วงค์ ตาวัน | มาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร

วงค์ ตาวัน

การเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษาที่มีประชาชนเข้าร่วมสนับสนุนอย่างมากมายกว้างขวาง กลายเป็นสถานการณ์สำคัญในบ้านเมืองเวลานี้ ทำให้เกิดคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่สังคมเก่าและล้าหลังถูกเขย่าอย่างรุนแรง โดยเด็กๆ รุ่นใหม่ แค่เด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย ที่พากันลุกขึ้นมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

คงไม่ต่างไปจากหลายๆ เหตุการณ์ในบ้านเมือง เริ่มจากมีแรงกด กดทับมากๆ วันหนึ่งก็ทนกันไม่ไหว เกิดแรงต้านขึ้นมา และต้านอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อการเมืองเกิดความอยุติธรรม เป็นการเมืองที่เหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียวผูกขาดอำนาจ เป็นประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยความยอกย้อน

“จึงทำให้คนรุ่นใหม่ทนไม่ไหว นำเอาพลังของคนในวัยหนุ่มสาวที่ร้อนแรงออกมาปลุกสังคมให้เห็นความจำเป็นว่าจะต้องผลักดันการสร้างประชาธิปไตยที่เสรี เปิดกว้างอย่างแท้จริง ก่อนที่สังคมไทยจะถดถอยจนตกขอบโลกไปอย่างกู่ไม่กลับ”

น่าสนใจทบทวนว่า อะไรบ้างที่ทำให้มาถึงจุดที่เด็กนักเรียน-นักศึกษาต้องลุกขึ้นมาในวันนี้

“เริ่มติดกระดุมผิดเม็ดแรกเมื่อไหร่!??”

กล่าวกันว่า จุดเริ่มต้นที่ฉุดรั้งบ้านเมืองให้ถอยหลังก็คือม็อบเมื่อปี 2549 ต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตย เรียกร้องทหารออกมาจัดการนักการเมือง อ้างว่าฉ้อโกงเป็นทุนสามานย์ แต่ไม่ยอมให้ประชาชนช่วยกันจัดการด้วยมือประชาชนกันเองผ่านการเลือกตั้ง กลับไปพึ่งพิงอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

นำมาสู่รัฐประหาร 2549 ยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง

จากนั้นก็พบว่าไม่สามารถจัดการกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เกลียดชังได้อย่างแท้จริง เลือกตั้งทีไร อีกฝ่ายก็ชนะอยู่เรื่อย เพราะได้รับความนิยมจากประชาชน

“ทำให้ต้องเกิดม็อบนกหวีดเมื่อปี 2557 เรียกหาทหารตามสูตรเดิม เพราะเป็นกระบวนการต่อเนื่องกันมาจากปี 2549”

ขนาดรัฐบาลยอมถอยด้วยการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อเลือกตั้งใหม่

ฝ่ายม็อบก็ไม่ยอมให้คืนอำนาจให้ประชาชนเสียอีก เรียกหาการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็คือทำให้สถานการณ์เข้าสู่ทางตัน จนเป็นเงื่อนไขเหมาะสมกับการรัฐประหาร

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ก็ยังไม่ยอม ทำเสียจนกลายเป็นคืนอำนาจไปให้ทหารแทน

นี่ก็คืออีกจุดที่ฉุดประชาธิปไตยให้ดำดิ่งสุดกู่ จนต้องเกิดการทวงคืนประชาธิปไตยและสร้างประชาธิปไตยที่ดีจริงในวันนี้ โดยเด็กนักเรียน-นักศึกษา

การกลัดกระดุมผิดเม็ดแรก เริ่มต้นจากเหตุการณ์ในปี 2549 จากความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างคนสองคน แล้วไปจับมือร่วมกับพลังฝ่ายอนุรักษนิยมให้ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ส่งผลร้ายแรงก็คือ ทำให้อำนาจของฝ่ายล้าหลังรุกคืบเข้ามายึดครองการเมืองไทย ทำให้การเมืองถูกฉุดถอยหลัง

แต่สุดท้ายการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ไม่อาจหยุดยั้งฝ่ายทักษิณได้

การเลือกตั้งครั้งต่อมาก็จัดการฝ่ายทักษิณไม่สำเร็จ จนต้องเกิดการพลิกขั้วการเมือง เจรจาตั้งรัฐบาลในค่ายทหารในปี 2551

จึงเป็นเหตุให้ขบวนการคนเสื้อแดงไม่ยินยอม ก่อการประท้วงรัฐบาลที่เห็นว่ามีที่มาโดยไม่มีความชอบธรรม เพราะแท้จริงไม่ได้มาด้วยการชนะในการเลือกตั้ง

“การประท้วงของ นปช.ต้องการให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใหม่ ลงเอยจึงเกิดการปราบปรามเสื้อแดงในปี 2553 กลายเป็นเหตุการณ์ 99 ศพ”

แต่หลังจากนั้น การเลือกตั้งหนต่อมาก็ยังพ่ายแพ้ต่อฝ่ายทักษิณอีก ได้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก

ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงต้องเดินเกมแบบเดิมเหมือนเมื่อปี 2549 เกิดม็อบนกหวีด โดยผู้นำม็อบคนใหม่ มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร

เพราะแทนที่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน กลับไม่ยอมเลือกหนทางเลือกตั้ง อันเป็นแนวทางที่จะรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

ทำให้สถานการณ์เข้าสู่ทางตัน นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือการล้มประชาธิปไตยอีกครั้ง และเป็นภาค 2 ต่อเนื่องจากรัฐประหาร 2549

“ทำให้รัฐบาลทหารยึดครองอำนาจอยู่นานถึง 5 ปี!!”

เป็นช่วงระยะที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยรู้สึกหมดหวังอย่างมาก ในช่วงระยะ 5 ปีของรัฐบาล คสช. ได้เกิดแนวคิดในหมู่ชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง

นั่นคือ มุ่งเรียนเมืองนอก และไปทำงานสร้างอนาคตในประเทศที่มีอนาคตดีกว่า

หลังจากเป็นรัฐบาลยาวนาน เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แต่ปาเข้าไปถึง 5 ปี จนไม่อาจฝืนต่อไปได้ จึงยอมให้มีการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2562 เป็นจังหวะเวลาสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ เด็กในวัยเรียน คนหนุ่ม-สาววัยทำงาน เริ่มเห็นความหวังกับการเมืองไทยอีกครั้ง เพราะมีพรรคการเมืองที่ตรงใจคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมือง ด้วยแนวทางสร้างการเมืองในมิติใหม่

แต่กระนั้นก็ตาม การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกประท้วงต่อต้านอย่างมาก ว่าเป็นกติกาเลือกตั้งที่มีการซ่อนปมเงื่อนต่างๆ มากมาย

ที่สำคัญ การทำประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ได้สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับนักประชาธิปไตยอย่างมาก

เพราะในช่วงรณรงค์รับหรือไม่รับ มีการใช้อำนาจ คสช.จับกุมคนที่รณรงค์ให้ข้อมูลไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ถูกดำเนินคดีกราวรูด เหมือนเป็นการทำประชามติแบบมัดมือชก ห้ามคัดค้าน

“สุดท้ายจึงเป็นประชามติที่ไม่สามารถนำมาอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะกระบวนการไม่มีความชอบธรรม จับกุมปิดปากคนที่ให้ข้อมูลอีกด้าน”

แม้แต่ประเด็นสำคัญในบทเฉพาะกาล ก็เขียนคำถามในประชามติแบบวกวนกำกวม โดยเขียนว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

“ไม่ยอมเขียนให้ชัดเลยว่า เห็นชอบหรือไม่ ในช่วง 5 ปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรี มี 250 ส.ว.ร่วมโหวตด้วย”

กระนั้นก็ตาม การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2562 สามารถจูงใจคนรุ่นใหม่หลายล้านแห่กันเข้าคูหา ทำให้พรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ได้รับเลือกตั้งอย่างมากมายเกินความคาดคิด

แต่แล้วความมัวซัวของประชาธิปไตยก็ปรากฏทันทีหลังการเลือกตั้ง ด้วยสูตรการคำนวณ ส.ส.สุดพิสดาร ทำให้จำนวน ส.ส.พลิกผัน

ไม่เท่านั้น พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะ 250 ส.ว.ล็อกเอาไว้แล้วว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ

หนักกว่านั้นอีก การปิดฉากของพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ การถูกเขี่ยพ้นสภาของนักการเมืองความหวังคนรุ่นใหม่แบบขัดสายตาคนดู อธิบายได้ไม่ชัดเจน

“จนมีหลายฝ่ายวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่วันนั้นแล้วว่า กำลังทำให้เด็กนักเรียน-นักศึกษาคนรุ่นใหม่เลือกหนทางต่อสู้ใหม่”

ไม่ต้องไปอ้างว่าใครชักใย มีใครเป็นท่อน้ำเลี้ยง

พลังเด็กนักเรียน-นักศึกษาในวันนี้ เคลื่อนด้วยตัวเอง เพราะมีความเป็นมาของการถูกกดทับชัดเจนดังข้างต้นนั่นเอง!