียกร้องสิทธิ์ในการลาคลอด

จนปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มที่นำโดยผู้หญิงต่อสู้คัดค้านเรื่องการหาผลประโยชน์ในพื้นที่ทำกิน ตั้งแต่ภาคใต้ไปจนภาคอีสาน

ที่พูดมานี้ก็ไม่ได้หมายจะด้อยค่ากลุ่มเรียกร้องทางฝั่งผู้ชาย แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ชัดและง่ายกว่าอยู่แล้วแบบไม่ต้องระบุเพศ จนเหมือนจะเป็นหน้าที่ของผู้ชายเสียด้วยซ้ำ ไม่อย่างนั้นคงไม่สร้างข้อสังเกตให้คนตั้งคำถามว่าทำไมครั้งนี้จึงเห็นผู้หญิงมากจัง

ฉันว่าด้วยวัฒนธรรมความเหนียวแน่นบางอย่างของผู้หญิงที่ชัดเจนขึ้น มีความเคลื่อนไหวในแบบที่สื่อสารกันเองในกลุ่มได้ จนมันกระจายไปสู่กลุ่มเด็กๆ มากกว่าที่ทำให้คนแปลกใจกัน

โดยเฉพาะกลุ่มคนในบ้านเมืองนี้ ที่มักมีความเชื่อว่า เป็นเด็กก็แค่เรียนหนังสือ กับแบมือขอเงินพ่อ-แม่ แสนจะสบาย รวมถึงข้อความหวนไห้อาลัยอดีตทำนองอยากกลับไปเป็นเด็ก เจ็บสุดก็แค่ล้ม

จริงหรือ?

เป็นเด็กนั้นเจ็บปวดไม่ต่างกันกับผู้ใหญ่, ฉันเชื่อแบบนั้น ความเจ็บปวดทั้งกาย-ใจไม่กำหนดเส้นอายุ ไม่มีความเจ็บชนิดไหนจะเริ่มทำงานเฉพาะเมื่อคุณอายุ 20 ขึ้นไป ความเจ็บและประสบการณ์ชีวิตนั้นพ่วงโยงกัน และการที่คนคนหนึ่งผ่านมันมาได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณมีความชอบธรรมพอจะบอกคนที่กำลังดิ้นรนอยู่ในความเจ็บปวดถูกบังคับนั้น ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

ไปจนถึงด้อยค่าความเจ็บปวด การดิ้นรน การต่อสู้ของพวกเขาว่าไร้ค่า

ก่อนจะไปไกลเกิน เรากลับมาที่เรื่องของหนังสือกันก่อนดีกว่า “รักนวลสงวนสิทธิ์” ที่ว่าด้วยตัวตน พื้นที่ และการต่อสู้ของผู้หญิงไทยในกระบวนการยุติธรรม

นี่เหมือนออกมาได้ถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สตรี (แน่นอน, ทั้งโดยเพศกำเนิดและการเลือก) ถูกจับตามองว่ามีกำลังในการผลักดันเนื้อหาต่างๆ ของการชุมนุม

โดยส่วนตัวฉันว่าผู้หญิงนั้นเป็นผู้ทำงานมาในทุกยุคสมัย เพียงแต่เป็นไปในทางหลังบ้านบ้าง เคียงข้างบ้าง และคนได้หน้าได้ตา ได้เครดิตไปก็จะเป็นคุณผู้ชาย ทั้งเรื่องในบ้านประสานเมียยี่สิบคนในยุคศักดินา มาจนยุคนี้ที่บริหารได้ทั้งเรื่องลูก-ผัวและตัวกูเอง

“ในรอยต่อของรัฐจารีตและรัฐชาติสมัยใหม่ เรื่องราวมากมายถูกคัดสรรบันทึก เรื่องราวมากมายถูกซุกซ่อนอย่างจงใจ ทว่าหลายเรื่องราวกลับถูกหลงลืมทิ้งไว้ ราวกับว่าไม่ควรค่าแก่การจดจำ เรื่องราวของผู้หญิงไทยในประวัติศาสตร์ก็ดูคล้ายจะเป็นเช่นนั้น เป็นเพียงภาพพร่าเลือนของช้างเท้าหลังที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน”*

หนังสือรวบรวมเอาคดีต่างๆ ที่เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงที่จะมีเสียงมีสิทธิ์เหนือเนื้อตัวร่างกายของตน หลากชนชั้น หลายสถานะ และผ่านกรอบตรึงติดสายตาของการตัดสินซ้อนทับหลายชั้นที่มากไปกว่าการถูกตัดสินทางกฎหมาย

การเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นคนเรียบร้อย รักนวลสงวนตัวถูกพ่วงไว้กับ “ความดี” ของการเป็นหญิง เป็นนัยว่าหากหญิงใดแตกต่างไปจากนี้ จากความน่าจะเป็น จากความคาดหวัง เสียงดังเกินไป สนุกเกินไป หัวเราะอ้าปากกว้างเกินไป สงสัยมากเกินไป ล้วนเป็นภัยคุกคามความสงบ

จากอดีตถึงปัจจุบัน

จากอำแดงถึงเฟมทวิต

จากผู้หญิงถึงทุกคนในฐานะประชาชน

เราทุกคนล้วนมีสงครามส่วนตัวที่เราเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมาย

เป็นสงครามที่คุณเลือกได้ว่าจะสู้หรือถอย เป็นพลไพร่รายทางหรือจะนำทัพ

ต่อให้ทัพนั้นมีแค่คุณคนเดียวก็ตาม

“รักนวลสงวนสิทธิ์” เขียนโดยภาวิณี บุนนาค ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มติชน กันยายน, 2563

*ข้อความจากในหนังสือ