สมชัย ศรีสุทธิยากร | หกญัตติ กับสี่ตัวแบบของการตัดสินใจ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เมื่อสมัยประชุมสามัญสมัยที่สองของปี พ.ศ.2563 เปิดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ญัตติที่ค้างมาจากสมัยประชุมที่แล้วและเป็นที่จับจ้องของคนทั้งประเทศคือ หกญัตติของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ประวิงการลงมติโดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษาและถึงกำหนดที่ต้องมาลงคะแนนเสียงกันว่า จะเดินหน้าอย่างไรกันต่อ

หกญัตติที่ถูกนำเสนอโดยพรรคฝ่ายรัฐบาลหนึ่งญัตติและพรรคฝ่ายค้านห้าญัตติ

ดูเหมือนว่าจะมีแบบของการตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภาแยกได้เป็นสี่แบบ โดยใช้ตารางการประเมินประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อฝ่ายรัฐบาลและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวม

ทำความรู้จักหกญัตติแก้รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กลายเป็นตำบลกระสุนตกของการโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ด้วยเหตุของการออกแบบที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งการออกแบบที่ไม่เป็นกลางมุ่งสร้างความได้เปรียบเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสร้างปัญหาให้กับการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่แปลกอะไรที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าสมควรมีการแก้ไข

ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะที่เป็นญัตติเข้าสู่การประชุมรัฐสภาแล้วนั้นมี 6 ญัตติ

โดยญัตติที่หนึ่งและสองเป็นการเสนอโดยพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มีเนื้อหาตรงกันในเรื่องการแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกือบทั้งฉบับ

จะต่างกันตรงที่องค์ประกอบของ ส.ส.ร.และระยะเวลาในการร่างใหม่ที่ร่างของพรรคฝ่ายค้านเสนอให้กระทำให้เสร็จใน 120 วัน ในขณะที่ร่างของพรรครัฐบาลยืดระยะเวลาเป็น 240 วัน

ญัตติที่สามถึงหกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน โดยมีรายละเอียดคือ ญัตติที่สามเป็นเรื่องของการยกเลิกให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272

ญัตติที่สี่เป็นการยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาในบทบาทที่เกี่ยวกับการกำกับติดตามการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 และ 271

ญัตติที่ห้าเป็นเรื่องการยกเลิกการรับรองความชอบธรรมของคำสั่ง ประกาศและการกระทำการใดๆ ในอดีตของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

และญัตติที่หกเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งโดยบัตรสองใบคือ บัตร ส.ส.เขต และบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550

พรรคฝ่ายค้านที่เสนอญัตติย่อมรู้ว่า ภายใต้ระบบรัฐสภาที่ฝ่ายรัฐบาลคุมเสียงข้างมากแถมยังมี 250 สมาชิกวุฒิสภาผู้มีแนวโน้มพร้อมลงมติแบบไม่แตกแถวตามแต่ผู้แต่งตั้งขอมา การเสนอญัตติที่ขัดกับประโยชน์ของฝ่ายรัฐบาลนั้นยากที่จะได้รับความเห็นชอบ

แต่สำหรับพรรครัฐบาลแล้ว เรื่องใดที่เป็นประโยชน์ เรื่องใดที่เป็นการแก้กติกาที่อุตส่าห์ร่างขึ้นมาโดยนิติบริกรเพื่อสร้างความได้เปรียบแล้วถูกพรรคฝ่ายค้านเสนอให้ยกเลิก หากเป็นสถานการณ์ปกติคงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเออออห่อหมกด้วย

เหตุปัจจัยภายนอกสภา ที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องและนับวันจะทวีจำนวนต่างหากที่เป็นแรงผลักแรงส่งที่สำคัญ ทำให้หลายประเด็นที่แต่แรกคิดว่าอาจเป็นไปได้ยาก มีแนวโน้มผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

การตัดสินทางการเมืองครั้งนี้จึงมิใช่เรื่องของเหตุผลแต่เป็นเรื่องเกมกลวิธีทางการเมืองและการประเมินประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองล้วนๆ

ทำไมต้องมีสี่ตัวแบบของการตัดสินใจ

ลองสร้างตารางสองมิติ (Matrix) ขนาด 2 x 2 เพื่อแบ่งประเภทการตัดสินใจโดยแกนหนึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ฝ่ายรัฐบาล อีกแกนหนึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม แล้วลองเอามาตราต่างๆ ที่เป็นญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ 5 มาตรา บรรจุลงไป

ตารางสองมิติดังกล่าว จะประกอบด้วย 4 ช่องหรือ 4 ตัวแบบการตัดสินใจที่มีหน้าตาดังตาราง

หากพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจากตารางของการตัดสินใจ จะเห็นว่า ญัตติทั้ง 6 ญัตติ ตกอยู่ใน 3 กลุ่มของตารางคือ กลุ่มแรก ญัตติที่พรรครัฐบาลเองก็รู้สึกว่าไม่เกิดประโยชน์ทั้งในด้านต่อรัฐบาลหรือส่วนรวม ได้แก่ มาตราที่ 270 และ 271 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาในการติดตามและกำกับการปฏิรูปประเทศ

กลุ่มที่สอง เป็นญัตติที่ฝ่ายรัฐบาลเองรู้สึกว่า หากยอมตัวเองจะเสียประโยชน์ ทั้งๆ ที่ประเด็นดังกล่าวมีมุมมองในเชิงเหตุผลและหลักการว่า สมควรที่จะแก้ไข ได้แก่ มาตรา 256 การแก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญและให้มี ส.ส.ร. มาตรา 272 การให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี และมาตรา 279 การยกเลิกรับรองความถูกต้องชอบธรรมของคำสั่ง ประกาศ ของ คสช.

กลุ่มที่สาม เป็นเรื่องที่พ้องประโยชน์ คือพรรคฝ่ายรัฐบาลก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ในขณะที่การแก้ดังกล่าวก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้การออกแบบระบบการเมืองเข้าที่เข้าทางมากขึ้น คือ การแก้ระบบการเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรสองใบตามเดิม

ทำนายผลการลงมติของรัฐสภาจากตัวแบบการตัดสินใจ

1)ญัตติการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากการออกแบบให้มีบัตรใบเดียวแล้วนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีก่อนคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ แม้จะเป็นญัตติที่เสนอจากพรรคฝ่ายค้านแต่น่าจะเป็นญัตติที่ได้รับการตอบสนองจากพรรคฝ่ายรัฐบาลมากที่สุด เนื่องจากพรรคที่เสียเปรียบจากการออกแบบบัตรใบเดียวคือพรรคขนาดใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งในระดับเขตจำนวนมากแต่จะสูญเสียที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งสถานะดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคใหญ่ที่เป็นแกนหลักของการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน

การยอมแก้เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง จึงอยู่บนผลประโยชน์ของพรรครัฐบาล มิใช่เพื่อเหตุผลเพื่อส่วนรวมเพียงแต่เจือสมประโยชน์กันเท่านั้น

2) ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และการให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 แม้จะเป็นญัตติที่ลดความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาล แต่ในทางการเมืองอาจเป็นญัตติที่ช่วยลดความรุนแรงทางการเมืองลงได้ เนื่องจากหากสังคมเห็นว่ามีการเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญจากตัวแทนที่ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาเองโดยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นแม้จะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน ก็ย่อมเป็นการผ่อนคลายความไม่พอใจและให้รัฐบาลสามารถอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ในประเด็นแรกคือ มาตรา 256 น่าจะเป็นประเด็นที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 นั้นน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสถานการณ์ภายนอกว่ารุนแรงหรือแผ่วบาง โดยเชื่อได้ว่าหากไม่มีแรงกดดันมาก น่าจะไม่มีการยอมแก้ไข

3) ญัตติการยกเลิกการรับรองความชอบธรรมของประกาศ คำสั่งและการกระทำในอดีตของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 279 น่าจะเป็นประเด็นที่คาดการณ์ได้ว่าคงไม่สามารถผ่านความยินยอมของฝ่ายรัฐบาลที่มีรากมาจาก คสช.ได้ เนื่องจากหากขาดภูมิคุ้มกันดังกล่าว คำสั่งที่ไม่ชอบต่างๆ ของ คสช.อาจถูกรื้อฟื้นขึ้นมาและกลายเป็นคดีความที่เป็นปัญหาของคนเหล่านั้นได้

4) ญัตติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ในการติดตามและกำกับการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา 270 และ 271 น่าจะเป็นญัตติที่พรรคฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้มีการแก้ไขเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นบทบาทของวุฒิสภาที่ถูกกำหนดเพิ่มเติมเพื่อสร้างความชอบธรรมของการมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ตามบทเฉพาะกาล แม้จะทำได้ไม่ดี หรือยังทำแล้วไม่เข้าท่า แต่ก็ยากจะยอมยกออกเพราะกลัวเสียหน้า

เข้าทำนอง ขอมีหน้าที่แม้ทำได้ไม่ดีหรือไม่มีความสามารถในการทำก็ขอมีไว้ก่อน

นี่คือการคาดถึงผลการลงมติในหกญัตติที่อาจจะเกิดขึ้น หากเป็นตามนี้จริงแปลว่า ระบบการตัดสินใจของรัฐสภามิได้เป็นไปด้วยเหตุและผลที่สมควรจะเป็นหรือตั้งบนประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ แต่เป็นเรื่องเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ

เข้าใจนะครับ