กรองกระแส / พัฒนา เติบใหญ่ ของเยาวชนปลดแอก ภายในการต่อสู้

กรองกระแส

 

พัฒนา เติบใหญ่

ของเยาวชนปลดแอก

ภายในการต่อสู้

 

จะตัดสินชี้ขาดอนาคตของการเคลื่อนไหวในทางการเมืองของกลุ่มและองค์กรใดองค์กรหนึ่งในทางการเมืองจะยึดถือเอาปัจจัยใดมาเป็นเครื่องมือ

โดยพื้นฐานที่สุดย่อมตัดสินจากการเข้าร่วมของประชาชน

ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมของประชาชนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายองค์ประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหว ไม่ว่าข้อเสนอในทางการเมือง

การเกิดขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม จึงหนีไม่พ้นจากปัจจัยเหล่านี้

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวแต่ละจังหวะก้าวจึงกลายเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในการตรวจสอบ พิสูจน์และนำไปสู่บทสรุป

นั่นก็คือ จะเข้าร่วม หรือจะไม่เข้าร่วม

การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม จึงเป็นการปรากฏขึ้นที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

โดยเฉพาะเมื่อพัฒนามาเป็น “คณะราษฎร 2563”

 

เติบใหญ่ พัฒนา

ในความเห็นต่าง

แรกที่ “เยาวชนปลดแอก” ปรากฏขึ้น สังคมยังมองไม่เห็นจุดต่างไปจากการเคลื่อนไหวในอดีตมากนัก ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองจากรัฐภายใต้ความเคยชินเดิม

จึงพยายามมองหา “ผู้อยู่เบื้องหลัง” เหมือนกับที่เคยมองต่อการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จึงพยายามสำรวจตรวจสอบในเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง”

ความโน้มเอียงจึงเอนไปทาง “พรรคอนาคตใหม่”

เป้าจึงเปลี่ยนไปจากพรรคเพื่อไทย ท่อน้ำเลี้ยงจึงเปลี่ยนไปจากนายทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล กลายเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แต่แล้วในท่ามกลางการเคลื่อนไหวความเป็นจริงก็ค่อยประจักษ์

ประจักษ์ว่าความไม่พอใจของ “เยาวชนปลดแอก” ส่วนหนึ่งมาจากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่สิ่งที่เขาเคลื่อนไหวก็ไปไกลเกินกว่าพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลเป็นอย่างมาก

กลายเป็นคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกลต่างหากที่ก้าวไม่ทัน “เยาวชน”

 

เคลื่อนไหว ก้าวหน้า

ท่ามกลาง พัฒนาการ

ทั้งๆ ที่บุคคลอันถือว่าเป็น “แกนนำ” และกลายเป็น “เป้าหมาย” ในการจับกุม ไม่ว่าจะใน “เยาวชนปลดแอก” ไม่ว่าจะใน “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”

ล้วนเป็น “คนหน้าใหม่” ในทางการเมือง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขานับแต่เดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน กระทั่งเดือนตุลาคม สะท้อนพัฒนาการทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ

ทะยานจาก “เรือนพัน” เข้าไปแตะหลัก “เรือนแสน”

ไม่เพียงแต่จะจำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหวในส่วนกลาง หรือในมหาวิทยาลัย ตรงกันข้าม กระจายออกไปในต่างจังหวัด กระจายออกไปตามพื้นที่ของแต่ละชุมชนอย่างกว้างขวาง

กลายเป็นการเคลื่อนไหวในขอบเขตทั่วประเทศ

แม้จะมีการจับกุมผู้ที่คาดคิดว่าเป็น “แกนนำ” คนแล้วคนเล่า แต่การเคลื่อนไหวก็ไม่ยุติ ตรงกันข้าม กลับแพร่กระจายและขยายวงออกไปเป็นอย่างมาก

ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ระดมคนได้เป็นหมื่น

 

เติบใหญ่ ก้าวกระโดด

ภายใต้ธง “ความคิด”

บทเรียนจากการเคลื่อนไหว ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ได้เป็นเครื่องพิสูจน์อันแหลมคมในทางความคิด

เมื่อมีข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูป “สถาบัน”

บรรดาเกจิทางการเมืองฟันธงด้วยความเชื่อมั่นว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปการเคลื่อนไหวมีแต่จะฝ่อและเรียวลงเพราะเป็นข้อเสนอในลักษณะ “เกินธง” ทะลุเพดาน

จะต้องถูกปฏิเสธจากคนที่ยืนอยู่ตรงกลางๆ อย่างแน่นอน

แต่แล้วเมื่อมีการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม ณ บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับมีคนเข้าร่วมอย่างคึกคักเป็น “เรือนหลายหมื่น”

จากนั้นเป็นต้นมากรอบและขอบข่ายการชุมนุมก็เติบใหญ่

ไม่ว่าจะผ่าน “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ที่มีการยึดท้องสนามหลวง ไม่ว่าจะผ่านการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่มีการยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล

กระทั่งนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง

 

บทเรียน ประสบการณ์

สถานการณ์ 16 ตุลาคม

การตัดสินใจสลายการชุมนุมในตอนรุ่งสางของวันที่ 15 ตุลาคม บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม ณ แยกปทุมวัน ย่านสยามสแควร์

ด้านหนึ่ง ทำให้การชุมนุมคืนนั้นต้องยุติลง มีการจับกุมเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตามมาอย่างรุนแรง ไม่เพียงแต่สำหรับผู้ร่วมอยู่ในการชุมนุม หากแต่ในหมู่ผู้สังเกตการณ์ที่ยังไม่ตัดสินใจเป็นจำนวนมาก

การชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคม จึงมีความเด่นชัด

การชุมนุมในวันที่ 18 วันที่ 19 หรือแม้กระทั่งในวันที่ 20 ตุลาคม ยิ่งมีความเด่นชัดว่าประชาชนพร้อมที่จะเข้าร่วมและประกาศเสียง “ออกไป ออกไป” ทุกการชุมนุมไม่ว่าในส่วนกลางหรือต่างจังหวัด

     เป้าหมายคือความไม่พอใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา