คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เรียน “ธรรมะ” จาก “ม็อบ”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เห็นชื่อบทความวีกนี้อย่าเพิ่งรีบเปิดผ่านครับ ผมอยากให้ลองอ่านดูก่อน แม้จะรู้อยู่แล้วว่าท่าทีของผมต่อเรื่องการเมืองและศาสนาเป็นอย่างไร

ถ้าชอบก็ขอให้เป็นบุปผามาลาชุบชูใจ ถ้าไม่ชอบก็ถือว่ากินข้าวไปโดนพริกพอให้ระคายแบบเพลินๆ

ช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมา ความรู้สึกต่างๆ ถาโถมมาสู่ผมมากมาย มากเสียจนแทบเขียนอะไรไม่ไหว ทั้งความโกรธที่เห็นการสลายการชุมนุมในวันที่สิบหกตุลาคม ระคนกับความรู้สึกตื้นตันขอบคุณคนหนุ่ม-สาวจำนวนมากมายในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองครั้งนี้

ผมรู้จักน้องๆ เยาวชนปลดแอกบางคนซึ่งเคยมาเรียนในคลาสภควัทคีตา

น้องนักศึกษาเหล่านี้มักยืนคุยกับผมด้วยความสำรวมนอบน้อมเสมอเวลาที่เราพบกัน

ที่จริงผมบอกตัวเองว่า ผมต่างหากที่ควรนอบน้อมต่อคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เอาเข้าจริงแล้วพวกเขาต่างหากที่ควรต้องสอนผมถึงการบำรุงหล่อเลี้ยงความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ ความรักต่อสังคมและผู้อื่น

วันนี้ผมจึงเห็นตัวเองในฐานะนักเรียนคนหนึ่งของห้องเรียนที่ชื่อว่า “ม็อบ” ที่มี “คนหนุ่ม-สาว” เป็น “ครู”

ผมจึงอยากจะเขียนถึงสิ่งที่นักเรียนผู้โง่เขลาได้เรียนรู้มาบ้าง

 

ผมเชื่อคำสอนที่ว่า ทุกๆ สถานการณ์ในชีวิตคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้ธรรมะ

ในฝ่ายวัชรยานสอนว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ใช่การปรากฏของ “คุรุ”

ในฝ่ายฮินดูก็สอนว่าพระเจ้าปรากฏอยู่ในทุกสิ่ง

ถ้าเรามองมันด้วยสายตาเปิดกว้าง อะไรๆ ก็เป็นโอกาสทั้งนั้น แม้แต่เรื่องการเมืองที่คนมักแยกออกไปจากการเรียนรู้ศาสนธรรม

องค์ทะไลลามะเคยตรัสในทำนองว่า ผู้คนที่ปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อให้สังคมที่ดีขึ้นนั้น คือการปฏิบัติอย่างโพธิสัตว์เลยทีเดียว

สำหรับองค์ทะไลลามะแล้ว การเมืองไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง หากเราเข้าไปด้วยท่าทีที่ถูกต้องและไม่ได้มองว่าพุทธศาสนาต้องลอยสูงเด่นอยู่เรื่องพวกนี้

ศาสนาส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมุ่งสู่ “ความบริสุทธิ์” บางอย่าง แนวโน้มนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติมักค่อยๆ ปลีกตัวออกจากชีวิตสามัญ หรือเชื่อว่าศาสนาต้องไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและอะไรโลกย์ๆ

แต่ผมคิดว่าพุทธศาสนาเมื่อพัฒนามาสู่ความเป็นมหายานแล้วกลับมีท่าทีที่ต่างออกไปอย่างชัดเจน คือท่าทีของการ “อยู่ในโลก”

ที่จริงในฝ่ายเถรวาทเองก็มีท่าทีเช่นนี้เพียงแต่อาจไม่ได้เข้มข้นเท่าฝ่ายมหายาน

พระพุทธะเมื่อได้ตั้ง “สังฆะ” หรือชุมชนของผู้ปฏิบัติแล้ว ภิกษุในพุทธกาลต่างใช้ชีวิตเร่ร่อนตามพุทธเจตนารมณ์เพื่อที่จะ “ท่องไปเพื่อประโยชน์และความสุข (หิตายะ สุขายะ) ของคนทั้งหลาย”

พระพุทธะไม่ได้สั่งให้ภิกษุสาวกปลีกตนอย่างโดดเดี่ยวละทิ้งสังคม ทว่าให้นึกถึงประโยชน์ทั้งสอง คือของตนเองและผู้อื่น

ส่วนฝ่ายมหายานนั้นมีคติพจน์ว่า “มหายานเพื่อมหาชน” (มหายาโน มหาชเนภฺยะ) ทุกสิ่งที่ทำไปแม้แต่การบรรลุหลุดพ้นก็เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น

และด้วยอุดมการณ์เช่นนี้ พระโพธิสัตว์จึงต้อง “เกลือกกลั้ว” เวียนว่ายในสังสารวัฏ หากจะยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ต่อไป

โพธิสัตว์จึงไม่กลัวบาปมลทิน ไม่กลัวการติฉินนินทา ไม่กลัวตกนรก หากพิจารณาแล้วว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ก็ย่อมกระทำได้

ดังนั้น “ความบริสุทธิ์” จึงไม่ได้สำคัญเท่าปณิธานและการกระทำตามปณิธานนั้น

ดังนั้น โพธิสัตว์จะไปม็อบก็ได้ครับ จะเรียกร้องทางการเมืองก็ได้ถ้าเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

เหมือนสมัยหนึ่งที่พระฝ่ายมหายานในเวียดนามออกมาเผาตัวตายเพื่อประท้วงรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา

 

ที่กล่าวมายืดยาว เพื่อจะบอกว่า ม็อบทางการเมืองซึ่งดูเป็นอะไรโลกย์ๆ จนบางคนเห็นพระ-เณรไปม็อบ (ด้วยความกรุณาและสมควรแก่ความเป็นนักบวช) ก็รีบออกมาด่าทันทีว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” (คงลืมไปว่าพระพุทธะเองเคยไปห้ามทัพห้ามความขัดแย้งมากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง) ก็สามารถที่จะเป็นการปฏิบัติศาสนธรรมได้ หากเรามองอย่างแยบคายพอ

ศาสนาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความศรัทธา ความรัก ความหวัง ทว่าความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่ความรู้สึกของเราคนเดียว แต่เป็นความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นภายในเวลาและสถานที่หนึ่งๆ ศาสนาใช้ตัวพิธีกรรมช่วยดึงเอาความรู้สึกเหล่านี้ออกมา

เมื่อคนที่มาร่วมกันในศาสนสถานเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน “อัตตา” หรือตัวตนของพวกเขาก็สลายหรือหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เทศกาลทางศาสนาจึงเน้นคนเข้าร่วมจำนวนมาก

และการสลายอัตตานี้ก็เป็นหัวใจของศาสนาทั้งหลาย

 

ม็อบก็มีลักษณะเช่นนั้นครับ กล่าวคือ เวลาที่คนจำนวนมากๆ ไปอยู่ร่วมกันในม็อบ พวกเขาไม่รู้จักกันเลย ทว่ามีความรู้สึกบางอย่างร่วมกัน เช่น ไม่พอใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น รวมทั้งความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ถูกกระทำ หรืออย่างน้อยก็มีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ ม็อบมีการใช้สัญลักษณ์ร่วมกันอย่างหลวมๆ เช่น สีของเสื้อ ท่ามือ เพลง ฯลฯ เป็นการใช้สัญลักษณ์บางอย่างซึ่งคล้ายคลึงกับเวลาที่เราไปร่วมศาสนพิธีนั่นแหละ

ดังนั้น ความรู้สึกของการไปม็อบ คือเราได้สลายตัวตนของเราแต่ละคนไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเวลาสั้นๆ ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งใหญ่ในความรู้สึกมากๆ

หลายคนสั่นไหวในใจ ซาบซึ้งกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า กับโอกาสที่รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกับคนอื่น

ยิ่งม็อบสมัยใหม่นี่ชัดเจนครับ การไม่มีแกนนำตอกย้ำว่าไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ทว่าทุกคนที่ไม่สำคัญกลับสำคัญอย่างยิ่ง เพราะม็อบอาจโดนสลายได้ง่ายหากมีคนน้อยและไม่มีแกนนำ บางคนจึงรู้สึกเพียงแค่การไปอยู่ตรงนั้นจะช่วยให้ “เพื่อนๆ” ที่เราไม่รู้จักปลอดภัย จึงต้องไปม็อบแทบทุกครั้ง

ผมคิดว่าความรู้สึกอันนี้เป็นสิ่งงดงามมากครับ

 

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตในม็อบ จะมีคนที่วิ่งออกไปปกป้องคนอื่นๆ เสมอ ภาพของน้องนักเรียนผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ถือแค่ร่ม วิ่งออกไปด้านหน้าแนวปะทะกับตำรวจที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเป็นภาพที่สะเทือนใจผมอย่างยิ่ง

ไม่ว่าคุณจะมีความคิดความเชื่ออย่างไร หากภาพนี้ไม่สามารถสั่นสะเทือนหัวใจของคุณได้ ศาสนาและความดีอันใดก็ตามที่คุณยึดถืออยู่ก็ไร้ความหมาย เป็นเพียงสิ่งลวงทางจิตวิญญาณ คุณอาจบรรลุอะไรสักอย่างตามความเชื่อ แต่คุณได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปแล้ว

คิดดูสิครับว่าเรามักปกป้องตนเองและคนใกล้ชิดอยู่เป็นปกติ แต่ในเวลาวิกฤตเช่นนี้ กลับมีคนที่สามารถสละตนเองปกป้องคนอื่นที่เขาไม่รู้จักเลยด้วยความห่วงใยอาทรอย่างจริงใจ

ความห่วงใยที่มีต่อคนที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตา ก็คือสิ่งเดียวกับเวลาที่เราพูดถึงความกรุณาต่อ “สรรพสัตว์ทั้งหลาย” หรือ “เพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น” นั่นเอง

หากผู้ถือพุทธธรรมหรือโพธิสัตวธรรมไม่มา “เกลือกกลั้ว” กับความสุขทุกข์ของสรรพสัตว์ ในสังสารวัฏอันมีมลทินมัวหมองนี้ คำว่าสรรพสัตว์ที่สวดท่องอยู่ก็เป็นเพียงการละเล่นทางจินตนาการเท่านั้น

แม้จะมีคนบอกว่า เอาเข้าจริงในเวลานั้นก็ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ก็แค่วิ่งไปโดยอัตโนมัติ อันนี้ผมคิดว่าอัตโนมัติในสถานการณ์อันตรายเร่งด่วนของคนเป็นไปได้อยู่สองทาง อย่างแรกคือหนี ซึ่งเป็นไปตามสัญชาตญาณ

แต่การไม่หนีแล้วเอาตัวเข้าช่วยคนอื่นนั้น แสดงให้เห็นว่าคนเรามีความดีงามพื้นฐาน (basic goodness) ที่สามารถเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกบางอย่างได้

 

ม็อบนี้แม้จะมีอารมณ์โกรธเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับดัน แต่การพยายามที่จะใช้สันติวิธีเป็นการควบคุมตนเองอย่างยิ่งยวด เป็นการฝึกเรื่องนี้ในสถานการณ์จริงยิ่งกว่าในห้องภาวนา

ที่สำคัญผมว่าม็อบนี้กำลังต่อสู้ด้วยความรัก ความรักในสังคมไทย ความรักในเพื่อนมนุษย์ ความรักในคนรุ่นถัดไป และต่อสู้กับการผูกขาดความรักไว้แก่กลุ่มตน โดยใช้ความรักนั้นทำลายล้างคนเห็นต่างดังที่เคยเป็นมา

ผมอาจตามืดบอดด้วยความชื่นชมต่อคนรุ่นใหม่ กระนั้นผมก็ไม่ได้มองไม่เห็นข้อบกพร่องนะครับ แต่สำหรับผมแล้วข้อบกพร่องเหล่านั้นเทียบไม่ได้กับสิ่งที่คนหนุ่ม-สาวรู้สึกและกำลังทำอยู่เลย

สุดท้ายสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำ ถ้าเกิดเป็นผลขึ้นจริงก็จะยังประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะต่อคนที่คิดอย่างเดียวกันหรือกลุ่มก้อนของเขาเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อสลิ่ม คนเฉยเมย รวมไปถึงคนที่ด่าและอาฆาตมาดร้ายต่อพวกเขาด้วย เพราะมันคือประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม

องค์ทะไลลามะเคยกล่าวว่า “ศาสนาที่เรียบง่ายของฉัน ไม่ต้องมีวิหาร ไม่ต้องมีปรัชญาซับซ้อน สมองและหัวใจของฉันคือวิหาร และความกรุณาคือปรัชญาคำสอน”

ขอบคุณครูทุกคนของผม