อุรุดา โควินท์ / ทางรอดอยู่ในครัว : เธอผู้ไม่ทิ้งกล้วย

“กล้วยยังไม่หมดอีก” เธอว่า ก่อนวางกล้วยหวีใหม่บนโต๊ะ

เธอเอากล้วยมาอีกแล้ว สี่วันก่อนเธอเพิ่งเอามาให้ฉัน ฉันชอบกินกล้วยน้ำว้า แต่กล้วยทั้งหวีใครจะกินหมดในสามสี่วัน

“เราไม่ได้กินกล้วยแทนข้าวนะ พอแล้วละ ค่อยเอามาใหม่” เรารู้จักกันมานาน เธอต้องเข้าใจ ฉันไม่ได้ปฏิเสธน้ำใจของเธอ

“ปัญหาก็คือ” เธอยิ้มหวาน “กล้วยสุกสองเครือ เรากินไม่ทัน เธอต้องช่วยกิน”

ฉันหัวเราะ “เอาไปแบ่งคนอื่นบ้าง”

“แบ่งแล้ว” เธอตอบทันที “แต่เธอต้องได้ด้วย”

ฉันชี้กล้วยเปลือกดำในตะกร้าหวาย “ขอกินหวีนี้ให้หมดก่อน”

เธอย้ายกล้วยหวีใหม่ไปวางร่วมตะกร้า “กินพร้อมกันเลยสองหวี”

เธอช่างดื้อรั้น และยั่วโทสะนัก

ฉันเหยียดยิ้ม “ก็ได้ งั้นทิ้งหวีเดิม”

เธอรีบคว้าตะกร้ามาอุ้ม ราวกับเป็นของล้ำค่า “ไม่ เราไม่ทิ้งกล้วยของเราเด็ดขาด”

ฉันพอจะเข้าใจ เธอปลูกกล้วยไว้ และมันออกผลดี เธอเห็นคุณค่าของดิน เวลา น้ำ และแรงที่เธอปลูก แต่กล้วยของเธอหาใช่ความรับผิดชอบของฉัน

 

“เอางี้มั้ย” ฉันเสนอ “หน้าบ้านเราเนียะ เธอตั้งโต๊ะเล็กๆ เอากล้วยไปวางขายได้ ไม่ต้องเฝ้า ติดราคา วางกระป๋องให้คนหยอดเหรียญ”

“ไม่” ส่ายหัวดิก กอดตะกร้าหวายบรรจุกล้วยไว้แน่น

“ทำไมล่ะ บ้านตรงกันข้ามเราขายส้มโอ หลังติดกันขายแคบหมูทุกเย็น อ้อ แล้วบ้านที่ขายส้มโอนั่น พอตกเย็นก็เปลี่ยนเป็นขายหมูปิ้ง มีเพื่อนขายเยอะแยะ จะได้กลายเป็นกาดน้อยไง น่ารักดี”

เธอสั่นหัว ยืนยันว่า ไม่

ก็แล้วแต่ เธอจะวางไว้ก็ได้ กินไม่หมด ฉันต้องทิ้งอยู่ดี ทำยังไงได้ คนรักของฉันไม่ค่อยชอบกล้วย ส่วนหมา มันชอบ แต่โดยหลักการ หมาเป็นสัตว์กินเนื้อ เราสามชีวิต คนสอง หมาหนึ่ง ได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว กับกล้วยน่ะ

“กล้วยบวชชีดีมั้ย” เธอถาม

เธอหวังให้ฉันพยักหน้า แต่น่าเสียดาย ก่อนที่เธอจะเอากล้วยมาให้ ฉันเพิ่งทำกล้วยบวชชีไปหนึ่งหม้อเล็ก กล้วยบวชชีไม่ใส่น้ำตาล และแช่เย็น

“ยังไงฉันก็ไม่ยอมให้เธอทิ้งกล้วย” เธอพูดอย่างกับอ่านใจฉันออก

“เออ ไม่ทิ้งหรอก เดี๋ยวจะหาทางกิน เอาวางไว้นั่นแหละ” ฉันหันไปบอกเธอ แล้วตั้งอกตั้งใจเด็ดกะเพรา

เป็นความตั้งใจที่ดูมากไปสักนิด เพื่อให้เธอรู้- ฉันอยากจบปัญหากล้วยๆ ของเธอ

 

เธอขับมอเตอร์ไซค์หายไปราว 20 นาที กลับมาพร้อมกับกะทิและแป้ง ฉันทำผัดกะเพราเสร็จพอดี

“กินผัดกะเพรา-ไข่ดาวกันนะ” ฉันแกล้งทำเป็นไม่เห็นกะทิ

“ได้สิ แต่เราจะทำขนมกล้วยด้วย” เธอว่า

ก่อนที่ฉันจะพูดอะไร เธอรีบบอก “เตรียมของมาเรียบร้อย และจะทำแบบไม่หวาน”

ขนมกล้วยเหรอ ถ้าใส่กล้วยเยอะ ใส่แป้งน้อย และไม่ค่อยหวาน ก็พอได้นะ “ต้องตัดตองมาใส่ขนมอีกสิ” ฉันว่า

เธอวางถุงบนโต๊ะ “เดี๋ยวนี้ใครเขาใช้ใบตองกันล่ะ ใช้ฟอยล์ได้ พอดีคำด้วย” ยิ้มหวาน “ที่แน่ๆ ง่าย”

เห็นความตั้งใจของเธอ ฉันต้องยอมใจ เอาเถอะ ฉันจะช่วยเธอ ฉันหยิบกล้วยมาหั่น ใส่ลงชาม สวมถุงมือ แล้วใช้มือขย้ำกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กที่สุด

เธอเอาแป้งออกจากถุงเทลงชามใบใหญ่ นวดแป้งด้วยกะทิ นวดกระทั่งจับตัวเป็นก้อนเดียว

แป้งทำขนมกล้วย ประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน และแป้งเท้ายายม่อม ใส่มากน้อยแค่ไหนแล้วแต่คนกิน แต่ควรให้แป้งข้าวเจ้ามากกว่าแป้งชนิดอื่น

“ไม่ต้องห่วงว่าจะผิดสูตร” เธอว่า “ผสมแป้งมาจากบ้านแล้ว แป้งข้าวเจ้าสิบช้อนโต๊ะ แป้งมันสี่ช้อน แป้งเท้ายายม่อม 1 ช้อน”

น้ำหนักของกล้วยน่าจะราว 600 ถึง 700 กรัม ถือเป็นสัดส่วนที่ฉันชอบ กะทิ-เธอซื้อแบบคั้นแล้วมาครึ่งกิโลกรัม ราวหนึ่งถ้วยตวงเศษ อืม…พอดี

“บ้านมีกล้วยเยอะก็ต้องเชี่ยวชาญขนมกล้วยอ่ะนะ” ฉันล้อเธอ

นวดแป้งดีแล้ว เทกล้วยลงไปรวมกับแป้ง ขย้ำให้เข้ากัน เติมกะทิกับน้ำตาล ย้ำ-เราใส่น้ำตาลน้อยมาก

ใช้ทัพพีคนอีกที คราวนี้ขนมกล้วยก็พร้อมนึ่ง ฉันตั้งน้ำรอ ระหว่างที่เธอใช้ช้อนตักขนมกล้วยลงพิมพ์

เรียงขนมลงลังถึง โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดนิดหน่อย ปิดฝา นึ่งไฟกลางราว 20 นาที นี่คือเคล็ดลับที่เราต่างรู้ดี

เราเรียนทำขนมกล้วยจากครูคนเดียวกัน ผิดกันตรงที่ เธอทำบ่อย ขณะที่ฉันไม่ค่อยได้ทำ

 

ฉันตักข้าวร้อนๆ ราดผัดกะเพรา โปะไข่ดาว มีถ้วยพริกน้ำปลา และจานแตงกวากรอบๆ

กินข้าวด้วยกัน ล้างจานเสร็จ เธอก็กดโทรศัพท์สั่งกาแฟเย็น

“อเมริกาโน่เย็นหวานน้อย ใช่ป่ะ” เธอถามฉัน “ไว้กินกับขนมกล้วย”

ฉันพยักหน้า แล้วเดินไปเปิดลังถึง ขนมดูดี น่ากินกว่าที่ฉันคิด “ง่ายนิดเดียวนะ แต่เราไม่ค่อยได้ทำ” ฉันว่า “ไม่มีแป้งทำขนมติดบ้าน เลยไม่ค่อยคิดถึงขนมน่ะ”

“เราต้องมี” เธอบอก “เพราะเราจะไม่ทิ้งกล้วยเด็ดขาด” เธอเน้นเสียงคำว่าเด็ดขาด

โอเค เพื่อน ไม่ทิ้งก็ไม่ทิ้ง มากินกล้วยในรูปแบบขนมกันเถอะ