อุรุดา โควินท์ / ทางรอดอยู่ในครัว : ก๋วยเตี๋ยวในสวน

น้องสาวของฉันมีโครงการใหม่เสมอ ล่าสุด เธอสั่งให้คนรื้อบ้านหลังหนึ่งไปปลูกในสวน เป็นบ้านโครงเหล็ก ผนังเบา สามารถรื้อถอนวัสดุไปสร้างบ้านหลังใหม่ อาจใช้ได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ใช้ได้เป็นส่วนมาก

เธอเป็นคนที่…คิดแล้วต้องทำเดี๋ยวนี้ รอไม่ได้แม้แต่วันเดียว เธอพร้อมตะลุยไปข้างหน้าเสมอ อย่างที่คนเหนือใช้คำว่า เอาตางหน้าเป๋นไป บ่อยครั้งที่ฉันพยายามดึงความสนใจ ให้เธอลืมสิ่งที่เธออยากทำสักครู่ หรือสักวัน เพื่อพิจารณาให้รอบคอบ

เว้นเสียแต่ครั้งนี้ ฉันสนับสนุนเต็มที่ อยากให้เธอทำโดยเร็ว

ตั้งแต่แรก ฉันคิดว่าบริเวณใกล้รั้วไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง และพอเธอสร้างเสร็จ ก็ไม่มีใครไปอยู่เลย ชั้นบนเป็นกระจกโดยรอบ รับแดดเต็มๆ ชั้นล่างทึบ อับ และได้ยินเสียงฝีเท้า (กรณีมีคนพักห้องข้างบน)

ที่สำคัญ บ้านสองชั้นที่อยู่ไม่สบายนั้น บังแสง ทำให้บ้านอีกหลังพลอยน่าอยู่น้อยลง แค่รื้อหลังคากับผนังชั้นสองออก ฉันก็รู้สึกว่าที่ดินทั้งผืนปลอดโปร่งขึ้น

เหลือโครงเหล็กที่รอการตัด ดูคล้ายซากปรักหักพัง ช่างของน้องสาว หรืออันที่จริงคือคนสวนของเธอ ทิ้งมันไว้อย่างนั้นนานนับเดือน

วันนี้ช่างจะหาคนมาช่วยตัดเหล็ก และขนเหล็กไปไว้ในสวน ที่ตรงนั้นจะได้โล่งเสียที

เขาบอกฉัน วันนี้อาจมีเสียงรบกวนมากหน่อย เพราะระดมเพื่อนมาช่วยหลายคน

ฉันรีบบอกเขาว่า ไม่เป็นไร ทำตามสบาย

 

“มากันกี่คน เดี๋ยวพี่หามื้อกลางวันให้”

“เก้าคนครับพี่”

เก้าคน! ชายหนุ่มเก้าคนที่ทำงานหนัก ฉันจะทำอะไรให้พวกเขากินดีล่ะนี่

“กินลาบมั้ย” ฉันถาม

“พี่ไม่ต้องทำก็ได้ครับ เดี๋ยวพวกผมออกไปกินก๋วยเตี๋ยว”

จ้องตาเขา โอเค เข้าใจ อยากกินก๋วยเตี๋ยวใช่มั้ย ทำไมจะไม่ได้ล่ะ ก๋วยเตี๋ยวฉันก็ทำได้ ไม่เหมือนใครด้วย

“งั้นกินก๋วยเตี๋ยวที่นี่ละ เสร็จแล้วพี่จะยกไปตั้งให้ในสวนนะ กินกันตามสบาย กินได้ทั้งวันเลย พี่จะทำไว้เยอะๆ”

ตาของเขาวาวขึ้นทันที

“เป็นก๋วยเตี๋ยวแบบที่แม่ทำให้เพื่อนพี่กิน เวลาเพื่อนมากันเยอะๆ สะดวกดี”

“งั้นคุณนายก็เคยกินสิครับ” เขาหมายถึงน้องสาวของฉัน

ฉันพยักหน้า คุณนายของเธอกินทีละสามชามเลย

 

ฉันรีบเข้าครัว ตั้งหม้อขนาดใหญ่ ใส่กระดูกเท่าที่มีลงหม้อทั้งหมด มีทั้งโครงไก่ กระดูกข้อหมู และกระดูกสันหลังหมู ตั้งน้ำมากๆ เปิดไฟให้แรง พอน้ำเดือดก็ช้อนฟองทิ้ง และเบาไฟลง

หย่อนหอมหัวใหญ่ลงไปสองลูก หัวผักกาดหั่นเป็นท่อนใหญ่ๆ สองหัว

ระหว่างที่รอซุป ฉันซิ่งไปตลาด ซื้อสันคอบด เต้าหู้แข็ง เส้นบะหมี่ เส้นหมี่ขาว และเส้นใหญ่ เราไม่ใช้ต้นหอม แต่จะใช้ถั่วฝักยาวลวก และมีช่อผักชีแต่งหน้าสักหน่อย

พอฉันกลับมา ซุปก็เริ่มใส แต่ฉันจะทิ้งมันไว้ ให้ไฟทำงานต่อไปเรื่อยๆ

ก๋วยเตี๋ยวบ้านเราอร่อยโดยไม่ต้องง้อลูกชิ้น เคล็ดลับสำคัญคือเราใส่ใจกับเครื่องปรุง เราคั่วพริกใหม่ๆ โดยเลือกพริกจินดาเพื่อความหอม ใส่เครื่องปั่นให้ละเอียด

ฉันทำพริกน้ำส้มด้วย โดยใช้พริกสีเขียวกับสีแดงปนกัน

ที่เด็ดสุด คือถั่วคั่วใหม่ๆ บดหยาบ ฉันใช้วิธีเดียวกับยาย คือเอาขวดบดถั่ว กลิ้งไปกลิ้งมา ออกแรงนิดหน่อย ถั่วกรอบๆ ก็พร้อมแตกหักเป็นชิ้นเล็ก

 

เครื่องปรุงเสร็จแล้ว ฉันจะเตรียมศูนย์กลางของก๋วยเตี๋ยว นั่นคือหมูสับและเต้าหู้

น้องสาวของฉันชอบก๋วยเตี๋ยวแบบนี้มาก เธอเรียกมันว่าก๋วยเตี๋ยวเต้าหู้ ตลกดี เราใช้หมูสับมากกว่าเต้าหู้เสียอีก อาจเป็นเพราะมีแต่บ้านของเราที่ทำก๋วยเตี๋ยวใส่เต้าหู้

หั่นเต้าหู้เป็นเต๋าเล็กๆ ทอดให้กรอบ แล้วพักไว้ ตำรากผักชี กระเทียม พริกไทย ยิ่งเยอะยิ่งอร่อย ผัดสามเกลอให้หอม แล้วเอาหมูสับลงกระทะ พอหมูสุก ค่อยเทเต้าหู้ทอดตามลงไป ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำมันหอย และซีอิ๊วขาว

ได้เต้าหู้หมูสับที่หอมรากผักชี กระเทียม พริกไทย และมีรสชาติเข้มข้น

ถ้าแม่ทำ แม่จะปรุงน้ำตาลให้รสออกหวานนิดๆ แต่ฉันไม่ใส่ เพราะคิดว่าถ้าใครชอบหวาน ก็สามารถปรุงเพิ่มได้

ตักหมูสับกับเต้าหู้ใส่ชามใบโต วางบนโต๊ะร่วมกับเครื่องปรุง

เส้นทุกชนิด ฉันลวกให้สุก แล้วเอาน้ำมันเจียวกระเทียมคลุกให้ทั่วถึง แค่นี้เส้นก็ไม่ติดกัน ใส่ถาดใบใหญ่ไว้ ดูตระการตาดีจริงๆ

ถั่วฝักยาวลวกให้สุก แล้วซอยให้ละเอียดที่สุด มีจานใบเล็กใส่ช่อผักชี ตอนนี้โต๊ะใต้ต้นลิ้นจี่เต็มไปด้วยเครื่องเคราของก๋วยเตี๋ยว

ซุปนั้น ฉันแอบใส่เกลือสีชมพูลงไปนิดหน่อย ก่อนจะย้ายหม้อมาตั้งเตาแก๊สปิคนิคในสวน

เวลากิน ก็เลือกเส้นลงถ้วย ใส่เต้าหู้ หมูสับลงไปเยอะๆ ใส่ถั่วฝักยาวซอย ตักซุปร้อนๆ ราด ก่อนปรุงตามใจชอบ

 

ความดีงามของก๋วยเตี๋ยวแบบนี้คือแม่ครัวไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องคอยลวกเส้นทีละชาม และไม่ต้องกินลูกชิ้นซึ่งเราไม่รู้ว่าใส่อะไรบ้าง

หากกินหลายชาม เราเปลี่ยนเส้น ปรุงรสเปลี่ยนไปบ้าง

หลายครั้งที่แม่ทำไว้แต่เช้าให้เรากินกันถึงเย็น เราก็ยังอร่อยทุกมื้อ ไม่มีเบื่อ

แม่เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวสามัคคี เพราะต้องกินด้วยกันหลายๆ คน

แต่วันนี้ฉันขอเรียกมันว่าก๋วยเตี๋ยวในสวน

หวังว่าช่างของเราจะเพลิดเพลินตามสมควร