วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และศิลปวัฒนธรรม

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และศิลปวัฒนธรรม

 

ความเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ของ “มติชนสุดสัปดาห์” แม้รูปเล่มยังไม่สมบูรณ์เหมือนกับนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับอื่น อาทิ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เปล่าๆ ไม่ได้เปรียบเทียบดอกครับ เพียงแต่จะบอกในความหมาย “ความเหมือน” เท่านั้นว่า

เมื่อเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ สาระและเรื่องที่นำเสนอต้องครบครัน ตั้งแต่สรุปข่าวประจำสัปดาห์ เช่น ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทางทหาร ทางตำรวจ และทางราชการอื่น มหาดไทย การศึกษา ทั้งเรื่องของข้าราชการครู มหาวิทยาลัย หลักสูตรการเรียนการสอน สาธารณสุข เรื่องของแพทย์

ส่วนที่ขาดมิได้คือนวนิยาย จาก คนดีศรีอยุธยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ รพีพร วสิษฐ เดชกุญชร ยังนำเสนอเรื่องยาวชุด “ธนุส นิราลัย กับลำเพา สายสัทกุล” จากสารวัตรเถื่อน แม่ลาวเลือด หักลิ้นช้าง และอีกหลายเรื่อง

คอลัมน์จากนักเขียนสำนวนสวิงสวาย รำพึงรำพันโดย “ลำพู” ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ “กาแฟดำ” – สุทธิชัย หยุ่น รวมไปถึงเรื่องสั้นจากนักเขียนเรื่องสั้นแห่งยุคที่ส่งต้นฉบับมารอไว้ในแฟ้ม ให้เสถียร จันทิมาธร คัดเลือกลงตามลำดับ

คอลัมน์ข่าวความเคลื่อนไหวของวงการนักเขียนเรื่องยาว ตั้งแต่เริ่ม เสนีย์ เสาวพงศ์ รพีพร ทวีป วรดิลก บทกวีของ “ทวีปวร” ไพบูลย์ วงษ์เทศ และกวีกระวาด บทกวีนิพนธ์จากกวีหลากหลาย “สนทะเล” “หญิงเล็ก” ใครมีมติชนสุดสัปดาห์เล่มตั้งแต่เริ่มต้นลองเปิดดูเองว่าเป็นใครบ้าง จาระไนกันไม่หวาดไม่ไหว

 

เมื่อ “มติชนสุดสัปดาห์” เป็นแหล่งชุมนุมนักเขียนทั้ง “ผู้ใหญ่” และ “ผู้เด็ก” ซึ่งขรรค์ชัย บุนปาน แต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษา” เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นประธานที่ปรึกษาของบริษัท พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นรองประธานที่ปรึกษา และไพฑูรย์ เนติโพธิ์ ที่ปรึกษากฎหมาย การชุมนุมจึงเกิดขึ้น

การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของ “ที่ปรึกษาชุดนี้” คือทุกวันศุกร์ก่อนเที่ยง ขรรค์ชัยเชิญให้มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันและพูดคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องนักเขียนรุ่นก่อนและรุ่นปัจจุบัน มีนักข่าวนักเขียนกองบรรณาธิการมติชนมาร่วมฟัง สนทนา ซักถาม ตามแต่ที่สะดวก อาทิ ผู้เขียน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อารักษ์ คคะนาท ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ ฯลฯ

ทั้งยังมีเพื่อนนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อีกบางคน เช่น ศิริวรรณ สุขพานิช มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันเป็นครั้งเป็นคราว

นอกจากที่ปรึกษานักเขียนแล้ว บริษัท มติชน จำกัด ยังมีที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการอีกชุดหนึ่ง คือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) เป็นประธานที่ปรึกษา พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นรองประธาน ม.ล.กำลูนเทพ เทวกุล นักปกครอง พล.อ.สำเภา ชูศรี และนายลิขสิทธิ์ ปานสมจิตต์ (นักการทูต)

การมีนักเขียนนักหนังสือพิมพ์รุ่นก่อนเก่ามาร่วมรับประทานอาหาร และพูดคุย ทำให้พวกเราได้ทราบถึงเรื่องราวที่กระท่อนกระแท่น ได้รู้จักนักเขียนรุ่นก่อนและเรื่องราวสมัยนั้นสมัยนี้ เช่น “พี่เส” รู้ไปถึงเรื่องที่เริ่มทำหนังสือพิมพ์ยุคสุภาพบุรุษ พี่วีปชอบคุยเรื่องสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ จับนักหนังสือพิมพ์ไปขัง “หลวงเมือง” พูดถึงสมัยกระดึงทอง เมื่อมีใครถามขึ้น เพราะปกติจะเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด

“สนทะเล” เสริมศรี เอกชัย เล่ารอยต่อระหว่างเดลินิวส์กับเดลิไทม์ มีพงษ์ศักดิ์คอยเสริม ด้วยเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่วัยรุ่นกับหนังสือพิมพ์หลักเมือง เดลินิวส์ ก่อนไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา

นอกจากจะเป็นผู้ขียนทั้งคอลัมน์ ทุกฉบับ ขรรค์ชัย บุนปาน ยังเขียนเรื่องสั้นเป็นอาจิณ และพยายามเสาะหานักเขียนที่เขียนทั้งลักษณะวิชาการและคอลัมน์ เขียนให้อ่านง่าย และมีความคิดความอ่านที่สามารถอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจน เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาเขียนเชิงวิชาการและความคิดเห็นเป็นประจำ เช่นเดียวกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เป็นนักเขียนประจำมาตั้งแต่ประชาชาติ และมนัส สัตยารักษ์

เรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีสุจิตต์ วงษ์เทศ ยืนพื้น ยังมีเพ็ญสุภา สุขคตะ มาร่วมวงไพบูลย์ เสริมให้เรื่องของประวัติศาสตร์โบราณคดีน่าเรียนน่ารู้ในอีกยุคสมัยหนึ่ง กับไมเคิล ไรท์

นับแต่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันนำเสนอทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ มติชนสุดสัปดาห์จึงเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่พิมพ์ออกวางตลาดทุกเย็นวันพฤหัสบดี เช้าวันศุกร์ เพื่อให้ท่านได้อ่านเป็นประจำสุดสัปดาห์ไม่ขาดนับถึงปีนี้ขึ้นปีที่ 41 แล้ว

 

ระหว่างมีมติชนรายวัน สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังจัดทำนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” รายเดือนออกมาเพื่อผู้อ่านที่เป็นนักอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมซึ่งยังเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่จบ ให้บริษัท มติชน จำกัด ตั้งแต่ปลายปี เดือนพฤศจิกายน 2521 มีบริษัท งานดี จำกัด บริษัทจัดส่งหนังสือในเครือมติชนวางตลาด และเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งในเครือมติชน

เรื่องที่ยังถกเถียงไม่จบ หรือเรื่องการค้นพบใหม่ของแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี นอกจากจะนำเสนอในหนังสือพิมพ์มติชนแล้ว รายละเอียดและข้อถกเถียงยังนำเสนอใน “ศิลปวัฒนธรรม” เป็นประจำทุกเดือน เรื่องเด่นที่ยังกล่าวถึงขณะนี้ คือการทวงคืน “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” มาจากสหรัฐอเมริกากลับสู่ประเทศไทยได้ ทำให้กรมศิลปากรตื่นตัวที่จะสำรวจโบราณวัตถุซึ่งต่างประเทศนำไปจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้กลับคืนมาสู่ที่เดิม เจ้าของเดิมอีกหลายชิ้น

การนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทำให้นักเรียนนักศึกษารุ่นหลังให้ความสนใจประวัติศาสตร์ทั้งในยุคสุโขทัย ยุคกรุงศรีอยุธยา ยุคกรุงธนบุรี และยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะยุคสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ถึงยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัชกาลที่ 7

หนังสือประวัติศาสตร์ในยุคหลังที่มติชนนำเสนอมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และวิทยานิพนธ์ที่นำเสนอออกสู่สาธารณชน ที่ผ่านสำนักวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อนำเรื่องราวจากหลักฐานซึ่งนักวิชาการค้นคว้ามานำเสนอ มิใช่เพื่อล้มล้างประวัติศาสตร์ดั้งเดิม แต่เพื่อทำความจริงให้ปรากฏตามหลักฐานความเป็นไปที่ปรากฏทั้งในหนังสือและสถานที่ ซึ่งเป็นโบราณสถาน

เพียงแต่ว่านักวิชาการดั้งเดิมยังไม่ยอมรับประวัติศาสตร์ทั้งจากหลักฐานที่เป็นหนังสือแม้จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา หากยังเกาะติดกับนักประวัติศาสตร์โบราณคดียุโรป

(กระผมต้องขออภัยผู้ใช้นามปากกา “คามหุโณ” คือ จำรัส ดวงธิสาร ครับ ไม่ใช่มานิตย์ สังวาลย์เพ็ชร ตามที่ว่าไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เพราะเขียนจากความจำ โอกาสผิดพลาดจึงเกิดขึ้น ขออภัยอีกครั้ง)