เทศมองไทย : ทัศนะแห่งอุษาคเนย์ ต่อรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์”

มีคนตั้งข้อสังเกตเอากับผมว่า การต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดูๆ ไปเหมือนอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับที่สำนวนไทยว่าเอาไว้ว่า “จับปูใส่กระด้ง” เลยทีเดียว

คือกระด้งมันทั้งแบนทั้งกว้างไงครับ จับปูไปใส่มันก็ไต่ออกทางโน้นที ทางนี้ที คนจับก็ปัดกลับเข้ามาวุ่นวายอยู่

พี่แกเล่นอุปมาซะผมแทบหัวเราะก๊าก แต่ก็อดไม่ได้แย้งไปว่า ออกจะเหมือน “ตำข้าวสารกรอกหม้อ” เสียมากกว่า เพราะไม่มีหลักอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เล่นวางท่าหาทางออกไปเป็นคราวๆ ดูตัวอย่างเช่นกรณีของอาเซียน นี่ถ้าไม่เกิดวิกฤตเกาหลีเหนือ ผมยังไม่รู้เหมือนกันว่า ลุงทรัมป์แกจะสนใจ ใส่ใจกับอาเซียนหรือเปล่า

แต่พอสนอกสนใจขึ้นมา ลุงแกก็ไม่ใส่ใจอย่างอื่นเลยเหมือนกัน โทร.ชวนเปรอะไปหมด ยังกะชวนไปออกรอบหรือกินข้าวเย็น ซะงั้น! เลยโดนสอนมวยซะหลายยกจากมวยหลักอย่าง จอห์น แม็กเคน

ท่านรัฐมนตรี เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ก็เพิ่งมาประกาศย้ำ “พันธะผูกพัน” ด้านความมั่นคงกับอาเซียนเอาเมื่อได้เจอกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่วอชิงตันเมื่อไม่นานมานี้ ฟังดูแปร่งๆ เอาการอยู่ไม่น้อย

 

เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (เอสซีเอ็มพี) รายงานไว้เมื่อ 7 พฤษภาคมนี้ว่า ในวันเดียวกันนั้น มีการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นที่น่าสนใจออกมาชิ้นหนึ่ง นั่นคือผลสำรวจว่าด้วยทัศนะของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมองไปยังรัฐบาลทรัมป์ ในยามที่จีนแผ่นดินใหญ่กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อแผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้

งานสำรวจชิ้นนั้นเป็นงานสำรวจเชิงวิชาการ จากสถาบันไอซีส-ยูซอฟ อิสฮัก แห่งสิงคโปร์ กลุ่มตัวอย่างที่สอบถามแม้จะน้อยคือเพียง 318 คน แต่ก็ครอบคลุมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาล, นักวิชาการ, นักธุรกิจ, สื่อมวลชน เรื่อยไปจนถึงตัวแทนภาคประชาสังคม จากในชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติ

ผมว่าทุกคนคงพอจะเดาๆ ได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือสัดส่วนนี่สิครับ ออกมาสูงเกินคาดจริงๆ

อย่างเช่น กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ลงความเห็นว่า นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งมา ต้องถือว่าสหรัฐอเมริกา “สูญเสียพื้นที่ยุทธศาสตร์” ให้กับจีน ส่งผลให้จีนกลายเป็น “ประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาคนี้” ไปแล้ว

กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้สำรวจเห็นว่า ชื่อเสียงของสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ “เสื่อมทรามลง” หรือ “เสื่อมทรามลงอย่างมาก” ครับ

กว่า 54 เปอร์เซ็นต์ มองว่า สหรัฐอเมริกา “พึ่งพาอาศัยได้น้อยลง” กว่าเมื่อ 4 เดือนก่อน

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อคำนึงถึงทางด้านความมั่นคงปลอดภัย หลายคนยังมองว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกายังมีนัยสำคัญอยู่ เพราะ 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นตรงกันว่า สหรัฐอเมริกา “ควรจะ” ทำหน้าที่เป็นหลักค้ำประกันเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำขัดแย้งคือทะเลจีนใต้ ที่เป็นเส้นทางการค้าสำคัญอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่น่าคิดมากกว่าก็คือ มีความเห็นเพียงเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ไปนิดหน่อยเท่านั้นที่มองว่า สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาค ทั้งใน “ตอนนี้” และ “ในอีก 10 ปีข้างหน้า” ตรงกันข้าม เกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ มองว่าจีนเป็นชาติที่มีอิทธิพลครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานี้ และจะยังเพิ่มอิทธิพลต่อเนื่องต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ 44 เปอร์เซ็นต์ มองว่าในอีก 12 เดือนถัดไป สัมพันธ์จีนกับสหรัฐ จะอยู่ในรูปของการ “แข่งขันกันมากยิ่งขึ้น” อีก 14.5 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า “ความตึงเครียด” และ “ความเป็นปฏิปักษ์” ระหว่างประเทศทั้งสองจะทวีมากขึ้นในช่วงเวลานั้น

72.5 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า “ไว้วางใจน้อย” หรือ “ไม่ไว้วางใจ” ว่าจีนจะนำพาสันติภาพ, ความมั่นคง, ความรุ่งเรืองและธรรมาภิบาล มาสู่โลก

เกือบ 65 เปอร์เซ็นต์ เห็นเช่นกันว่า สหรัฐอเมริกา “พึ่งพาไม่ได้” ว่าจะยึดถือหลักการค้าเสรี, สิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ

 

นักการทูตส่วนใหญ่มองว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนถึงความเป็นจริงของความกังวลและความเชื่อมั่นที่เสื่อมถอยลงในบรรดาชาติอาเซียน เมื่อสหรัฐอเมริกา “จงใจ” และ “ค่อยๆ” ถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้ ในขณะที่จีนทำในสิ่งตรงกันข้าม

แต่ ซู ลี ผิง ผู้เชี่ยวชาญกิจการอุษาคเนย์ จากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีน (ซีเอเอสเอส) ในกรุงปักกิ่ง ตีความผลสำรวจนี้แล้วเตือนเอาไว้ว่า เป็นการสะท้อนความอึดอัดคับข้องใจของอาเซียนต่อสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่จีนต้องไม่ประเมินอิทธิพลของตนเองเกินจริงไปเป็นอันขาด

เพราะชาติอาเซียนส่วนใหญ่ยังคาดหวังการเข้ามาแทรกของสหรัฐอเมริกาอยู่เสมอในทุกๆ เรื่องของภูมิภาค

เพราะนั่นคือเกมของดุลยภาพแห่งอำนาจที่ชาติอาเซียนทุกชาติต้องเล่นครับ!