HOUSE CALLS ศิลปะแห่งเต้านมกระดาษบนภาชนะในบ้านอันสั่นไหว ของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ HOUSE CALLS ภาพโดยอธิษว์ศรสงคราม (Atelier 247)

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมผลงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจมาถึงสองนิทรรศการ

ที่สำคัญ นิทรรศการศิลปะทั้งสอง เป็นนิทรรศการของศิลปินคนเดียวกัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า พินรี สัณฑ์พิทักษ์

พินรีเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะร่วมสมัยตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 80 จากผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากสรีระของผู้หญิงอย่าง “เต้านม” ซึ่งเป็นรูปทรงอันเรียบง่ายที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องในผลงานของเธอ

ดูๆ ไปรูปทรงนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับสถูปเจดีย์ในสถาปัตยกรรมของพุทธศาสนา

หรือบางครั้งก็คล้ายกับภาชนะถ้วยชามสำหรับถวายของบูชา หรือเป็นภาชนะแห่งประสบการณ์และการรับรู้

รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แทนอารมณ์ความรู้สึกของเพศหญิง

พินรีสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันประณีตละเอียดลออผ่านสื่อต่างๆ ทั้งงานปะติด (collage), วาดเส้น, ภาพวาด, ภาพพิมพ์, ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง ด้วยวัสดุอันหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นผืนผ้าใบ, สิ่งทอ, กระดาษ, แก้ว, เซรามิก, โลหะ ไปจนถึงอาหาร เป็นต้น

เธอสร้างรูปทรงและสัญลักษณ์ต่างๆ จากสรีระของผู้หญิงที่ผันแปร บอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าสามสิบปี

หลังจากปี พ.ศ.2543 เธอสนใจเรื่องการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ในงาน และสร้างผลงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสทางกาย กลิ่น รสชาติ เสียง หรือการเคลื่อนไหว

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่พินรีเคยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดในกรุงเทพฯ ในครั้งนี้เธอกลับมาพร้อมกับนิทรรศการแสดงเดี่ยวถึงสองนิทรรศการ นิทรรศการแรกที่เราได้ไปชมมีชื่อว่า

HOUSE CALLS

ที่จัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ ประกอบด้วยประติมากรรมหลายร้อยชิ้นที่ไม่เคยถูกจัดแสดงที่ใดมาก่อน

แต่ละชิ้นงานล้วนทำจากกระดาษเส้นใยธรรมชาติ ที่ถูกฉีกออกด้วยมือทีละแผ่น ค่อยๆ วางทับซ้อนกันเป็นชั้นจนเกิดเป็นรูปทรงนมที่มีลักษณะคล้ายสถูป (เจดีย์)

ทั้งหมดถูกจัดวางอยู่บนภาชนะหลากหลายอย่าง ทั้งถ้วยชามรามไห, หม้อ, ขวด, โหล, โถ, คนโท ฯลฯ และเครื่องใช้สอยในครัวเรือนที่เป็นของใช้ส่วนตัวในบ้าน และสิ่งสะสมของศิลปิน ปะปนกันไปทั้งใหม่และเก่าเป็นจำนวนกว่า 400 ชิ้น

ผลงานแต่ละชิ้นถูกจัดวางบนชั้นวางที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษโดย Studiomake กลุ่มนักออกแบบและสถาปนิกที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ

ชั้นวางเหล่านี้ซ่อนกลไกที่ทำให้สามารถโยกสั่นตามความเคลื่อนไหวของผู้ชม เพื่อกระตุ้นให้ผลงานประติมากรรมกระดาษที่วางอยู่บนภาชนะไหวคลอน ราวกับเป็นภาพสะท้อนการใช้ชีวิตภายในบ้านที่ไม่มั่นคง

ผลงานของพินรีชุดนี้แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่ทุกคนกำลังเผชิญร่วมกันในสภาวการณ์การระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ทุกๆ คนต่างถูกกักตัวอยู่บ้าน

โดยเล่ามิติอันซับซ้อนของความเป็นบ้าน และความไม่แน่นอนของโชคชะตาในชีวิตประจำวันของผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในบ้านเหล่านั้น

“งานชุดนี้ต่อเนื่องจากผลงานที่ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะเซโทอุชิ เทรียนนาเล่ (Setouchi triennale) บนเกาะฮอนจิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2019 ที่จัดแสดงในบ้านไม้หลังหนึ่งในชุมชนโบราณบนเกาะ เป็นงานประติมากรรมกระดาษขนาดเล็ก 8 ชิ้น รูปทรงคล้ายพุ่ม วางอยู่บน “โทโคโนมะ” (Tokonoma) ซึ่งปกติใช้จัดวางงานศิลปะอย่างแจกันดอกไม้, ภาพเขียนพู่กัน และของตกแต่งบ้านในวัฒนธรรมญี่ปุ่น”

“พอเรากลับมาบ้านเรา ก็เลยคิดว่างานชุดนี้น่าจะพัฒนาต่อได้ ด้วยความที่งานของเราเองก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาชนะด้วย เราก็เลยหันมามองของรอบตัวในบ้าน พอดีเป็นคนชอบสะสมพวกภาชนะถ้วยชาม หม้อ คนโท หรือพวกอุปกรณ์ทำครัว ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาสองส่วนนี้มารวมกันได้”

“ประจวบกับช่วงนั้นเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 พอดี ก็เลยเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการนี้ว่า “HOUSE CALLS” ซึ่งเป็นการเล่นคำระหว่าง การถูกเรียกกลับบ้านของตัวเอง (ในช่วงโควิด) หรือการเข้าไปสู่อีกบ้านหนึ่ง (ในช่วงแสดงนิทรรศการที่ญี่ปุ่น) เนื้อหาในนิทรรศการเป็นการหวนกลับมามองความสำคัญของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เป็นรูปธรรม หรือบ้านที่เป็นนามธรรมก็ตาม”

พินรีกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ HOUSE CALLS ครั้งนี้ของเธอ

“ภาชนะที่เราหยิบมาใช้ นอกจากจะเป็นของสะสมส่วนตัวแล้ว ยังเป็นของสะสมของพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย บ้างก็ได้มาจากร้านขายของเก่าหรือตลาด บางทีเราไปเปิดตู้ในครัว แล้วเจอของที่เราไม่เคยหยิบมาใช้ อย่างถ้วยชา กาน้ำร้อน ป้านน้ำชา เชี่ยนหมาก ที่แอบอยู่ในนั้นมานาน เราก็หยิบเอามาทำงาน ด้วยความที่ภาชนะเหล่านี้มีรูปทรง วัสดุ และพื้นผิวหลากหลาย ทำให้แต่ละชิ้นมีเรื่องราวของตัวเองอยู่ในนั้นที่สื่อสารกับทั้งตัวเราและผู้ชม ดังนั้น ในช่วงเวลาจัดนิทรรศการ ก็จะมีกิจกรรมเสริมอย่าง การเล่านิทาน, การแสดง หรือการเต้นรำต่างๆ ประกอบไปด้วย”

“ตอนแรกที่จะจัดแสดงงานชุดนี้ เราก็คิดง่ายๆ ว่าจะวางบนพื้นเลย แต่พอคิดไปคิดมา การวางบนพื้นอาจจะทำให้เห็นตัวภาชนะไม่ค่อยชัด ก็เลยคิดว่าเอาขึ้นมาวางบนชั้นดีกว่า ทีแรกคิดว่าจะจัดแสดงบนชั้นที่วางติดกับผนังรอบห้อง แต่พอปรึกษาภัณฑารักษ์ก็คิดว่าอยากจัดแสดงบนชั้นที่วางลอยตัวอยู่กลางห้อง ให้เห็นงานแบบรอบตัว 360 องศาดีกว่า เพราะพอเราเดินไปรอบๆ ก็จะเห็นมุมมองของภาชนะในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน เราก็ติดต่อคุณเดวิด แชเฟอร์ (David Schafer) แห่ง Studiomake ให้ออกแบบชั้นวางให้ โดยมีโจทย์ว่า ต้องการชั้นที่ยืดหยุ่น เปลี่ยนรูปแบบ และที่สำคัญ สั่นได้ เพราะประติมากรรมนมกระดาษที่เราทำนั้นมีแกนที่เป็นเข็มร้อยมาลัยอยู่ตรงกลาง จึงทำให้มีความยืดหยุ่นและสั่นไหวได้ เราเลยขอให้เขาทำชั้นที่สามารถสั่นได้ ซึ่งเขาก็ออกแบบและทำออกมาให้อย่างลงตัวมาก และชั้นเหล่านี้ก็สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางได้ด้วย”

“ประติมากรรมกระดาษพวกนี้ เรามีผู้ช่วย 4 คนช่วยทำ โดยเราจัดหากระดาษให้ ก็จะมีกระดาษทั้งจากญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนาม, หลวงพระบาง ที่ลาว และกระดาษของไทย คือกระดาษสาบ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกำหนดรูปทรงให้กว่า 50 แบบ แต่ให้คนทำกำหนดเองว่าจะวางสีกระดาษยังไง เขาจะได้ไม่เบื่อ”

“ขั้นตอนก็ทำโดยการใช้วงเวียนติดพู่กันจุ่มน้ำ วนรอบๆ แผ่นกระดาษแล้วฉีกออกมาวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ ด้วยความที่อยู่ในช่วงกักตัวจากโควิด ผู้ช่วยแต่ละคนก็ต่างทำกันที่บ้าน สื่อสารกันทางออนไลน์ และส่งงานทาง Grab”

“อย่างผู้ช่วยคนหนึ่งเป็นไกด์ทัวร์เกาหลี ซึ่งในช่วงโควิดนี่ไกด์ตกงานก่อนเพื่อนเลย เราก็เลยดึงเขามาช่วยทำงาน เราก็รู้สึกดีใจว่ามีส่วนช่วยให้เขามีงานทำในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เพราะถ้าให้เราทำเองหมดก็คงทำไม่ไหวเหมือนกัน”

ด้วยรูปทรงของประติมากรรมรูป “สถูปนม” อันเป็นสัญลักษณ์ที่ผสมผสานระหว่างความเย้ายวนและความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อหลอมรวมเข้ากับภาชนะที่มีรูปทรง พื้นผิว และวัสดุต่างๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันหลากหลาย รวมถึงการจัดแสดงบนชั้นวางที่มีลูกเล่นในการสั่นไหว สร้างความระทึกใจเล็กๆ ให้ผู้ชม

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ประกอบกันเป็นนิทรรศการที่สร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะและมิติในการชมงานอันแปลกใหม่และแตกต่างอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์ให้กับผู้ชมอย่างเราได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ HOUSE CALLS โดยพินรี สัณฑ์พิทักษ์ และภัณฑารักษ์ กิตติมา จารีประสิทธิ์ จัดแสดง ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม-4 เมษายน พ.ศ.2564 โดยมูลนิธิจะเปิดทำการทุกวันพฤหัสบดี-วันศุกร์ เวลา 10:00-18:00 น. และวันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น.

สามารถติดตามกิจกรรมสาธารณะที่จะจัดขึ้นในทุกๆ เดือนได้ที่ www.facebook.com/100TonsonFoundation

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร. 0-2010-5813

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน และศิลปิน