“Last Letter” : “Unfinished Project” ของมนุษย์

คนมองหนัง

สุดสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสเปิดดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง “Last Letter” (2020) ของ “ชุนจิ อิวาอิ” โดยบังเอิญ ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์

นี่ไม่ใช่หนังภาคต่อ แต่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น “โปรเจ็กต์เกี่ยวเนื่อง” กับผลงานสร้างชื่อ-ยอดนิยมของ “อิวาอิ” เรื่อง “Love Letter” (1995) รวมถึง “Last Letter” (2018) ในเวอร์ชั่นจีน

ทั้งเพราะมีผู้กำกับฯ-ผู้เขียนบทคนเดียวกัน มีจดหมายเป็นวัตถุ-สื่อกลางของเรื่องราวเหมือนกัน (จากสื่อที่ยังทรงพลังอยู่เมื่อกลางทศวรรษ 1990 จนถึงสื่อของคนแก่ และกิมมิก-เกมการละเล่นของผู้ใหญ่วัยกลางคน-คนรุ่นใหม่ในปี 2020)

มีการครุ่นคิดถึงประเด็นเรื่องความทรงจำและการสลับสับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลคล้ายคลึงกัน

รวมถึงการมีนักแสดงนำจาก “Love Letter” มารับบทสมทบ (ที่เกือบจำรูปลักษณ์แทบไม่ได้) ใน “Last Letter”

เรื่องราวของ “Last Letter” เริ่มต้นจากโลกของผู้หญิง เมื่อ “ยูริ” สตรีวัยขึ้นต้นด้วยเลข 4 เดินทางกลับบ้านพ่อ-แม่ พร้อมลูกสาววัยรุ่นและลูกชายวัยเด็ก เพื่อมาร่วมงานศพของ “มิซากิ” พี่สาวผู้ล่วงลับ

จากนั้นหนังพาคนดูท่องไประหว่างโลกสามใบ คือ โลกของ “อายูมิ” ลูกสาวของ “มิซากิ” และ “ฟูกะ” ลูกสาวของ “ยูริ”

โลกของ “ยูริ” และโลกของ “เคียวชิโร่” ชายผู้เป็นเพื่อน (คนรัก) เก่าของ “มิซากิ” กับ “ยูริ”

หลังงานไว้อาลัย “มิซากิ” สิ้นสุดลง “ฟูกะ” ก็ขออนุญาตแม่ว่าเธอจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตา-ยายในชนบทต่อไประหว่างช่วงเวลาปิดเทอม เพื่อคอยทำหน้าที่เป็นเพื่อนปลอบใจ “อายูมิ” ลูกพี่ลูกน้องซึ่งยังเศร้าโศกใจจากการสูญเสียแม่

ขณะที่ “ยูริ” ก็เดินทางกลับไปใช้ชีวิตปกติร่วมกับสามีนักเขียนการ์ตูนบุคลิกเนิร์ดๆ แต่เคร่งครัดจริงจังหมกมุ่นในการทำงาน

อย่างไรก็ดี “ยูริ” ได้นำเอาจดหมายเชิญไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นสมัยโรงเรียนมัธยม ซึ่งจัดส่งมาถึง “มิซากิ” พี่สาวผู้ล่วงลับ ติดตัวกลับบ้านด้วย

“ยูริ” เดินทางไปงานเลี้ยงรุ่นของ “มิซากิ” เพราะหวังจะแจ้งข่าวร้ายให้บรรดารุ่นพี่รับทราบว่าพี่สาวของเธอได้เสียชีวิตลงแล้ว แต่เพื่อนๆ พี่กลับเข้าใจผิดและทึกทักอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์ว่า “ยูริ” คือ “มิซากิ”

กระทั่ง “ยูริ” ยากจะอธิบายความ เพื่อแก้ไขอาการเข้าใจผิดโดยพร้อมเพรียงกันดังกล่าว

ในงานเลี้ยงรุ่นของ “มิซากิ” “ยูริ” มีโอกาสพบ “เคียวชิโร่” นักเขียนหนุ่มใหญ่ รุ่นพี่ที่เคยหลงรักพี่สาวเธอ แถมยังเป็นชายที่เธอเคยแอบรักสมัยมัธยม

“ยูริ” ยังคงแสร้งปฏิบัติตัว/สวมบทบาทเป็น “มิซากิ” ในปฏิสัมพันธ์ที่เธอสานก่อกับ “เคียวชิโร่” ทั้งคู่เริ่มติดต่อกันผ่านการส่งข้อความในสมาร์ตโฟน ก่อนจะหันไปเขียนจดหมายรำลึกความหลังตอบโต้กัน

โดย “ยูริ” กำหนดกฎเกณฑ์ให้ “เคียวชิโร่” ส่งจดหมายจ่าหน้าซองไปถึง “มิซากิ” ที่บ้านพ่อ-แม่ของเธอ

ความสลับซับซ้อนบังเกิดขึ้น เมื่อจดหมายของ “เคียวชิโร่” ถูกส่งไปยังบ้านพ่อ-แม่ของ “มิซากิ” และ “ยูริ” แล้วถูกเปิดอ่านโดยคนรุ่นลูก-หลานอย่าง “อายูมิ” และ “ฟูกะ”

วงจรการเขียนจดหมายจึงกลายเป็น “ยูริ” ในนาม “มิซากิ” เขียนจดหมายระบายความในใจไปถึง “เคียวชิโร่” นักเขียนวัยกลางคนเขียนจดหมายตอบ “มิซากิ” โดยมี “อายูมิ” กับ “ฟูกะ” เป็นผู้อ่าน ก่อนที่เด็กสาวทั้งคู่จะเขียนจดหมายกลับไปหา “เคียวชิโร่” เช่นกัน

“มิซากิ” ที่เขียนจดหมายถึง “เคียวชิโร่” จึงไม่ใช่ “มิซากิตัวจริง” แต่เป็นผู้หญิงรายอื่นๆ ถึงสามคน ได้แก่ น้องสาว ลูกสาว และหลานสาวของเธอ

“Last Letter” ค่อยๆ พาคนดูไปทำความรู้จัก “เคียวชิโร่”

ชายวัย 40 กว่าผู้นี้ เป็นนักเขียนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก เขามีนิยายเล่มเดียวชื่อ “มิซากิ” ซึ่งบันทึกเรื่องราวสายสัมพันธ์ความรัก-ความผิดหวังระหว่างตนเองกับผู้หญิงชื่อเดียวกัน

นิยายเล่มนั้นทำให้เขาได้รับรางวัลเล็กๆ มาหนึ่งชิ้น มันมียอดขายไม่มากนัก ที่สำคัญ หลังจากนั้นเขาก็เขียนงานไม่ออกอีกเลย

“ยูริ” เปลี่ยนเกมการเขียนจดหมายอีกครั้ง ด้วยการแจ้งที่อยู่ใหม่ในการจัดส่งจดหมาย เป็นบ้านชายชราซึ่งไม่ไกลจากที่อยู่ปัจจุบันของเธอ

“เคียวชิโร่” จึงเดินทางไปพบ “ยูริ/มิซากิ” ตามที่อยู่นั้น และได้รับทราบความจริงสองประการ

ประการแรก “ยูริ” สารภาพว่าเธอมิใช่ “มิซากิ” นี่เป็นเรื่องที่ “เคียวชิโร่” รู้ทันทีตั้งแต่วันงานเลี้ยงรุ่น แต่เขาตัดสินใจ “เล่นตามเกม” ของน้องสาวอดีตคนรัก

ประการที่สอง “ยูริ” แจ้งข่าวเศร้าว่า “มิซากิ” มีชีวิตครอบครัวที่ไม่สมหวัง เธอตรอมตรม-ป่วยไข้ และตัดสินใจปลิดชีพตนเองในวัย 40 กลางๆ

“เคียวชิโร่” ตัดสินใจดั้นด้นกลับไปค้นหาอดีต เริ่มต้นด้วยการพบปะกับผู้ชายรุ่นพี่ที่แย่งหญิงคนรักไปจากเขา และกระทำเรื่องเลวร้ายต่อเธอต่างๆ นานา รวมทั้งได้ทำความรู้จักภรรยาใหม่ของชายคนนั้น

เขาย้อนไปถ่ายภาพโรงเรียนเก่าอันทรุดโทรมร้างไร้ผู้คน ก่อนจะได้เจอ “อายูมิ” และ “ฟูกะ” โดยบังเอิญ

เด็กสาวทั้งคู่ชวนนักเขียนรุ่นลุงไปบ้านตา-ยาย (พ่อ-แม่ของ “มิซากิ” และ “ยูริ”) พวกเธอพาเขาขึ้นไปจุดธูปทักทายรูปภาพของ “มิซากิ”

ดูเหมือนปฏิสัมพันธ์ผ่านจดหมายของตัวละครเหล่านี้จะค่อยๆ คลี่คลายและอาจยุติลง

ขณะที่กระบวนการเขียนนิยายเรื่องใหม่ของ “เคียวชิโร่” กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เพื่อทำให้ “มิซากิ” ได้มีชีวิตโลดแล่นอีกหนในปัจจุบันและอนาคต

ตามความเห็นส่วนตัว ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “ชุนจิ อิวาอิ” นั้นพูดถึง “ความไม่สมบูรณ์” ในชีวิตมนุษย์ได้อย่างทรงพลัง

ในมิติแรก นี่คือเรื่องราวว่าด้วยการยึดติดยึดมั่นในบุคคลคนหนึ่งหรือความทรงจำเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

แม้เราจะโหยหาใครคนนั้นหรือความทรงจำคราวนั้นมากมายสักเพียงใด แต่ท้ายสุด เราก็ไม่สามารถย้อนกลับไปแสวงหาหรือมุ่งหน้าสานต่อเติมเต็มมันได้อย่างหมดจดสมบูรณ์

ในมิติถัดมา “Last Letter” กำลังสะท้อนภาพสรรพชีวิตของเหล่าตัวละครอันแหว่งวิ่น อาทิ

ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยเป็นเด็กสาวหัวดี เป็นประธานนักเรียนสมัยมัธยม ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสร้างครอบครัว มีห้วงเวลาวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ดี-ไร้ความสุข (สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญของเธอคือจดหมายจากคนรักเก่า) จนต้องเลือกยุติชีวิตของตน

ผู้หญิงอีกคนที่อาจมีชีวิตครอบครัวค่อนข้างสมบูรณ์ (แม้จะจืดชืดไปนิด) ทว่าเธอก็ไม่สมหวังในรักแรกของตัวเอง

นักเขียนชายที่ผิดหวังในความรัก ไม่ประสบความสำเร็จสูงสุดในทางวิชาชีพ และกักขังตนเองอยู่กับอดีต โดยแทบมองไม่เห็นปัจจุบันและอนาคต

เด็กสาวคนหนึ่งที่ขาดแม่และเสมือนไร้พ่อ กับเด็กสาวอีกคนที่คล้ายจะมีทุกอย่างครบถ้วน แต่กลับกำลังเริ่มประสบปัญหาเล็กๆ เรื่องความรักครั้งแรกในวัยเรียน

ไม่รวมถึงคนรุ่นตา-ยายที่ดำเนินชีวิตอย่างเงียบสงบ แต่เราไม่รู้ว่าพวกเขาเก็บซ่อนปิดงำความผิดหวัง-ความเสียใจไว้มากมายแค่ไหนในหัวใจอันแก่ชรา

สามีแย่ๆ ที่ไร้งานทำเป็นหลักแหล่ง และหลบหนีความผิดพลาดไปไหนไม่ได้ไกล

หรือสามีบ้างานที่มีภรรยา-แม่บ้านคอยรับใช้เคียงข้าง แต่ก็ค่อนข้างโดดเดี่ยวตนเองจากสมาชิกรายอื่นๆ ในครอบครัว

มองในภาพรวม หนังของ “อิวาอิ” จึงอาจนำเสนอส่วนเสี้ยวแตกแยกกระจัดกระจายจาก “ภารกิจอันไม่มีวันสิ้นสุด” (unfinished project) ของผู้คนที่ล้วนแหว่งวิ่นไม่สมบูรณ์แบบ

นี่คือ “ภารกิจยืดเยื้อยากลำบาก” ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต้องมีและเผชิญ ไม่ว่ามันจะเกี่ยวพันกับความรัก ความสัมพันธ์ มิตรภาพ หน้าที่การงาน หรือการเมืองก็ตาม