ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
เมื่อกลางเดือนเมษายน พุทธศักราช 2562 ผมกับเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่งมีอาการกำเริบชักชวนกันไปลงเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ แวะเวียนเที่ยวเกาะและเมืองต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลาราวสิบวัน
เวลากลางคืนเรือใช้จักรเดินไปในทะเล ครั้นถึงเวลากลางวันก็ไปจอดอยู่ใกล้กับเกาะหรือเมืองอะไรสักแห่งหนึ่ง แล้วอนุญาตให้เราขึ้นไปเที่ยวบนแผ่นดินได้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาลงเรือให้ทันเวลาก่อนที่เรือจะออกเดินทางต่อไป
เวลาขึ้นไปเที่ยวเกาะอะไรต่อมิอะไรในทะเลย่านนั้น เช่น เกาะมิโคนอส เกาะโร้ด และอื่นๆ พวกเราซึ่งเป็นคนแปลกถิ่นก็ตื่นเต้นกับวิถีชีวิตและทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกาะเหล่านั้น
ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวเกาะต่างๆ ยังเป็นความหลังฝังใจและชวนให้ระลึกนึกย้อนหลังด้วยความสุขอยู่เสมอ
ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาการอยากเที่ยวเกาะกำเริบขึ้นมาอีกแล้วสิครับ แต่หนนี้ไม่ต้องถ่อสังขารไปไกลถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เอาเพียงแค่เกาะเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุดเห็นจะพอเพียงแล้ว
หลายท่านคงนึกว่าผมจะพาไปเที่ยวเกาะเกร็ด ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมเสียละกระมัง
ทายผิดครับ! วันนี้เราจะไปเที่ยวเกาะสีชังกัน
คนไทยเราแต่เก่าก่อนไม่รู้จักเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างคนไทยทุกวันนี้หรอกครับ
ผมเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเป็นวัฒนธรรมตะวันตกมากกว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา
แต่ก่อนร่อนชะไร การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองของคนไทยไม่ใช่เรื่องที่ทำได้สะดวกง่ายดาย เรือแพช้างม้าพาหนะก็หายาก จะไปค้างอ้างแรมที่ไหนก็ขัดข้องไปหมด เพราะไม่มีถนนและโรงแรมอย่างทุกวันนี้
การเดินทางไกลไปจากบ้านต้องมีสาเหตุสำคัญเพียงพอ ตั้งแต่ไปทำการค้า ไปราชการหรืองานที่มีความสำคัญตามที่ได้รับมอบหมาย หรือไปรบทัพจับศึก
การเดินทางอีกอย่างหนึ่งในอดีตที่พอสงเคราะห์ว่าใกล้กับการเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด เห็นจะได้แก่การไป “ไหว้พระ”
ดังได้ยินเรื่องเล่ามาช้านานว่าการไปไหว้พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีนั้นเป็นโปรแกรมยอดฮิตมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นแล้ว
นอกจาก “พระบาท” ก็ยังมี “พระแท่น” วนเวียนอยู่แค่นี้แหละ
การเดินทางไกลที่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะได้รับความนิยมขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่สี่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักเดินทางมาตั้งแต่ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่นาน 27 ปีแล้ว เพราะได้เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เป็นอันมาก
เมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ยังโปรดที่จะเสด็จไปไหนมาไหนยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อนหน้านั้น
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือมีเรือกลไฟเกิดขึ้นแล้ว การเดินทางไปประพาสหัวเมืองชายทะเลหรือเกาะในอ่าวไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินวิสัยที่จะเป็นไปได้
ตรงนี้เองที่เกาะสีชังของเรามีเรื่องราวปรากฏขึ้นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
เพราะเกาะสีชังเป็นเกาะที่อยู่ใกล้พระนครมากที่สุดยิ่งกว่าเกาะอื่นใดในอ่าวไทย เดินทางพ้นปากแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปนิดเดียวก็ถึงเกาะสีชังแล้ว
จากหนังสือสารพัดเล่มที่ผมเคยอ่าน ทำให้ผมอนุมานได้ว่า บนเกาะแห่งนี้เห็นจะมีผู้คนอาศัยอยู่มาช้านานแล้ว แต่คงไม่ถึงขนาดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะปัญหาของเกาะสีชังที่มีมาตั้งแต่ครั้งโน้นแม้จนทุกวันนี้ก็ยังดำรงคงอยู่คือปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืดไว้ใช้บริโภคอุปโภค ถ้าคิดจะทำนาไม่สำเร็จเป็นแน่
มีบันทึกในสมัยรัชกาลที่สี่ปรากฏหลักฐานว่า ชาวเกาะสีชังมีอาชีพทำไร่ ปลูกน้อยหน่าขาย และทำประมงคละกัน
มีผู้ใหญ่เป็นสตรีที่คนเคารพนับถือทั่วไปชื่อ ยายเสม พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่ พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นท้าวคีรีรักษา
โก้สุดใจไปเลยครับ
วันคืนผ่านไปเกาะสีชังก็มีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิตติศัพท์ว่าเป็นเกาะที่มีอากาศดี ใครมาอยู่แล้วจะอายุยืนยาว ตัวอย่างเช่น ยายเสมซึ่งมีอายุเข้าเขต 90 ปีหรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นของหายากสำหรับคนไทยอื่นๆ ที่มีอายุถึงหกสิบปีนี้ต้องถือว่าเลิศล้ำเป็นอย่างยิ่งแล้ว
เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ไปจันทบุรีในพุทธศักราช 2419 และได้เดินทางผ่านเกาะสีชัง ท่านได้แต่งโคลงชมเกาะสีชังไว้บทหนึ่ง โดยใช้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษผสมปนเปกันตามสไตล์ของท่าน มีความว่า
“สีชังเป็นเกาะขึ้น เขตสมุทร ปราการเอย
ไคลเมตชลใสสุทธ สอาดแท้
น้อยหน่ารสก็คุต กว่าเทศ อื่นนา
อินวลิตมาอยู่แล้ ลิพได้เซนจุรี”
ถอดความได้ว่า เกาะสีชังเป็นเกาะในเขตเมืองสมุทรปราการ (สมัยนั้น) ภูมิอากาศและน้ำใสสะอาด น้อยหน่ามีรสชาติอร่อยดีกว่าที่อื่น หากป่วยไข้แล้วมาอยู่ที่เกาะสีชัง จะมีชีวิตอยู่ได้เป็นร้อยปี
คราวนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ ใครๆ ก็อยากไปตากอากาศที่เมืองที่เกาะสีชังกันทั้งนั้น เรือแพพาหนะพอหาได้สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ยังไม่มีรีสอร์ตหรือโรงแรมเกิดขึ้น จะไปอาศัยบ้านชาวบ้านเขาก็ไม่ยอมเสียด้วย
ไอเดียโฮมสเตย์ยังไม่มานี่ครับ
ในคราวเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2431 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารที่พักขึ้นสามสี่หลัง พร้อมข้าวของเครื่องใช้พร้อมมูล สำหรับใครก็ตามไปอาศัยเป็นเรือนพักชั่วคราวเพื่อบำรุงร่างกายหรือเพื่อการท่องเที่ยวก็ตาม เรียกว่า อาไศรยสถาน ถ้าใครอยากจะไปอยู่เรือนที่ว่านี้ก็ติดต่อจองได้ที่ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ แล้วหอบหิ้วเสบียงของสดของแห้งไปเองนะครับ บางวันบางรายการจะซื้อหาจากชาวเกาะสีชังก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด
เรือนเหล่านี้มีชื่อว่า เรือนผ่องศรี เรือนวัฒนา และเรือนอภิรมย์ ตามพระนามาภิไธยและพระนามของเจ้านายที่พระราชทานและประทานเงินให้สร้างอาคารเหล่านี้เป็นสาธารณกุศล
ถัดมาจากนั้นอีกสามสี่ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่เกาะสีชัง มีชื่อปรากฏอยู่ทุกวันนี้ว่า พระจุฑาธุชราชฐาน
แต่ดูเหมือนว่าจะได้ทรงใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับอยู่เพียงปีเศษ ก็เกิดกรณีเหตุการณ์ที่เรียกว่า ร.ศ.112 ขึ้น กองเรือฝรั่งเศสยกกำลังเข้าปิดปากอ่าวไทยเพื่อบังคับให้ไทยต้องยินยอมต่อข้อเรียกร้องหลายอย่างหลายประการ
ชาวเกาะสีชังครั้งนั้นเห็นจะตื่นเต้นกันมากที่ได้เห็นเรือรบของชาติมหาอำนาจมาจอดจังก้าอยู่กลางทะเลไม่ไกลจากบ้านเรือนของตน
นี่เองครับเป็นเหตุให้การแปรพระราชฐานไปประทับที่เกาะสีชังได้กลายเป็นเรื่องไม่ปลอดภัยขึ้นมาเสียแล้ว
วังที่เกาะสีชังจึงเป็นแต่เพียงอดีตที่รุ่งโรจน์ชั่วระยะเวลาอันสั้น
แต่ถ้าเราไปเดินดูภายในพระราชวังซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังมีหลายอย่างที่งดงามน่าชม
และควรค่าแก่การเดินย้อนไปในยุคสมัยที่รุ่งเรืองสุดขีดของเกาะสีชังเป็นอย่างยิ่ง
ผมจะไม่เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ล่ะครับ รักกันจริงก็ต้องตามไปเที่ยวเกาะสีชังและเดินดูพระราชวังที่ว่านี้สักสองสามชั่วโมง
ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งครับ
เมื่อปีพุทธศักราช 2562 ที่ผ่านมา ตอนนั้นโรคโควิดยังไม่เกิด ตลอดทั้งปีมีคนเข้าชมพระราชวังกว่า 100,000 คน โดยเฉลี่ยราวเดือนละ 10,000 คนเป็นอย่างน้อย
ค่าตั๋วก็ไม่ต้องเสีย ของฟรีดีจริงยังมีอยู่ในโลกนี้ครับ
นอกจากเรื่องราวความหลังยั้งอดีตที่ว่าแล้ว เกาะสีชังยังมีเสน่ห์อีกหลายอย่างครับ
ที่พักอาศัยก็มีหลายระดับ ตั้งแต่รีสอร์ตขนาดเล็กที่เป็นของชาวสีชังหรือนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ดำเนินการ เรื่อยไปจนถึงโรงแรมขนาดสี่ดาวห้าดาว โรงแรมที่เป็นยี่ห้อดังข้ามประเทศก็มีครับ
โรงแรมที่ผมไปนอนมาหนึ่งคืนแสนสะอาดสะอ้าน เตียงหนานุ่มนอนสบายมาก นอนแล้วไม่อยากให้รุ่งเช้าเลย
เด็กสมัยนี้เขาเรียกว่า เตียงดูดวิญญาณ ครับ
การเดินทางข้ามจากฝั่งศรีราชาไปเกาะสีชังก็มีเรือโดยสารประจำทางให้บริการ ราคาเที่ยวละ 50 บาท ถ้าลำไหนติดแอร์ก็อาจเป็นราคา 60 บาท สะดวกสบายมาก
เมื่อข้ามไปถึงเกาะแล้ว ที่ท่าเรือก็มีรถสามล้อที่เรียกว่าสกายแล็บคอยท่า รอให้เราเรียกใช้สอยอยู่
จะคิดราคาเป็นวันหรือเป็นเที่ยวก็ต่อรองกันดูนะครับ
ที่อยู่มีแล้ว รถก็มีใช้ คราวนี้ก็ถึงเรื่องร้านอาหารสินะ เรื่องนี้เกาะสีชังไม่แพ้ใคร อาหารทะเลที่ร้านป้าอะไรสักป้าหนึ่งที่ใช้เวลาเดินไม่เกิน 3 นาทีจากโรงแรมที่ผมพัก มีกุ้งหอยปูปลาพร้อมมูล
วันที่ผมและคณะไปนั่งกินข้าวเย็น เราสั่งปูม้ามาหนึ่งกิโลครึ่ง หอยแมลงภู่หนึ่งกิโล และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยฟันกระต่ายผัดฉ่า หอยชื่อแปลกนี้เป็นซิกเนเจอร์ของเกาะสีชังครับ
ครึ่งชั่วโมงผ่านไปเรามีอันต้องเรียกหอยแมลงภู่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกิโล บวกด้วยหอยแครงอีกหนึ่งกิโล
ทุกอย่างสดถึงใจพระเดชพระคุณดีครับ น้ำจิ้มซีฟู้ดก็เด็ดดวงเป็นอย่างยิ่ง
ตามถนนหนทางที่เราเดินหรือนั่งรถผ่านไป สีชังก็มีเสน่ห์แบบของสีชัง เกาะแห่งนี้มีฐานะเป็นอำเภอเชียวนะครับ ผู้สันทัดกรณีบอกว่าทั้งอำเภอมีตำบลเดียวคือตำบลท่าเทววงศ์ ทำให้เราสงสัยอยู่ครามครันว่า นายอำเภอกับกำนันใครจะใหญ่กว่ากันแน่ อิอิ
มีร้านอาหารหลายร้านที่ยังต้องอาฆาตไว้เพราะหมดปัญญาที่จะกินได้ภายในหนึ่งวันหนึ่งคืนที่ผมไปอยู่บนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวต้มปลา ร้านกาแฟสวยๆ หลายร้าน มีไปจนกระทั่งร้านที่ขายช็อกโกแลตฟองดู
เกาะซานโตรินี่หรือมิโคนอส ไม่มีข้าวต้มปลาหรือหอยฟันกระต่ายผัดฉ่าขายนะ
เกาะสีชังอยู่แค่นี้เอง นัดไปเที่ยวกันไหมครับ
ตั้งบริษัททัวร์ให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลยทีเดียว