วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ ศาสตร์แห่งโหร-หมอทรัพย์ สวนพลู

สำราญ ทรัพย์นิรันดร์

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ศาสตร์แห่งโหร-หมอทรัพย์ สวนพลู

 

การยึดอำนาจของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากเหตุชุมนุม “6 ตุลา 19” มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งหมด หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติรายวันเป็นหนึ่งในจำนวนหนังสือพิมพ์ขณะนั้น

ขณะที่พิฆเณศการพิมพ์ หรือในหมู่นักทำหนังสือรุ่นใหม่รู้จักและเรียกขาน “โรงพิมพ์พิฆเณศ” — “พิฆเณศ” มีขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้จัดการ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ดำเนินการ ต้องหยุดกิจการชั่วคราว

แล้วขรรค์ชัยได้มาเริ่มดำเนินการใหม่ด้วยการรับจ้างพิมพ์หนังสือเหมือนเดิม มีเพื่อนร่วมงานชุดเดิมหลายคน และเพื่อนร่วมงานใหม่เข้ามาอีกบางคน เริ่มดำเนินการเพื่อจัดออกนิตยสารรายเดือน “พาที” ต่อเนื่อง

ดังที่เคยบอกกว่าไปแล้ว ก่อนหน้านั้น มีการจัดพิมพ์หนังสือเล่ม “พ็อกเก็ตบุ๊ก” เป็นครั้งคราว

กระทั่งเมื่อเริ่มต้นหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 9 มกราคม 2521 อีก 3 ปี มีเครื่องพิมพ์ “มือสอง” มาติดตั้ง ณ ที่ทำการใหม่ หน้าวัดราชบพิธฯ ถนนเฟื่องนคร และออกนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ขรรค์ชัยได้เชิญนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่เคารพนับถืออีกหลายคนมาเป็นที่ปรึกษาและนักเขียนในมติชนรายวันกับมติชนสุดสัปดาห์ สำนักพิมพ์มติชน จัดออกหนังสือเล่ม “พ็อกเก็ตบุ๊ก” เป็นกิจจะลักษณะ

 

เมื่อมีนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ มีบทความ บทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ความเคลื่อนไหวในวงการ “ทหาร-ตำรวจ” ความเคลื่อนไหวทางการเมือง สารคดี เรื่องสั้น ประเดิมจากขรรค์ชัย บุนปาน และเรื่องยาวจากเสนีย์ เสาวพงศ์

ส่วนที่นิตยสารรายสัปดาห์ขาดไม่ได้คือ คอลัมน์พยากรณ์ชีวิต หรือ “หมอดู” ประเดิมด้วย เดินตามดาว จาก “หมอเฟื่อง โหราเพชร” อันเป็นนามของหมอดู หรือ “โหร” ชื่อใหม่ แต่ฝีไม้ลายมือการพยากรณ์ไม่ใช่คนใหม่ ทำงานหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือ บทความ สารคดี เกี่ยวกับศาสนา และเรื่องพระเรื่องเจ้าในพุทธศาสนา นาม “สหจร” และ “คามหุโณ”

นามหลังมาจากชื่อที่เรียกขานในหมู่เพื่อนพี่น้องว่า “คุณมหา” – “อามหา” – “พี่มหา” จาก “คุณมหา” คำผวนคือ “คามหุณ” น่าจะแผลงเป็นบาลีว่า “คามหุโณ” นั่นแล

“อามหา” ชื่อตามสำมะโนประชากร หรือในทะเบียนบ้านคือ มานิต สังวาลย์เพชร

เนื่องจากเป็นผู้เขียนเรื่องพระ เรื่องศาสนาแล้ว พงษ์ศักดิ์กับขรรค์ชัยยังขอให้เขียนคำพยากรณ์ชีวิตเป็นประจำทุกสัปดาห์ ใช้นาม “หมอเฟื่อง โหราเพชร” ในมติชนสุดสัปดาห์ เริ่มฉบับแรกชื่อ “เดินตามดาว” ด้วย

 

นอกจากนั้น ยังมีผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์อีกสองสามคน มีลักษณะตำรา คือ “ศ. ดุสิต” นักเขียนเรื่องบู๊ในนิตยสารรายสัปดาห์ ชื่อ “เศก ดุสิต” เป็นที่รู้จักของนักอ่านชายที่นิยมอ่านเรื่องบู๊ กับอีกคนหนึ่ง ผู้เขียนในลักษณะการทำนายทายทักอิงตำรา คือ บุศรินทร์ ปัทมาคม

เมื่อมี “โหร” มาพยากรณ์ชีวิต อ่านชีวิตจากดวงดาว ถึงสิ้นปี ทั้งขรรค์ชัย บุนปาน และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เห็นว่า ปีใหม่ควรมีหนังสือพยากรณ์ชีวิตเป็นรายปีออกมาให้ผู้อ่านมติชนได้หาซื้อไปเป็นคัมภีร์ชีวิตของตัวเอง หรือเป็นของขวัญให้ญาติพี่น้อง

ครั้งแรกที่จัดพิมพ์คำพยากรณ์ชีวิต จัดเป็นพยากรณ์ผู้ที่เกิดปีนั้น ปีนี้ เช่น ชวด-หนู ฉลู-วัว ถึงปีนักษัตรสุดท้ายครบ 12 นักษัตร คือ กุน-หมู แยกเป็นแต่ละปีแต่ละเล่ม มีหมอดู หรือผู้พยากรณ์ชีวิตหลายแขนงในเล่มเดียวกัน เป็นการพยากรณ์ทั้งปีของผู้ที่เกิดปีนั้น

ปีแรกที่จัดพิมพ์จำหน่ายไม่ค่อยได้ผลดี เนื่องจากมีผู้อ่านหาซื้อเฉพาะของตัวเอง หนังสือจัดพิมพ์จำนวนเล่มเท่ากัน แต่ผู้อ่านหาซื้อเฉพาะของตัวเองไม่เท่ากัน จึงมีจำนวนจำหน่ายไม่เท่ากัน

 

ปีต่อมาสำนักพิมพ์เปลี่ยนกลยุทธ์เป็นจัดพิมพ์คำพยากรณ์ของผู้เกิดทุกปีทั้งปีในเล่มเดียวกัน ใครอ่านของตัวเอง แล้วไปอ่านของเพื่อน หรือผู้ที่เกิดปีอื่น ได้ผลกว่า

ทั้งมี “โหร” เพิ่มจำนวนขึ้น มีหลากหลายแขนงของวิชาโหราศาสตร์ ยังมีตำราตั้งชื่อลูกเอาไว้ด้วย

ใช้ชื่อหนังสือว่า “ศาสตร์แห่งโหร”

ในแต่ละปีของหนังสือ “ศาสตร์แห่งโหร” มีนักโหราศาสตร์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาแทนบางคน

แต่มีโหรที่มีชื่อเสียง ชื่อว่าเป็นนักพยากรณ์แม่นยำทั้งเรื่องดวงดาว ดวงชาตา จากวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก ในรอบปีนั้น ทั้งมีการพยากรณ์เป็นรายวัน รายเดือน ในหนังสือ “ศาสตร์แห่งโหร” เล่มเดียว “อ่านได้ทั้งปี ดูได้ทุกคน”

เป็นหนังสือที่เหมาะกับห้องรับแขก และคู่มือชีวิตในรอบปี การรู้โชคชาตาในวันข้างหน้า น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าไม่รู้อะไร โดยเฉพาะเรื่องของเคราะห์ ที่ทำให้ต้องระวังตัวในช่วงของคำทำนาย ส่วนเรื่องของ “โชค” ของ “ชีวิตคู่” — “มันแล้วแต่วาสนา”

 

นอกจากที่ปรึกษาซึ่งเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนกับหนังสือพยากรณ์ชีวิต “ศาสตร์แห่งโหร” ขณะนั้น มีหนังสือพิมพ์ข่าวสดกำเนิดขึ้นใหม่ ผู้เขียนเก่าแก่อีกคนหนึ่งที่ขรรค์ชัย บุนปาน เชิญมาเป็นนักเขียนประจำและที่ปรึกษาของข่าวสดในเครือมติชน คือ สำเนียง ขันธชวนะ ผู้ใช้นามปากกา “ตาหมอหลอ” และ “ดำเนินสะดวก” นักหนังสือพิมพ์นักเขียนจากค่ายราชดำเนิน เขียนเรื่องเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ วิพากษ์วิจารณ์การเมือง

นามปากกา “ดำเนินสะดาก” ผู้ที่เคยทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วันไหน “คุณสำเนียง” คิดเขียนหนังสือไม่ออกจึงใช้นามปากกานี้ ด้วยเหตุที่ “ดำเนิน (ไม่) สะดวก” นั่นเอง

เมื่อมติชนย้ายสำนักงานจากหน้าวัดราชบพิธฯ มาอยูที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 และสร้างตึก 9 ชั้นเป็นที่ทำการถาวร กับสร้างสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสดอีกแห่งหนึ่งในบริเวณใกล้กัน เป็นขณะที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในนามบริษัทชัยฤทธิ์ ถึงแก่อสัญกรรม

“สำราญ ทรัพย์นิรันดร์” เจ้าของนามปากกา “หลวงเมือง” และเขียนคำพยากรณ์ “เดินตามดาว” ในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งขณะนั้นขรรค์ชัยปฏิบัติหน้าที่นักข่าว เป็นขณะที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เชิญ “สำราญ ทรัพย์นิรันดร์” เขียนคำพยากรณ์ “เดินตามดาว” ในนามปากกาที่ขรรค์ชัยตั้งให้คือ “ทรัพย์ สวนพลู”

เมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรมจึงลาออก ขรรค์ชัยให้เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ผู้เป็นหลานไปเชิญมาเป็นที่ปรึกษา และเขียนหนังสือในนาม “หลวงเมือง” กับเดินตามดาวในมติชนสุดสัปดาห์ และดวงใครดวงมัน ในข่าวสด

เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านอย่างมาก