จิตต์สุภา ฉิน : Facial Verification ตรวจสอบตัวตนด้วยใบหน้า

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ที่ผ่านมา คอลัมน์ Cool Tech ของเราได้เคยพูดถึงเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้า หรือ Facial recognition มาแล้วในหลากหลายแง่มุม ทั้งการนำไปใช้ในด้านต่างๆ และผลเสียหรือความเสี่ยงที่อาจจะตามมา

วันนี้เราจะมาพูดถึงอีกเรื่องที่มีความใกล้เคียงกันมาก แต่แตกต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง

ซึ่งก็คือ Facial verification ซึ่งสิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังจะเป็นรายแรกของโลกที่จะผนวกเทคโนโลยีนี้เข้ากับบริการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนค่ะ

Facial verification คือการใช้ใบหน้าเพื่อตรวจสอบตัวตน มีความเหมือนกับ recognition ตรงที่ทั้งคู่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อสแกนใบหน้าคน แล้วนำภาพใบหน้าที่ได้ไปจับคู่เข้ากับฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วเพื่อหาให้ได้ว่าเจ้าของใบหน้าเป็นคนเดียวกันกับที่อยู่ในฐานข้อมูลหรือไม่ ตรงส่วนนี้ทั้งสองอย่างยังเหมือนกันอยู่

แต่ความแตกต่างเริ่มเกิดขึ้นตรงที่ verification จะต้องอาศัยความยินยอมของเจ้าของใบหน้าเสมอ โดยที่เจ้าของใบหน้าก็จะได้รับผลประโยชน์อะไรบางอย่างตอบแทนด้วย

อย่างเช่น การปลดล็อกโทรศัพท์ หรือการเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งก็แปลว่าเรายอมสแกนใบหน้าเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต

ในขณะที่ Facial recognition นั้นเป็นเทคโนโลยีที่จะสแกนใบหน้าเราโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ กล้องอาจจะถูกติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างเช่น สนามบิน สถานีรถไฟ หน่วยงานราชการ หากเราเป็นคนที่ทางการกำลังต้องการตัว ระบบก็จะแจ้งเตือนไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

แน่นอนว่าอันนี้จะไม่ได้รับความยินยอมจากเราอยู่แล้ว

 

ประเทศอื่นๆ ก็มีการใช้ Facial verification ในการตรวจสอบตัวตนด้วยเหมือนกัน อย่างในไทยเองธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไฟเขียวอนุญาตให้ธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถตรวจสอบตัวตนของลูกค้าได้ผ่านทางการสแกนใบหน้า

แต่ดูเหมือนกับว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกที่จะนำการตรวจสอบตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าไปผูกเข้ากับเลขรหัสประจำตัวประชาชน หรือ National ID ด้วย (BBC บอกว่าส่วนหนึ่งที่ประเทศอื่นๆ ไม่ค่อยได้พิจารณาทำแบบนี้สักเท่าไหร่ก็เพราะว่าประชาชนในประเทศไม่ได้มีเลขรหัสประจำตัวประชาชน อย่างในสหรัฐก็ยืนยันตัวตนกันด้วยใบขับขี่กันเป็นส่วนใหญ่)

ระบบ SingPass Face Veriication ของสิงคโปร์จะใช้การตรวจสอบตัวตนผ่านการสแกนใบหน้าในการให้ประชาชนเข้าใช้บริการออนไลน์ได้มากกว่า 400 แบบ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ทำเรื่องจ่ายภาษี เปิดบัญชีธนาคาร และเปิดให้ธุรกิจเอกชนสามารถใช้ได้ด้วย

โดยจุดประสงค์หลักก็คือจะเป็นการยืนยันให้แน่ใจว่าคนที่กำลังทำธุรกรรมต่างๆ บนออนไลน์อยู่นั้นมีตัวตนจริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพถ่าย หรือไม่ได้เป็นการใช้เทคโนโลยีดีพเฟกมาปลอมแปลงวิดีโอเพื่อหลอกระบบ

ทุกวันนี้สิงคโปร์ก็มีเทคโนโลยีแบบนี้ที่นำมาใช้ตามจุดต่างๆ แล้ว อย่างตามหน่วยงานราชการ ธนาคาร หรือสนามบิน และในอนาคตก็อาจจะนำมาใช้งานด้านอื่นๆ อย่างการสแกนใบหน้าและตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนมานั่งทำข้อสอบในห้องสอบด้วยตัวเองจริงๆ

และไม่ได้จ้างใครที่ไหนมาทำแทน

 

การตรวจสอบตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าของรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มต้นจากการต้องถ่ายภาพใบหน้าของแต่ละคนในสภาพแสงที่แตกต่างกันออกไป จากนั้นก็เอามาจับคู่กับภาพที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของราชการ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หรือบัตรผ่านพนักงานต่างๆ เพื่อให้สามารถระบุตัวตนได้

ขึ้นชื่อว่าเป็นการสแกนใบหน้า ก็ต้องตามมาด้วยความกังวลในเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะบอกว่าผู้ใช้งานทุกคนจะต้องแสดงความยินยอมก่อน และจะไม่แบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้กับบุคคลที่สาม แต่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงก็ยังไม่อยากให้วางใจเพราะบอกว่าการให้ความยินยอมนั้นไม่เวิร์กหรอกถ้าหากมีความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างเจ้าของข้อมูลกับผู้เก็บควบคุมข้อมูล

ทางการสิงคโปร์บอกว่าวิธีนี้จะยิ่งปลอดภัยกว่าการปล่อยให้บริษัทต่างๆ แยกกันเก็บข้อมูลทางชีวภาพของผู้ใช้งานกันอย่างกระจัดกระจาย โดยที่บริษัทจะมองเห็นแค่ผลลัพธ์คะแนนของการสแกนใบหน้าว่าใกล้เคียงกับภาพที่ทางการมีอยู่ในไฟล์แค่ไหนเท่านั้น

 

สิ่งที่ประชาชนกลัวกันก็คือการตรวจสอบตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การสแกนใบหน้าเพื่อตามจับคนที่มีความขัดแย้งกับทางการ อย่างนักวิจารณ์ หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลทั้งหมดจะไม่ถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่ผู้ใช้ไม่ได้ให้ความยินยอมตั้งแต่แรก อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น

ในระหว่างนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ ฝ่ายรัฐบาลและผู้พัฒนาเทคโนโลยีก็ยืนยันว่าปลอดภัยแน่นอน ในขณะที่ภาคประชาชนก็ตั้งคำถามว่าจะแน่ใจได้แค่ไหน ซึ่งก็เป็นการถกเถียงที่เฮลธ์ตี้ดี

สำหรับประเทศที่ประชาชนไม่ได้มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐบาล และมีระบบที่รู้กันว่าไม่สามารถทำให้รัดกุมและปลอดภัยได้ หรือมีอำนาจมิชอบที่พร้อมยื่นมือเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา การจะนำเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ก็คงไม่ง่ายเลย

หรือในสถานการณ์ไม่สงบที่ประชาชนเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างการประท้วงในฮ่องกงหรือม็อบที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ อย่าว่าแต่เปิดหน้าโล่งโจ้งให้สแกนไปเทียบกับฐานข้อมูลทางการเลย ต่อให้ไม่มีโควิด-19 หน้ากากที่สวมใส่อยู่บนใบหน้านั้นก็ต้องกระชับให้รัดแน่นที่สุดเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุตัวตนของประชาชนได้

ต่อให้เอาความรวดเร็วสะดวกสบายของบริการออนไลน์แบบไหนมาแลกก็คงไม่คุ้ม