วิเคราะห์การเมือง | สูตรพิสดาร! “ประชามติ” นายกฯ ควรลาออกไหม แก้วิกฤตประเทศ “กก.สมานฉันท์” ปาหี่-แผ่นเสียงตกร่อง?

การประชุมสภาสมัยวิสามัญในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพื่อหาทางออกประเทศจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในสถานการณ์ที่ระอุมากขึ้นตั้งแต่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนนำมาสู่การ “สลายการชุมนุม” รอบทำเนียบฯ และแยกปทุมวัน

ทั้งนี้ การอภิปราย 2 วัน ฝ่ายค้านให้น้ำหนักไปในเรื่องให้นายกฯ ลาออก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันนั้น น้ำหนักการอภิปรายอยู่ที่พรรคก้าวไกล ทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ถูกพูดถึงในสภาถูก “ตีกรอบ” ลงมา ไม่ทะลุเพดานเช่นเดิม

ซึ่งรัฐบาลก็มีท่าทีตอบรับมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ที่เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภาสัปดาห์หน้า แต่ข้อเสนอให้นายกฯ ลาออก โอกาสเป็นไปได้ ยังไม่เกิดขึ้น

“คนบอกผมอยากอยู่ยาว อยู่นาน ไปถามคนร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้เป็นคนร่าง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวด้วยการหนีปัญหา ผมจะไม่ลาออกด้วยการหนีปัญหาเหมือนคนอื่นๆ ผมยังต้องแก้ไขปัญหาอื่นๆ พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย จนกว่าจะไม่มีโอกาสได้ทำ ตอบชัดไหม”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงต้องกรำศึกจากฝั่งผู้ชุมนุมต่อไปที่กดดันให้ลาออก จึงเกิดการเสนอ “สูตรพิสดาร” ขึ้นในสภา ในการทำประชามติ ในลักษณะเห็นสมควรหรือไม่ในการให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศต่อไป เป็นต้น

หนึ่งในผู้ที่เสนอคือ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นน้องชายรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้เสนอให้ทำ “ประชามติ” ถามคนทั้งประเทศ โดยพ่วงไปกับการเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 20 ธันวาคมนี้

พร้อมเสนอให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตั้ง “คณะกรรมการชุดหนึ่ง” ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ตัวแทนนักเรียน นักศึกษา อดีตประธานศาลฎีกา อดีตประธานศาลปกครอง ตัวแทนองค์กรอิสระ ไปร่วมกัน “ตั้งคำถามประชามติ” อย่างน้อย 3 ข้อ ในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง เพื่อหาข้อยุติแล้วส่งให้รัฐบาลไปทำประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสิน

โดยให้ “คณะกรรมการชุดนี้” มีหน้าที่ทำกฎหมายประชามติในกรณีเร่งด่วน เพื่อให้เสนอเป็น พ.ร.ก.ประชามติ ที่ใช้เฉพาะทำประชามติแก้ความขัดแย้งในครั้งนี้โดยเฉพาะ หากรอให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านสภาเดือนธันวาคมนี้ หรือต้นปี 2564 อาจไม่ทัน

ด้านรองนายกฯ วิษณุชี้แจงว่า ข้อเสนอที่ 3 ฝ่ายเสนอในที่ประชุมคือ การทำประชามติถามประชาชน ก็ต้องถามว่า จะถามอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 บัญญัติห้ามทำประชามติออกเสียงเรื่องตัวบุคคล แต่หากจะหาช่องทางอื่นที่แยบคายและแนบเนียนก็น่าจะพิจารณาได้ โดยนายกฯ คงมีการนำเรียนต่อประธานสภา ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร

นอกจากนี้ รองนายกฯ วิษณุชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 มีเงื่อนไขว่า นายกฯ คนใหม่ต้องมาจากรายชื่อที่เสนอเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง ขณะนี้มีอยู่ 5 คน จากเดิม 7 คน โดยตัดชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป

จึงเหลือแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีเดิม ได้แก่ ฝั่งรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฝั่งฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ

ทั้งนี้ รองนายกฯ วิษณุชี้แจงอีกว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภาที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประธานได้รายงานว่าที่ประชุมมีสิทธิ์ออกเสียงได้ 732 คน ซึ่งกึ่งหนึ่งก็คือ 366 เสียง ต่อให้ ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมดตามที่หลายคนเรียกร้อง ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง หากไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่า หากถึงทางตันแล้วจะทำอย่างไร

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีต่อเรื่องนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่เลือกนายกฯ ก็แล้วแต่ เพราะตนไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ ถ้าจะไม่เลือกตนก็ได้ ไม่ได้ขัดข้องอะไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือในรัฐสภา

สะท้อนว่า “เกมในระบบ” ฝั่งรัฐบาลยังคงได้เปรียบ แน่นอนว่าการชุมนุมหรือ “เกมนอกสภา” ยังคงดำเนินต่อไป เพื่องัดข้อระหว่าง “ฝ่ายรัฐบาล” กับ “ฝ่ายต้านรัฐบาล”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าฝ่ายรัฐบาลยังคงเชื่อมั่นใน “ฐานเสียง” ที่มีอยู่ และความเป็นเอกภาพของ “เสียงในสภา”

ทำให้ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน ซัดกลับเรื่องการทำประชามติ นายกฯ ลาออกหรือไม่ลาออก ว่าไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน

“จะเป็นประเทศแรกในโลกที่จะทำประชามติ กลไกประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว ใครจะลาออกหรือไม่ลาออก ไม่เห็นประเทศใดในโลกที่ต้องมาทำประชามติ ถ้าคิดว่าประชาชนยังมีเสียงก้ำกึ่งกันอยู่ ผู้นำที่ดี ถ้าต้องการเซฟสังคม เซฟประชาชน ตัดสินใจลาออกก่อนได้ แต่ถ้าคิดว่าประชาชนอีกฝ่ายยังอยากให้อยู่ ก็ลงเลือกตั้งใหม่ เดี๋ยวเขาก็เลือกกลับมาเอง การทำประชามติที่ดีคือการเลือกตั้ง” นายสุทินกล่าว

แต่ดูแล้วข้อเสนอ “ทำประชามติ” โหวตให้นายกฯ ลาออกหรือไม่ ยังคงเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น เพราะหากฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ ย่อมเสียเครดิตทันที รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้กับอีกฝ่าย เพราะมีความเป็นรูปธรรมผ่านตัวเลขทางคณิตศาสตร์

แต่หากเกิดขึ้นจริง ก็ไม่พ้นแนวทาง “ตั้งคำถาม” ที่มีความ “แยบยล” อยู่ในตัว เฉกเช่นคำถามพ่วงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ในการให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรก ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการเสนอตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกมองว่าเป็นข้อเสนอ “แผ่นเสียงตกร่อง” แต่จากทีท่าของรัฐบาลนั้นตอบรับ และได้นำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อศึกษาหาทางออกตามแนวทางรัฐธรรมนูญ

ถือเป็นอีกเกมยื้อเวลา-ปาหี่ที่จะเกิดขึ้น

ด้าน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำคณะก้าวหน้า ระบุว่า การตั้งคณะกรรมการ หากไม่เอาข้อเสนอของผู้ชุมนุม 3 ข้อเข้าไปด้วยก็ไม่เป็นประโยชน์ และจะทำให้ประชาชนอาจสิ้นหวังกระบวนการทางสภา และลงถนนอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการใช้กลไกต่างๆ เพื่อถ่วงเวลาเท่านั้น เพราะหากเรื่องใดอยากทำจริงๆ ก็สามารถทำได้ทันที

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า รัฐสภาจะเป็นผู้นำหลัก โดยมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย เช่น ส.ส., ส.ว. ฝ่ายผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย กลุ่มผู้ชุมนุม ก็ขอให้หารือกันอย่างสงบ หาข้อสรุปออกมาตามรัฐธรรมนูญ และบริบทการเมืองของไทย พร้อมย้ำว่าจะไม่มีการครอบงำ เพราะต้องให้เกียรติสภา ในการให้ความเห็นต่างๆ จาก ส.ส. และ ส.ว. ที่ต้องเคารพกันและไม่ตั้งธงกันไว้ ขอให้เชื่อใจกันสักครั้ง ถ้าไม่เชื่อใจกันเลย ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

ซึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่คำว่า “บริบทการเมืองของไทย” ทำให้พอเห็นปลายทางที่ 1 ใน 3 ข้อเสนอของผู้ชุมนุม อาจไม่เกิดขึ้นจริงคือการปฏิรูปสถาบัน

ด้าน “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การให้สภาเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานศึกษาสร้างความปรองดองเพื่อหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม จึงได้ประสานไปยังสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้ศึกษารูปแบบหาทางออกร่วมกัน และออกแบบโครงสร้างคณะทำงานว่าควรเป็นอย่างไร

เนื่องจากข้อเสนอจากรัฐสภายังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการรูปแบบใด

อีกเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือ กรณี “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ได้กรีดข้อมือตัวเองกลางสภาขณะอภิปรายรวม 3 ครั้ง เพื่อประท้วงให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก โดยให้เลือกว่าจะเป็น “ทรราช” หรือ “วีรบุรุษ”

โดย “วิสาร” ต้องการให้เสียงตัวเองดังถึงนายกฯ ซึ่งคิดมาตั้งแต่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังเห็นภาพการสลายการชุมนุมช่วง 14-16 ตุลาคม โดยไม่ต้องการให้วงล้อประวัติศาสตร์ที่ไม่มีทางออกกลับมาอีก พร้อมขอให้ พล.อ.ประยุทธ์อย่าฟังแต่เสียงอวยในสภา เหมือนสภากะลาครอบ ลดตัวเองจากอำนาจล้นฟ้า มาคุยกับเด็กๆ และเรียกร้องให้การแก้รัฐธรรมนูญเร็วขึ้นในเดือนธันวาคม 2563 ได้หรือไม่

ทั้งหมดนี้สะท้อนท่าที พล.อ.ประยุทธ์ต่อผู้ชุมนุม รวมทั้งการ “วางกลไก” ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งดูแล้วฝ่ายรัฐบาลยังคงได้เปรียบในฐานะ “ผู้มีอำนาจ” ดังนั้น แนวทางฝั่งผู้ชุมนุมจากนี้ไปจึงสำคัญยิ่ง เพื่อเพิ่มอำนาจ “การต่อรอง” ไม่ไหลไปตามเกมรัฐบาล

เพราะสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์หนีไม่พ้น “ต้นตอปัญหา” วิกฤตประเทศครั้งนี้!!