มนัส สัตยารักษ์ | ตุลามหาปีติ หรือตุลามหาวิปโยค?

ได้ผ่านเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” และ “6 ตุลา 19” มาทั้งสองงาน ปี 2516 เป็นร้อยตำรวจเอก ตำแหน่งสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม เป็นแค่ฝ่ายข่าวเล็กๆ จำได้แค่ว่าตัวเองคล้อยตามการปราศรัยของนิสิต-นักศึกษาไปโดยรู้ตัวและเต็มใจ ต่อมาปี 2519 เป็นสารวัตรแผนก 3 กองกำกับการเดียวกัน คราวนี้เหนื่อยหน่อยเพราะเป็นหน่วยที่มีกำลังพลที่มีคุณภาพสูงและรถวิทยุสายตรวจ

ตอนนั้นมีอายุ 36 และ 39 ปีตามลำดับ ความจำดี

มาปีนี้อายุ 84 ปี ความจำยังดีอยู่ก็เพียงบางส่วนที่ประทับใจเท่านั้น…จำได้ว่าหลังจากจบเหตุการณ์ไปใหม่ๆ เมื่อมีบทความหรือรายงานกล่าวถึงทั้งสองเหตุการณ์ มักจะมีสร้อยต่อท้ายว่า “มหาปีติ” หรือไม่ก็ “มหาวิปโยค” แทบจะทุกครั้งไป

แต่ในขณะที่เขียนนี้จำไม่ได้ว่า เหตุการณ์ไหนต่อสร้อยด้วยวลีใด คลับคล้ายคลับคลาว่าต่อได้ทั้ง 2 วลี แล้วแต่ประสบการณ์และความรู้สึกของผู้บันทึกในขณะนั้น

เปรียบเทียบความเป็นไปทางการเมืองก่อนเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” กับวันเวลายามนี้ (ก่อนตุลาคม 2563) ต่างกันค่อนข้างมากในหลายประเด็น

ก่อนปี 2516 จุดยืนหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองไม่สับสนเท่าไรนัก เพราะสังคมไทยยังไม่แตกสลายเท่าปัจจุบัน พอประเมินได้เป็นแค่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเผด็จการถนอม ประภาส ณรงค์ กับฝ่ายนิสิต นักศึกษาและประชาชน ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สุกงอมมากขึ้น ชื่อยาวๆ ของฝ่ายเผด็จการถนอม ประภาส ณรงค์ ถูกสรุปสั้นลงเหลือเพียง “เผด็จการทรราช”

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในยุค 16 แม้จะอยู่กันคนละทิศละทางท่ามกลางการสื่อสารที่ล้าสมัย กลับมีความเป็นเอกภาพอย่างเหลือเชื่อ สารพัดข้อกล่าวหาจากทางฝ่ายเผด็จการไม่สามารถล้มล้างอุดมการณ์ของเหล่านักศึกษาและประชาชนได้เลย

ตรงกันข้ามกับยุคปัจจุบัน ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย พรรคและนักการเมืองฝ่ายค้านต่างพยายามแย่งการนำ ซึ่งก็เท่ากับแย่งอำนาจและผลประโยชน์ในอนาคตถ้าภารกิจปลดแอกสำเร็จ ก็คงจะทำนองเดียวกับ “คณะราษฎร” ในปี 2475 นั่นเอง

เป้าหมายก็เช่นกัน…ปี 16 เป้าหมายหลักมีเพียงขับไล่เผด็จการทรราชและเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น

แต่ในยุคนี้ นอกจากขับไล่รัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ประชาธิปไตย” ยังประดิษฐ์วาทกรรมเติมสร้อย “ปลดแอก” ให้ขบวนการของตัวเองดูขลังและเข้มข้นขึ้นอีกด้วย

เทียบกับเป้าหมายที่เริ่มด้วยการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกดดันให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออกคล้ายกับในยุค 16 แต่พอผ่านมาถึงเดือนกันยายน 2563 เป้าหมายที่คลุมเครืออยู่ก็เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง!

เมื่อเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชัดเจน วาจาจาบจ้วงจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” ก็หยาบคายรุนแรงขึ้น หลังจากนั้นจึงมีสัญญาณ “ไม่เอาด้วย” ตามมาทันที เพราะนักการเมืองตระหนักว่าประชาชนแยกออก ระหว่างรัฐบาลกับสถาบัน

หมู่บ้านเสื้อแดง 20 แห่ง ประกาศถอนตัวจากการสนับสนุนม็อบปลดแอก แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ประชาชนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้ทุกข์ยากเดือดร้อนเพราะสถาบัน แต่ทุกข์ยากเดือดร้อนเพราะรัฐบาลต่างหาก

ขอเล่าเรื่องเก่าสักนิด…

ก่อน “ตุลา 16” ในงานเลี้ยงรุ่นระดับชั้นมัธยม ผมสังเกตเห็นว่าเพื่อนนายทหารบกหลายคนไม่แฮปปี้กับรัฐบาลทหารเท่าไรนัก ทั้งๆ ที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก็เป็นสวนกุหลาบฯ รุ่นพี่ที่ได้ชื่อว่า “ใจถึงพึ่งได้”

ช่วงเวลานั้นทหารเพิ่งมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายกันใหม่ๆ เมื่อทักถามเรื่องนี้ในวงสนทนา เพื่อนนายทหารจะตอบกลับมาอย่างหงุดหงิดว่า “กูไม่ได้ดิบได้ดีอะไรกะเขาด้วยหรอก”

เป็นที่รู้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ข้าราชการไทยล้วนใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นหลักในการบริหารงานบุคคล ระบบอุปถัมภ์นี้อาจารย์รุ่นเก่าเรียกว่า “ระบบเน่าหนอนชอนไช” แม้เผด็จการจะมีอำนาจมากมายและแจกไม่อั้น แต่ก็ไม่สามารถสนองได้อย่างทั่วถึง

เผด็จการทหารจึงมีผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริงอยู่เพียงหยิบมือเดียว

ส่วนตัวผมในฐานะเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจ จึงถูกขนานนามว่า “ทายาทอสูร” ไม่มีโอกาสจะมอบความจงรักภักดีให้กับเผด็จการทหารและนักการเมืองมาตั้งแต่ปฏิวัติในปี 2500 ซึ่งองค์กรตำรวจสมัยโน้น เป็นระดับกรมขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยอันมีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า

ปี 2502 เรียนจบ ร.ร.นรต. ก่อนรับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพิธีประดับยศที่กระทรวงมหาดไทยโดยรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นประธาน ผมภาวนาในใจว่าขอให้ถ่ายรูปไม่ติดเถิด แล้วก็เป็นไปตามที่ภาวนา

ปี 2540 เป็นวาระเกษียณอายุ มีพิธีอะไรสักอย่างเหมือนกัน รัฐมนตรีมหาดไทย นายเสนาะ เทียนทอง เป็นประธาน ผู้บังคับการ ถือกระดาษบันทึกแจ้งรายละเอียดของพิธีมาให้ผมลงนามรับทราบด้วยตัวเอง

“พี่ไม่ไปหรอก” ผู้บังคับการเดาถูก “เดี๋ยวผมรายงานไปเลย”

เล่านอกเรื่องมาเสียยาว เพื่อจะบอกว่าข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่รู้จักแยกแยะ ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลเผด็จการ

ช่วงเวลาก่อนปี 2516 ประเทศไทยถูกครอบงำด้วย “ผีคอมมิวนิสต์” และทฤษฎีโดมิโน จากการปลุกปั่นของประเทศมหาอำนาจตะวันตก รัฐบาลเผด็จการในยุคนั้นอาศัย พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม คนที่มีความคิดแบบก้าวหน้าหรือแบบสังคมนิยม ถูกเหมารวมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกจับกุม คุมขัง ไปจนถึงถูกฆาตกรรม

จนกระทั่งถึงยุคที่ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการสถาปนาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีน และเมื่อถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 66/2523 หยุดความขัดแย้งและยุติสถานการณ์สู้รบ คอมมิวนิสต์ไทยวางอาวุธและกลับบ้านในนาม “ผู้พัฒนาประเทศ”

เป็นที่กังวลกันว่า เมื่อฝ่ายรัฐไม่มี “เครื่องมือ” กล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐจะหันมาใช้ ม.112 กฎหมายอาญา (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เป็น “เครื่องมือ” แทน

ประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่เคยครอบงำไทยมาก่อน แสดงความกังวลมากจนถึงขั้นก้าวก่ายและแทรกแซง หรือที่เราชาวบ้านเรียกว่า “เสือก” นั่นแหละ

มาถึงตุลาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ผู้ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองผิด การแสดงออกจึงเหมือนหนึ่งเป็นผู้เสียสละ หลายครั้งที่เรียกร้องและลำเลิกบุญคุณ ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไร้คุณภาพ คณะรัฐบาลไม่มีศักยภาพในการบริหารประเทศ ด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจที่เขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนเริ่มจากความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจจะบานปลายขยับเพดานเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากนักการเมืองผู้ร่ำรวยกลุ่มหนึ่งที่ประกาศชัดว่า

“จำเป็นต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป ไม่อย่างนั้นที่พวกเราพยายามกันมานานจะตกค้างถึงคนรุ่นหลัง”

ตุลา 63 จะเป็นตุลามหาปีติหรือตุลามหาวิปโยค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต้องรับผิดชอบ