“สีสัน อะวอร์ดส์ 28” ยุคที่เพลงเกลื่อนตลาด(ออนไลน์) แต่ศิลปินออกอัลบั้มน้อยลง (มีคลิปพิเศษ)

ถ้าวงการภาพยนตร์ไทยมีรางวัลใหญ่อย่าง “สุพรรณหงส์” วงการเพลงก็คงหนีไม่พ้น “สีสัน อะวอร์ดส์” หนึ่งในรางวัลใหญ่ที่บรรดาศิลปินและคนทำงานเพลงเฝ้ารอในแต่ละปี เพราะเหมือนเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จจากการทำงาน

“ธนชัย อุชชิน” หรือป๊อด นักร้องนำของคณะหมาทันสมัยอย่าง “โมเดิร์นด็อก” มองว่า สีสัน อะวอร์ดส์ เป็นรางวัลคลาสสิค เก่าแก่ และมั่นคง เปรียบเสมือนสถาบัน และเป็นสื่อสำหรับรองรับเหล่าศิลปิน เพราะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทำเพลง ว่าผลงานที่ผลิตออกมามีคุณค่ามากขึ้น

ปีนี้ “สีสัน อะวอร์ดส์” เดินหน้าเข้าสู่ครั้งที่ 28 นับตั้งแต่จัดครั้งแรกเมื่อปี 2531 จนกลายเป็นรางวัลสาธารณะในครั้งที่ 4 เมื่อปี 2534 และเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

จากเริ่มต้นมีรางวัลเพียง 5 สาขา จนขยายสูงสุดถึง 14 สาขา แต่การจัดครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาหลายข้อตามสถานการณ์ของวงการเพลงไทย จึงทำให้ปีนี้มีรางวัลเพียง 10 สาขาเท่านั้น

โดยรางวัลศิลปินชายเดี่ยว-หญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม ถูกรวบเป็น “รางวัลศิลปินเดี่ยวยอดเยี่ยม” และศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม-ศิลปินร็อกเดี่ยวยอดเยี่ยม ถูกรวบเป็น “ศิลปินร็อกยอดเยี่ยม” เพียงรางวัลเดียว

“ทิวา สาระจูฑะ” หรือ น้าทิวา บ.ก.นิตยสารสีสัน ผู้จัดงานมอบรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” เผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วงการดนตรีไทยมีการออกผลงานที่เป็นอัลบั้มน้อยลง ทำให้การพิจารณาผลงานเข้าชิงถึงรอบสุดท้ายในบางสาขาไม่เพียงพอต่อการเปิดสาขานั้นๆ

จึงต้องรวบรางวัลบางสาขาเข้าด้วยกัน ซึ่งรางวัลใหญ่ๆ ของต่างประเทศ อาทิ “แกรมมี่ อะวอร์ดส์” และ “บริต อะวอร์ดส์” ก็ทำในลักษณะเดียวกัน

สำหรับผลการประกาศรางวัลสาขาต่างๆ ในสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 28 ปรากฏว่า วงดนตรีเด่นๆ อย่าง “โมเดิร์นด็อก”, “แบรนด์นิว ซันเซ็ต” และ “แมทนิแมร์” สามารถคว้ารางวัลกันไปวงละ 2 สาขา

ส่วน “ว่าน – ธนกฤต พานิชวิทย์”, “อพาร์ตเมนต์คุณป้า”, “พาราด็อกซ์” และ “ภาสกร โมระศิลปิน” คว้าไปรายละ 1 สาขา

ในปีนี้ “โมเดิร์นด็อก” ถือเป็นวงที่โดดเด่นที่สุดในงาน เพราะมีรายชื่อเข้าชิงสูงสุดถึง 6 สาขา และสามารถคว้ารางวัลใหญ่ไปได้ 2 สาขา คือ รางวัลศิลปินคู่หรือกลุ่มยอดเยี่ยม และอัลบั้มยอดเยี่ยม จากผลงานชุด “ป๊อด/โป้ง/เมธี”

ทำให้ตอนนี้ “โมเดิร์นด็อก” ได้รับรางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมบนเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ มาแล้วสี่ครั้ง และถือเป็นครั้งแรกของวงที่สามารถคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมมาครอง

“ป๊อด/โป้ง/เมธี” ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ทางวงเลือกใช้งานสตูดิโอทาร์บอกซ์ โรด เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สตูดิโอบ้านไม้กลางป่า

หลังเคยประสบความสำเร็จในการใช้งานสตูดิโอแห่งเดียวกันผลิตอัลบั้ม “ทิงนองนอย” เมื่อปี 2551

“ป๊อด โมเดิร์นด็อก” เผยความรู้สึกหลังได้รับรางวัลว่า ดีใจกับทุกๆ รางวัลที่ได้ ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ภาคภูมิใจของวง เพราะกว่าจะทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“รู้สึกดีใจที่ผลงานได้รับการยอมรับ จริงๆ ตั้งใจทำอัลบั้มล่าสุดให้มีความเป็นไลฟ์ เพื่อที่จะเอาไปใช้ในการแสดงสด เพื่อให้งานมันอยู่ได้จริงในชีวิตประจำวัน เหมือนกับเรามีโจทย์ในใจแล้วก็มุ่งไปที่โจทย์นั้น

“อย่างทุกวันนี้เราไม่ได้เล่นแต่เพลงบุษบา เพลงก่อน เพลงติ๋มที่ทุกคนรู้จักเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เราเล่นเพลงทบทวน เล่นเพลงสกาล่า เล่นเพลงของวันนี้ นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ

“เราเน้นคุณภาพเป็นหลัก หากเป็นค่ายคงตัดสินใจยากที่จะเอาเงิน 2 ล้านบาทให้วงดนตรีไปทำเพลง แต่พวกเราไม่สน เราอยากจะทำในสิ่งที่เราต้องการ เราอยากทำงานที่ดีที่สุด และใช่ที่สุด แล้วก็ทุ่มเต็มที่” ป๊อดกล่าว

ด้านวงเมทัลฝีมือดีอย่าง “แบรนด์นิว ซันเซ็ต” ปีนี้ ก็เหมารางวัลไป 2 สาขาเหมือนเช่นเคย คือรางวัลเพลงร็อกยอดเยี่ยม จากเพลง “Fire (in Our Hearts)” และศิลปินร็อกยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม “Of Space and Time” หลังจากทิ้งช่วงการออกผลงานไปตั้งแต่ปี 2553

ซึ่งปีนั้นทางวงก็คว้าสีสัน อะวอร์ดส์ ไปได้ 2 สาขาจากรางวัลอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยมและศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม นี่จึงถือเป็นการกลับมาอย่างสวยงามของวงดนตรีวงนี้

ขณะที่ “แมทนิแมร์” วงร็อกน้องใหม่ กลายเป็น “ม้ามืด” ของเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ปีนี้ โดยนอกจากจะมีรายชื่อเข้าชิงถึง 4 สาขาแล้ว

พวกเขายังสามารถคว้ารางวัลไปได้ 2 สาขา คือ ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม The Regime และรางวัลเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากเพลง “รอยต่อ”

การตัดสินรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” ในแต่ละปี จะใช้ระบบการให้คะแนนจากกลุ่มนักวิจารณ์-คอลัมนิสต์ด้านดนตรี

บ.ก.นิตยสารสีสัน อธิบายถึงเกณฑ์การตัดสินคร่าวๆ ว่า จะไม่วัดกันที่ยอดขาย ไม่ตัดสินกันที่ต้นสังกัดของศิลปินว่าจะเล็กหรือใหญ่ และไม่เอาความเจนจัดในการแสดงสดบนเวทีคอนเสิร์ตมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสิน

นอกจากนั้น คณะกรรมการจะพิจารณารางวัลจากคุณภาพของผลงานที่ออกมาในรูปแบบ “จับต้องได้ (physical) หรือแผ่นเสียง/ซีดีที่เป็นอัลบั้มเท่านั้น

โดยปีนี้ คณะกรรมการได้ปรับนิยามของความเป็น “อัลบั้ม” จากแผ่นซีดีที่มีผลงานเพลงอย่างน้อย 6 เพลง ก็ลดลงมาเหลือ 5 เพลง

และถ้าเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่ทำอัลบั้มอีพี ก็ต้องมีอย่างน้อย 4 เพลงต่อ 1 ชุด

แม้ในช่วงหลังๆ การออกผลงานเป็นอัลบั้มของศิลปินไทยจะลดน้อยลง สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจดนตรียุคปัจจุบัน ซึ่งค่ายเพลงใหญ่ไม่มีนโยบายให้ศิลปินออกอัลบั้มเต็มและผลิตผลงานเป็นแผ่นซีดีกันแล้ว เว้นแต่กรณี “ศิลปินเบอร์ใหญ่” ชื่อดังจริงๆ

แต่หากดูผลงานเพลงที่ปรากฏบนช่องทางโซเชียลต่างๆ ซึ่งออกใหม่กันทุกวัน ก็จะเห็นว่ามีจำนวนมากกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ

และมีหลายเพลงที่ได้รับความนิยม คำถามคือในอนาคตจะมีการนำผลงานเพลงเหล่านั้นมาพิจารณามอบรางวัลด้วยหรือไม่ ในยุคที่ศิลปินทำอัลบั้มน้อยลง

น้าทิวาระบุว่า การที่มีอัลบั้มน้อยลงไม่ได้สร้างปัญหาต่อการพิจารณามากนัก เนื่องจากสถานการณ์เป็นเหมือนกันทั่วโลก แต่ปัญหาจริงๆ ก็คือ คุณภาพของอัลบั้มที่ออกมาในปัจจุบันกลับน้อยลงตามไปด้วย ทำให้จำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ไม่เพียงพอต่อการเปิดรางวัลสาขานั้นๆ

ส่วนการจะนำซิงเกิลที่ถูกปล่อยในโลกออนไลน์โดยศิลปินอินดี้ต่างๆ มาพิจารณาด้วยนั้น น้าทิวายอมรับว่าไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เพราะมีจำนวนเยอะเกินกว่าที่คณะกรรมการจะสามารถเปิดฟังได้หมด อีกทั้งยังมีหลายเพลงที่คุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ และรางวัลใหญ่ทั่วโลกก็ไม่นำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน

“เป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำเพลงเหล่านั้นมาพิจารณา เราฟังไม่ทันหรอก ทุกวันนี้ มีศิลปินอินดี้เข้ามาชิงเยอะ แต่ยังไงก็ต้องออกเป็นรูปแบบซีดี

“วันนึงถ้าเกิดเพลงที่ถูกนำขึ้นยูทูบประสบความสำเร็จ ฟังกันเป็นล้านๆ วิว 20-30 ล้านวิว แต่ไม่ได้อยู่ในซีดี มันก็จะกลายเป็นเพลงที่ไม่มีคุณค่า มันไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์” น้าทิวากล่าว

เช่นเดียวกันกับ “เมธี น้อยจินดา” มือกีตาร์วง “โมเดิร์นด็อก” ซึ่งให้ความเห็นว่า ศิลปินยุคนี้มีหลายคนที่น่าสนใจ เก่ง และฝีมือดี แต่น่าเสียดายที่มีน้อยคนจะทำเพลงออกมาเป็นอัลบั้มเต็ม

“รู้สึกเสียดายที่วงดนตรีรุ่นใหม่ที่เก่ง ฝีมือดี ไม่ค่อยทำอัลบั้มเต็มกันแล้ว เนื่องจากเวลาตัวเองฟังชอบฟังแบบเต็มมากกว่า และคิดว่าถ้านักดนตรีรุ่นใหม่ทำอัลบั้มเต็มออกมาเยอะ น่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ และเจ๋งบนเวทีประกาศผลรางวัลต่างๆ มากกว่านี้” เมธีกล่าว

แม้ว่าในแง่ธุรกิจ วงการเพลงเหมือนจะซบเซา แต่หากพิจารณาจากภาพรวมในวงการดนตรี จะเห็นว่าเต็มไปด้วยค่ายเพลงที่หลากหลายและศิลปินมากหน้าหลายตา เช่น ศิลปินที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาต่างๆ ของสีสัน อะวอร์ดส์ ก็ไม่ได้เป็นศิลปินในสังกัดใหญ่เท่านั้น

นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า “สีสัน อะวอร์ดส์” ยังคงมีชีวิต และอาจมีโอกาสหวนกลับมาเข้มข้นเหมือนยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อีกครั้ง?